ค่าเงินบาทวันนี้ เปิดตลาดแข็งค่า คาดเฟดประชุม 13-14 มิ.ย.นี้คงดอกเบี้ย
ค่าเงินบาทเช้านี้เปิดตลาด 34.62 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าจากเมื่อวานที่ระดับ 34.80 บาท/ดอลลาร์ คาดค่าเงินบาทวันนี้เคลื่อนไหวที่ 34.50/34.80 บาทต่อดอลลาร์
ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ หลังจากอ่อนค่าต่อเนื่องมากว่าสองสัปดาห์ โดยส่วนหนึ่งเกิดจากปัจจัยบวกจากการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐจะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนนี้
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 70.4% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 13-14 มิ.ย. และให้น้ำหนักเพียง 29.6% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.25-5.50%
ค่าเงินบาทแข็งค่าท้ายสัปดาห์
ประกอบกับการคลายความกังวลเกี่ยวกับการผิดนัดชำระหนี้ของสหรัฐ หลังสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐผ่านร่างกฎหมายขยายเพดานหนี้วานนี้ ขณะที่วุฒิสภาจะทำการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวในวันนี้ ทำให้มีแรงกลับเข้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้น.
ฝ่ายธุรกิจตลาดเงินและธุรกรรมระหว่างประเทศ ทีเอ็มบีธนชาต (ttb) แนะว่ายังคงต้องจับตาตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรในคืนนี้ รวมถึง Fund Flow ที่ยังคงไหลออกจากตลาดเงิน แม้จะเริ่มชะลงบ้างแต่ยังคงเป็นปัจจัยลบต่อค่าเงินบาทในช่วงนี้
แนะนำผู้นำเข้าควรซื้อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า เพื่อปิดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน
ราคาทองวันนี้ ปิดตลาดขยับขึ้น 50 บาท คาดเฟดคงดอกเบี้ย 14 มิ.ย.นี้
ดอกเบี้ยขาขึ้นยังไม่สิ้นสุด ลุ้น กนง.ไปต่อสู่ระดับ 2.25% ช่วงปลายปี
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า บรรดาผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น โดยดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้นกว่า +0.99% ท่ามกลางความหวังว่าร่างกฎหมายขยายเพดานหนี้อาจผ่านการพิจารณาโดยสภาคองเกรสได้ โดยล่าสุด สภาผู้แทนฯ ได้มีมติผ่านร่างกฎหมายดังกล่าว และเหลือเพียงการพิจารณาโดยวุฒิสภา ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงเช้าของวันนี้ตามเวลาในประเทศไทย
นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังได้แรงหนุนจากรายงานข้อมูลการจ้างงานภาคเอกเชนโดย ADP ที่มาดีกว่าคาด รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่ระบุว่า เฟดอาจไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิถุนายน
ทางด้านตลาดบอนด์ แม้ว่าบรรยากาศในตลาดการเงินจะกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น แต่มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่พลิกกลับมาเชื่อว่า เฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือนมิถุนายน ได้หนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงต่อเนื่องสู่ระดับ 3.60%
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังผู้เล่นในตลาดกลับมาเชื่อว่า เฟดอาจหยุดการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิถุนายนนี้ จากเดิมที่เคยมองว่า เฟดอาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องอีก 1-2 ครั้ง ทำให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 103.5 จุด
อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์อาจแกว่งตัว sideway เพื่อรอรายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ในวันนี้ ส่วนในฝั่งราคาทองคำ แม้ว่าตลาดการเงินจะกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง แต่มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คาดว่าเฟดจะหยุดการขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งส่งผลให้ทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลง ได้หนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) มีจังหวะปรับตัวขึ้นทดสอบระดับโซน 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนเผชิญแรงขายทำกำไรและย่อตัวลงสู่ระดับ 1,993 ดอลลาร์ต่อออนซ์
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจจะอยู่ที่ รายงานข้อมูลตลาดแรงงาน โดยตลาดมองว่า ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ในเดือนพฤษภาคม อาจลดลงสู่ระดับ 1.8 แสนราย จากระดับกว่า 2.5 แสนราย ในเดือนก่อนหน้า สะท้อนถึงการปรับแผนการจ้างงานของภาคเอกชน โดยเฉพาะในภาคการผลิตที่ได้รับผลกระทบจากทั้งอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ต้นทุนการผลิตสูงและการชะลอตัวของเศรษฐกิจ แต่โดยรวมการจ้างงานในภาคการบริการอาจยังคงดีอยู่ สอดคล้องกับการขยายตัวต่อเนื่องของภาคการบริการ (แม้ว่าจะเป็นการขยายตัวในอัตราชะลอลงก็ตาม)
นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะให้ความสนใจต่ออัตราการเติบโตของค่าจ้าง (Average Hourly Earnings) ซึ่งหากค่าจ้างยังคงขยายตัวราว +0.4% จากเดือนก่อน หรือ ไม่น้อยกว่า 4.4% จากเือนเดียวกันของปีก่อน ก็อาจยังเป็นปัจจัยหนุนให้อัตราเงินเฟ้อชะลอลงช้า และหนุนให้เฟดอาจจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวต่อ และอีกไฮไลท์สำคัญ คือ ปัจจัยการเมืองสหรัฐฯ โดยผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นว่า วุฒิสภาสหรัฐฯ จะมีมติผ่านร่างกฎหมายขยายเพดานหนี้หรือไม่
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท ในช่วงคืนที่ผ่านมา ค่าเงินบาทมีจังหวะแข็งค่าขึ้น ตามโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำและการอ่อนค่าลงต่อเนื่องของเงินดอลลาร์
แม้ข้อมูลการจ้างงานจะออกมาดีกว่าคาด แต่ก็อาจไม่ได้ช่วยหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นได้มากนัก ยกเว้นว่า ยอดการจ้างงานจะออกมาสูงกว่าคาดมาก และอัตราการเติบโตของค่าจ้างก็เร่งตัวขึ้นมากกว่าคาด