SCB จับสัญญาณ ชี้! ค่าเงินบาทปีนี้ผันผวนสูง ตั้งกรอบ 31.50-32.50 บาท/ดอลลาร์
SCB จับสัญญาณ ชี้! ค่าเงินปีนี้ผันผวนสูง จากความไม่แน่นอนภาษีทรัมป์ พร้อมตั้งกรอบเงินบาทสิ้นปีอยู่ที่ 31.50-32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ดอกเบี้ยนโยบาย มอง กนง. อาจลดอีก 2 ครั้ง แต่ไม่เกิน 1.25%
นายแพททริก ปูเลีย รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานตลาดการเงิน และ Head of Private Banking Relationship Management ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ตลาดการเงินมีความท้าทายสูงจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และสงครามการค้าที่กดดันภาคธุรกิจของไทย รวมถึงปัจจัยล่าสุด คือ ความไม่แน่นอนของมาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้า (Tariffs) จากนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่มีผลกระทบการดำเนินธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ

"SCB เห็นภาพของค่าเงินบาทที่ผันผวนสูง โดยบางช่วงเงินบาทเปลี่ยนแปลงถึง 30-40 สตางค์ในช่วงข้ามคืน ด้วยบริบททางเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว"
ด้านนายวชิรวัฒน์ บานชื่น นักกลยุทธ์ตลาดการเงินอาวุโส ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า เงินบาทในปีนี้ยังคงผันผวนสูง โดยในปีนี้เงินบาทเคยอ่อนค่าไปแตะระดับสูงสุดที่ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ก่อนที่จะกลับมาแข็งค่าแตะระดับต่ำสุดที่ราว 32.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเปลี่ยนแปลงถึง 7.4% ภายในระยะเวลาไม่ถึง 2 เดือน
โดยความผันผวนนี้มาจากปัจจัยทั้งจากต่างประเทศ และในประเทศที่มีความไม่แน่นอนสูงต่อเนื่อง โดยเงินบาทที่กลับมาแข็งค่า แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจไทยจะยังอ่อนแอและมีแนวโน้มโตชะลอลงในปีนี้ เป็นผลจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นหลัก ซึ่งเทรนด์ตลาดการเงินโลกเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้เกิดการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมาตรการกีดกันทางการค้าเป็นปัจจัยที่เริ่มทำให้นักลงทุนหันมาพิจารณาภาวะการลงทุนในสินทรัพย์สหรัฐฯ เพราะการขึ้นภาษีนำเข้าและมาตรการกีดกันต่าง ๆ ทำให้ความไม่แน่นอนสูงขึ้น ส่งผลต่อความเชื่อมั่นต่อการกำกับดูแล (Governance) และการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในระยะยาว ซึ่งจำเป็นต้องใช้เวลาและอาจส่งผลให้เศรษฐกิจอ่อนแอลงในระยะสั้น
ดังนั้น SCB จึงมองว่า นักลงทุนมีความสนใจต่อการลงทุนในสหรัฐฯ น้อยลง รวมไปถึงเลี่ยงลงทุนในสหรัฐ นอกจากนี้ มาตรการทางการคลัง ทั้งการใช้จ่ายภาครัฐที่มากขึ้น และการลดภาษี ทำให้นักลงทุนทั่วโลกกังวลว่าภาครัฐอาจขาดดุลการคลังมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้อาจสูญเสียเสถียรภาพทางการคลังได้ จึงทำให้นักลงทุนต้องกระจายความเสี่ยงออกจากสินทรัพย์สหรัฐฯ ส่งผลให้เริ่มมีเงินไหลออกจากสหรัฐฯ ไปสู่กลุ่มประเทศยุโรป และกลุ่มตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย (EM-Asia) มากขึ้น เงินดอลลาร์สหรัฐจึงอ่อนค่าลง ทำให้เงินภูมิภาครวมถึงเงินบาทแข็งค่าขึ้น โดยสัญญาณที่เป็นตัวสะท้อนทิศทางเงินทุนเคลื่อนย้ายนี้คือ การไหลเข้าของเงินทุนเคลื่อนย้ายสู่ตลาดพันธบัตรรัฐบาลไทยในเดือนที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม เงินบาทจะยังเผชิญแรงกดดันด้านแข็งค่าต่อเนื่องในปีนี้ เนื่องจาก ข้อตกลงการค้าของสหรัฐฯ อาจมีเงื่อนไขทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงได้ สงครามการค้าที่มีแนวโน้มรุนแรงน้อยลง และมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจของรัฐบาลจีน ทำให้เงินหยวนมีแนวโน้มอ่อนค่าน้อยกว่าที่เคยประเมินไว้ จึงทำให้เงินบาทที่มีความสัมพันธ์กับเงินหยวนค่อนข้างสูงเผชิญแรงกดดันด้านอ่อนค่าน้อยลงตามไปด้วย และราคาทองที่ยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง จะเป็นแรงหนุนต่อการแข็งค่าของเงินบาทต่อไปได้
นายวชิรวัฒน์ ระบุว่า การแข็งค่าของเงินบาทจะยังไม่มากและอาจแข็งค่าน้อยกว่าสกุลเงินอื่นในภูมิภาคเนื่องจากที่ผ่านมาสัดส่วนลงทุนต่างประเทศของไทยยังต่ำ ทำให้แนวโน้มการนำเงินกลับเข้าไทย (Repatriation flows) อาจจะมีน้อย ขณะที่เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค เช่น สิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลี หรือมาเลเซีย จะพบว่ามูลค่าการถือครองสินทรัพย์ต่างประเทศ (หุ้นและพันธบัตร) ของไทยยังต่ำกว่ามาก
จึงทำให้โอกาสที่จะมีแนวโน้มการนำเงินกลับเข้าไทย นั้น มากดดันให้เงินบาทแข็งค่านั้นมีน้อย นอกจากนี้ ความสนใจของนักลงทุนต่างชาติต่อสินทรัพย์ไทยก็ยังมีไม่มาก จากสัดส่วนการถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทยของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งนักลงทุนต่างชาติถือครองเพียง 9.8% เท่านั้น ถือว่าต่ำกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค รวมถึง สัดส่วนพันธบัตรรัฐบาลไทยในดัชนี JPMorgan Government Bond Index-Emerging Markets ยังถูกปรับลดลงมาอยู่ที่ 8.8% จึงทำให้แนวโน้มเงินทุนเคลื่อนย้ายที่จะไหลเข้ามาในภูมิภาคเอเชีย อาจไหลเข้าไทยไม่มากนัก SCB จึงตั้งกรอบเงินบาทที่ราว 31.50-32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในสิ้นปีนี้
สำหรับประเด็นที่ต้องจับตาในช่วงนี้ คือ คำพิพากษาของศาลการค้าสหรัฐฯ เกี่ยวกับมาตรการภาษีนำเข้าที่ทรัมป์ได้ดำเนินไป โดยศาลพิจารณาว่าการดำเนินมาตรการไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ทางรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ยื่นอุทธรณ์ไป ทำให้มาตรการยังมีผลบังคับใช้อยู่ในช่วงสั้น ๆ ซึ่งประเด็นนี้จะช่วยลดความเสี่ยงด้านการอ่อนค่าของเงินบาทได้ เพราะรัฐบาลสหรัฐฯ อาจจำเป็นต้องใช้กฎหมายมาตราอื่นเพื่อกลับมาขึ้นภาษีนำเข้า ด้วยเหตุนี้ จึงมองว่า เงินบาทอาจอ่อนค่าได้ไม่มากนักแม้ไทยจะถูกประกาศขึ้นภาษีนำเข้าเพิ่มเติม โดยให้จับตาช่วงเดดไลน์ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม ที่อาจเห็นแรงกดดันทำให้เงินบาทอ่อนค่าได้ โดยมองกรอบเงินบาทในระยะสั้น 1-2 เดือนนี้ ที่ประมาณ 32.30-33.30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
นอกจากนี้ SCB ยังได้คาดการว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. จะประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อีก 2 ครั้งในปีนี้ และจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับ 1.25%