ยุคดอกเบี้ย “ต่ำเป็นพิเศษ” กำลังจะสิ้นสุดลง
เมื่อ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ส่งสัญญาณชัดเจนว่า จะพิจารณาเวลาที่เหมาะสมในการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะต่อไป แม้ว่าจะไม่สามารถคาดเดาได้ก็ตามว่า กนง.จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายกี่ครั้ง และจะไปสิ้นสุดที่เท่าไหร่ แต่ที่แน่คือ ยุคดอกเบี้ย “ต่ำเป็นพิเศษ” กำลังจะสิ้นสุดลง
ย้อนกลับไปอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันอยู่ที่ 0.50% ต่อปี ต่ำที่สุดตั้งแต่ไทยเริ่มมีการใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายการเงิน ซึ่งก่อนหน้านั้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 1.25% ต่อปีในช่วงปี 2546-2547 และช่วงปี 2552-2553 โดยค่าเฉลี่ยของอัตราดอกเบี้ยนโยบายตลอด 20 กว่าปี ที่ผ่านมาอยู่ที่ 2% ต่อปี
อั้นไม่ไหว! กนง.เตรียมขึ้นดอกเบี้ย สกัดเงินเฟ้อ-ลดความเสี่ยง
เฟด เดินหน้าเต็มสูบ มุ่งสกัดเงินเฟ้อ แม้เสี่ยงเศรษฐกิจถดถอย
อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% ต่อปี ยังใช้ระยะเวลาที่แช่ไว้ระดับยาวนานกว่าอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำที่สุดในอดีตด้วยซึ่งกินเวลาเพียงปีเศษ แต่ระดับ 0.50% นี้อยู่มานานเกิน 2 ปี แล้ว
เพราะฉะนั้น ถ้าสมมติให้ดอกเบี้ยนโยบายรอบนี้ปรับขึ้นไปสูงสุดที่ 1.50% ต่อปี ตามที่หลายคนคาดไว้อัตราดอกเบี้ยนโยบายก็ยังถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำมาก
เพราะอะไร? อัตราดอกเบี้ยนโยบายถึงอยู่ในระดับ 0.50% มานาน
แน่นอนหนีไม่พ้นการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กระทบเศรษฐกิจไทยรุนแรงมากจนถึงตอนนี้ และยังไม่กลับไปเท่ากับระดับก่อนการระบาดโควิด-19 จึงมีความจำเป็นที่ กนง. ต้องใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเป็นพิเศษในการดูแลเศรษฐกิจ ทำให้ไม่สามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามวัฏจักรอัตราดอกเบี้ยโลก ที่หลายธนาคารกลางปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปก่อนหน้าแล้ว
แต่ล่าสุด....
กนง. ประเมินว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีโอกาสฟื้นตัวได้ดีกว่าที่เคยประเมินไว้ การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเป็นพิเศษจึงมีความจำเป็นลดลง ประกอบกับ กนง. ประเมินว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะช่วยลดความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อสูงและการสะสมความเสี่ยงในระบบการเงินที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับไปสูงกว่าระดับก่อนการระบาดของโควิด-19 ในปีหน้า
ขณะเดียวกัน ตามความเห็นของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังกล่าวด้วยว่า หากปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายช้าเกินไป จะคุมเงินเฟ้อได้ยาก แม้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลต่อประชาชนในเรื่องของต้นทุนการกู้ยืม โดยเฉพาะครัวเรือนรายได้น้อย แต่ก็ยังน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการปล่อยให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นสูง
ทำไมผลกระทบเงินเฟ้อ ถึงมากกว่าผลกระทบดอกเบี้ย
เพระว่าค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าและบริการของคนส่วนใหญ่สูงกว่าค่าใช้จ่ายอัตราดอกเบี้ยมาก อีกทั้งขนาดของอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันก็มากกว่าขนาดของอัตราดอกเบี้ยที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นหลายเท่า
ส่วนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในภาวะปัจจุบันจะช่วยป้องกันไม่ให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นได้อย่างไร
ที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบรุนแรงจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้ความต้องการสินค้าและบริการหายไป ผู้ประกอบการอยากปรับขึ้นราคาก็ทำไม่ได้เพราะไม่มีกำลังซื้อ อัตราเงินเฟ้อไทยจึงอยู่ในระดับต่ำก่อนที่จะปรับเพิ่มขึ้นเพราะปัจจัยด้านต้นทุน
ทางด้าน กนง. ประเมินว่าข้อมูลเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1 ของปีนี้ ชี้ถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่เข้มแข็งกว่าที่ กนง. ประเมินไว้ก่อนหน้า ประกอบกับข้อมูลเร็วหลังการทยอยเปิดเมืองและเปิดประเทศ ชี้ว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศและนักท่องเที่ยวต่างประเทศในระยะต่อไปมีแนวโน้มดี ซึ่งหมายความว่า ปัจจัยกดดันเงินเฟ้อจากด้านอุปสงค์จะทยอยเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ และโดยเฉพาะในปีหน้า
ขณะเดียวกัน กนง. ยังมองว่าแรงกดดันเงินเฟ้อจากด้านต้นทุนจะอยู่ในระดับสูงนานกว่าที่คาด ซึ่งอาจมีผลต่อคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะยาวของประชาชนและธุรกิจ กนง. จึงต้องการส่งสัญญาณว่า กนง. เอาจริงในการดูแลปัญหาเงินเฟ้อ เพื่อไม่ให้การคาดการณ์เงินเฟ้อในอนาคตเตลิดไปไกล ซ้ำเติมแรงกดดันเงินเฟ้อจากต้นทุนและอุปสงค์
ดังนั้นแล้ว ในมุมของนโยบายการเงิน การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท. ไม่ใช่การไปฉุดเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว แต่เป็นการดูแลแรงกดดันเงินเฟ้อจากอุปสงค์ไม่ให้เพิ่มขึ้นเร็วเกินไปจากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นที่มาของการเปรียบเทียบว่า กนง. เพียงต้องการจะผ่อนคันเร่ง ไม่ใช่การเหยียบเบรก
ยกตัวอย่าง สมมติว่า ตอนต้นปี เรามีเงิน 100 บาท ซื้อสินค้าราคา 100 บาทได้ 1 ชิ้น เราเอาเงิน 100 บาทนี้ไปฝากธนาคารที่อัตราดอกเบี้ย 0.50% ต่อปี สิ้นปีเราจะมีเงิน 100.50 บาท แต่ถ้าราคาของสินค้าที่เราเคยซื้อปรับขึ้นไป 7% ต่อปี เป็น 107 บาท ณ สิ้นปี เท่ากับว่า จริงๆแล้ว ผลตอบแทนจากเงินฝากติดลบ เพราะเมื่อครบปี เงินต้นบวกดอกเบี้ยที่เราได้ไม่พอที่จะซื้อสินค้าชิ้นเดิมแล้ว
ทำให้ ผู้ฝากเงินจะมีแรงจูงใจเอาเงินฝากออกมาจับจ่ายใช้สอย เพราะการซื้อของตอนนี้ได้ราคาที่ถูกกว่าการรอไปซื้อในอนาคต นโยบายการเงินที่ไม่ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นตามเงินเฟ้อจึงเป็นการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยปริยาย
นอกจากจะเป็นตัวกระตุ้นอุปสงค์แล้ว ยังเป็นเชื้อไฟอย่างดีของการเก็งกำไร และการแสวงหาผลตอบแทนการลงทุนที่มีการประเมินความเสี่ยงต่ำเกินไป ทั้งการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง และการลงทุนในกิจการที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก ซึ่งเป็นการสะสมความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน และเป็นสิ่งที่ กนง. ไม่อยากเห็นอย่างยิ่ง
แล้วสุดท้ายระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสมควรจะอยู่ที่เท่าไร คำตอบนี้ขึ้นกับบริบทเศรษฐกิจ ทั้งแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจ เงินเฟ้อคาดการณ์ในอนาคต และความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการเงินในขณะนั้น แต่ที่แน่ๆ อัตราดอกเบี้ยที่ 0.50% ต่อปี นั้นต่ำเกินไปที่จะอยู่ระดับนี้ต่อไปเรื่อยๆในสถานการณ์ปัจจุบัน
ที่มา : ดร.ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย