ค่าเงินบาทเช้านี้ "อ่อนค่า" จากจ้างงานสหรัฐแข็งแกร่งหนุนดอลลาร์
ค่าเงินบาทเช้านี้เปิดตลาด 34.05 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่า เมื่อเทียบกับปิดตลาดเมื่อวานที่ 33.95 บาท/ดอลลาร์ คาดการณ์กรอบวันนี้ที่ 33.90- 34.20 บาท/ดอลลาร์
ฝ่ายธุรกิจตลาดเงินและธุรกรรมระหว่างประเทศ ทีเอ็มบีธนชาต (ttb) รายงานว่าดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักในตลาดปริวรรตเงินนิวยอร์กเมื่อวานนี้โดยได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า ข้อมูลแรงงานที่แข็งแกร่งของสหรัฐจะผลักดันให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นเวลานานกว่าที่คาดไว้
ขณะที่ตลาดพันธบัตร มีกระแสเงินทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 9,743 ล้านบาท และนักลงทุนต่างชาติซื้อหุ้นสุทธิ 1,277 ล้านบาท
ราคาทองวันนี้ ปิดตลาดร่วง 200 บาท จากตลาดต่างประเทศลด-ค่าบาทแข็ง
เช็กอัตราดอกเบี้ย "ฝาก-กู้" แบงก์ไหนดีสุด ในยุคดอกเบี้ยขาขึ้น
การเคลื่อนไหวค่าเงินบาทในรอบสัปดาห์
ทั้งนี้ จับตาตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรในคืนวันศุกร์นี้ คาดว่า ตัวเลขจ้างงานจะเพิ่มขึ้นเพียง 200,000 ตำแหน่งในเดือนธ.ค. หลังจากเพิ่มขึ้น 263,000 ตำแหน่งในเดือนพ.ย. และคาดว่าอัตราว่างงานจะทรงตัวที่ระดับ 3.7% ซึ่งจะมีผลต่อทิศทางการส่งสัญญาณในการใช้นโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)
แนะนำผู้นำเข้าควรซื้อเงินตราต่างประเทศเพื่อป้องกันความเสี่ยง และผู้ส่งออก ขายเงินตราต่างประเทศที่ระดับเหนือ 34.20 บาท/ดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า บรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) อีกครั้ง ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง หลังจากล่าสุดรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด อาทิ ยอดการจ้างงานภาคเอกชนที่สำรวจโดย ADP ในเดือนธันวาคม เพิ่มขึ้น 2.35 แสนรายดีกว่าที่ตลาดคาดไว้เพียง 1.5 แสนราย
นอกจากนี้ ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) รวมถึงยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานต่อเนื่อง (Continuing Jobless Claims) ก็ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 2.04 แสนราย และ 1.69 ล้านราย ดีกว่าที่ตลาดคาด ความกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟดนั้น ได้สะท้อนผ่านมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เพิ่มโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดแตะระดับ 5.25% (จาก CME FedWatch Tool) ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ในฝั่งสหรัฐฯ ต่างปรับตัวสูงขึ้น โดยบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ปรับตัวขึ้นแตะระดับ 3.73%
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อตลาดการเงิน คือ รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ โดยตลาดมองว่า ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) อาจลดลงสู่ระดับ 2 แสนตำแหน่ง ตามการปรับแผนการจ้างงานของภาคธุรกิจ เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ ส่วนค่าจ้างเฉลี่ยรายชั่วโมง (Average Hourly Earnings) อาจขยายตัวในอัตราชะลอลง +0.4% จากเดือนก่อนหน้า (+5.0%y/y)
ภาพดังกล่าวจะชี้ว่า แม้ตลาดแรงงานสหรัฐฯ จะชะลอตัวลงมากขึ้น แต่ก็ยังเป็นการชะลอลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อผ่านตลาดแรงงาน (การเติบโตของค่าจ้าง) อาจชะลอลงตัวลงช้ากว่าที่เฟดต้องการ ทำให้เฟดยังคงกังวลแนวโน้มเงินเฟ้ออยู่ ซึ่งอาจสะท้อนในรายงานการประชุมล่าสุดของเฟด (FOMC Meeting Minutes) ที่บรรดาเจ้าหน้าที่เฟดอาจสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องและคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับสูงจนกว่าเฟดจะคุมปัญหาเงินเฟ้อได้สำเร็จ
นอกเหนือจากรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ โดย ISM (Services PMI) ในเดือนธันวาคม โดยตลาดประเมินว่า ภาคการบริการจะยังคงขยายตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวสูงขึ้นและการขยายตัวของการใช้จ่ายในภาคการบริการ ทำให้ดัชนี PMI ภาคการบริการอาจอยู่ที่ระดับ 55 จุด ทั้งนี้ การขยายตัวของภาคการบริการนั้น อาจทำให้เงินเฟ้อในส่วนภาคการบริการยังอยู่ในระดับสูงและอาจทำให้เงินเฟ้อโดยรวมชะลอลงยาก