ค่าเงินบาท "แข็งต่อเนื่อง" ตลาดคาดเฟดชะลอขึ้นดอกเบี้ย หลังเงินเฟ้อลง
ค่าเงินบาทเปิดตลาด 32.73 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับปิดตลาดเมื่อวานศุกร์ที่ระดับ 32.79 บาท/ดอลลาร์ กรอบวันนี้ที่ 32.55 - 32.85 บาท/ดอลลาร์
ฝ่ายธุรกิจตลาดเงินและธุรกรรมระหว่างประเทศ ทีเอ็มบีธนชาต (ttb) รายงานว่าดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ จากแนวโน้มที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะชะลออัตราการปรับขึ้นดอกเบี้ย หลังดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของสหรัฐต่างบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อของสหรัฐได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว
คาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.50-4.75% ในการประชุมวันที่ 31 ม.ค.-1 ก.พ. ซึ่งเป็นการประชุมนโยบายการเงินนัดแรกของเฟดในปีนี้
ราคาทองวันนี้ ดิ่ง 100 บาท ต่างประเทศปิดร่วง เงินบาทแข็งมาก
ค่าเงินบาทเปิดตลาด "แข็งค่า" ตลาดกังวลสหรัฐผิดนัดชำระหนี้ฉุดดอลลาร์
ค่าเงินบาทเช้านี้ (23 ม.ค.) แข็งค่าต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อน
เมื่อวานศุกร์ที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติทั้งขายพันธบัตรไทยสุทธิ 13,831 ล้านบาท และขายหุ้นไทยสุทธิ 2,874.83 ล้านบาท
แนะนำ ผู้นำเข้าควรซื้อเงินตราต่างประเทศเพื่อป้องกันความเสี่ยง และผู้ส่งออก ขายเงินตราต่างประเทศที่ระดับเหนือ 32.80 บาท/ดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นฝั่งเอเชียปรับตัวขึ้นได้ดี จากความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ถูกกดดันจากแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดและรายงานผลประกอบการโดยรวมออกมาแย่กว่าคาด
ในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ควรระวัง รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ และติดตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อย่าง ดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการของสหรัฐฯ, ยูโรโซน และญี่ปุ่น รวมถึงรอลุ้นรายงานผลประกอบการบรรดาบริษัทจดทะเบียน อาทิ Microsoft, ASML และ Tesla เป็นต้น
ตลาดประเมินว่า ภาวะตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่งและตึงตัวจะช่วยหนุนการใช้จ่ายในภาคการบริการ ซึ่งจะสะท้อนผ่านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (S&P Global Services PMI) ในเดือนมกราคมที่จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 45 จุด
นอกจากนี้ ภาคการบริการจะเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์สำคัญที่ทำให้ในไตรมาสที่ 4 เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจขยายตัวได้ +2.6% จากไตรมาสก่อนหน้า เมื่อเทียบเป็นรายปี แต่ก็เป็นการชะลอลงของเศรษฐกิจจากที่โตได้กว่า +3.2% ในไตรมาสที่ 3 สะท้อนผลกระทบจากการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟด รวมถึงแรงกดดันจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก ซึ่งในขณะเดียวกันก็ส่งผลให้ดัชนี PMI ภาคการผลิตอุตสาหกรรมในเดือนมกราคม อาจปรับตัวลดลงสู่ระดับ 46 จุด
ไฮไลท์สำคัญที่ต้องจับตาใกล้ชิด คือ แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ PCE ที่เฟดติดตาม โดยตลาดคาดว่า การปรับตัวลงของราคาพลังงานและโปรโมชั่นลดราคาสินค้า เพื่อระบายสต็อกในช่วงปลายปีที่ผ่านมา จะกดดันให้ อัตราเงินเฟ้อ PCE เดือนธันวาคม ชะลอลงสู่ระดับ 5.0%
แม้ว่า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core PCE อาจจะชะลอลงสู่ระดับ 4.4% ตามภาพการชะลอลงของเศรษฐกิจโดยรวม แต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับภาคการบริการและไม่รวมค่าเช่าบ้าน Core PCE Services ex. Housing Rents อาจไม่ได้ชะลอลงไปมากนัก ทำให้เฟดอาจยังคงกังวลว่าเงินเฟ้อชะลอลงช้าและจำเป็นต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องในปีนี้
นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว นักลงทุนรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ อย่าง Microsoft, Tesla และ Chevron ซึ่งหากผลประกอบการบริษัทโดยรวมแย่กว่าคาด ก็อาจส่งผลให้บรรยากาศในตลาดการเงินยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงต่อ (Risk-Off) ได้
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า แม้ว่าเงินบาทจะมีโอกาสแข็งค่าขึ้นบ้าง โดยแข็งค่าขึ้น ทดสอบโซนแนวรับ 32.50 บาทต่อดอลลาร์ แต่ก็พร้อมผันผวนอ่อนค่าลง หากตลาดปิดรับความเสี่ยงและเงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้จริง
ทั้งนี้ เงินบาทยังคงมีแนวต้านสำคัญในช่วง 33.20 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่ผู้ส่งออกบางส่วนต่างก็รอทยอยขายเงินดอลลาร์ ส่วนผู้เล่นต่างชาติก็รอจังหวะเพิ่มสถานะ Short USDTHB ตามความหวังการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว
สำหรับอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) รวมถึงแนวโน้มการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทย ซึ่งจะยิ่งได้แรงหนุนจากการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน จะเป็นปัจจัยที่ทำให้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย +25bps สู่ระดับ 1.50%
นักลงทุนจับตามุมมองของ กนง. ต่อแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินในอนาคตอย่างใกล้ชิด หลังนักลงทุนเริ่มประเมินว่า กนง. อาจชะลอการขึ้นดอกเบี้ยลง