โชว์ดอกเบี้ยเงินฝากใบบัญชี ได้เท่านี้… มีเงินต้นเท่าไหร่ ?
ช่วงนี้เชื่อว่าเพื่อนๆ หลายคนที่ไถหน้าฟีดเฟซบุ๊ก หรือโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่างๆ อยู่จะต้องเจอกับโพสต์ที่แคปหน้าจอ “ดอกเบี้ยรับ” ที่ได้จากเงินฝากในบัญชีมาอวดกันแน่นอน แม้ว่าการอวดจะไม่ใช่ใครได้มากกว่ากัน แถมเป็นไปในทางหยิกแกมหยอกว่า... ดอกเบี้ยนี้ช่างต่ำเตี้ยเรี่ยดินเสียยิ่งนัก
วันนี้ PPTV จะพาไปหาคำตอบ และต่อไปเพื่อนคนในโซเชียลโพสต์ดอกเบี้ย เราจะรู้ได้เลยว่า เขามีเงินต้นในบัญชีประมาณเท่าไหร่กัน
สิ่งแรกที่ต้องเข้าใจก่อน คือ ดอกเบี้ยเงินฝาก ที่โพสต์โชว์กันในช่วงนี้ เป็นดอกเบี้ยเงินฝากประเภทออมทรัพย์ ที่เราสามารถเบิกถอน สแกนใช้จ่ายได้ตลอด ไม่มีข้อบังคับผูกมัดว่าต้องฝากกี่เดือนกี่ปีถึงจะได้ดอกเบี้ย หรือเป็นบัญชีสามัญที่เราใช้กัน
ดังนั้น เงินฝากประเภทนี้ดอกเบี้ยจึงค่อนข้างต่ำเตี้ยเรี่ยดินเป็นปกติ เพราะในหลักการแบงก์ก็ไม่สามารถนำเงินที่ไม่รู้ระยะเวลาว่าจะฝาก-ถอนในระยะเวลาแค่ไหนไปต่อยอดได้อย่างเต็มที่
อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยเงินฝากประเภทนี้จึงอยู่ที่ราว 0.125% ไล่เรียงไปถึง 2% แต่เป็น 2% แบบมีเงื่อนไข เช่น วงเงินฝากส่วนที่เกิน 70,000 – 100,000 บาท ถึงจะได้อัตราดอกเบี้ย 2% จากนั้นส่วนที่เกินจะคิดดอกเบี้ยแค่ 0.8% ดังนั้นการดูดอกเบี้ยธนาคารจึงต้องดูเครื่องหมาย * เสมอว่าเงื่อนไขยิบย่อยเป็นอย่างไร
วันนี้เพื่อให้เข้าใจง่ายที่สุด ขอยกตัวอย่างที่ ค่าเฉลี่ยดอกเบี้ยเงินฝากที่ 0.5% ต่อปี
ถัดมาที่ต้องเข้าใจ คือ แม้ธนาคารจะบอกเราว่าดอกเบี้ยต่อปี แต่จริงๆ แล้วเขาคิดให้เราเป็นรายวัน ตามจำนวนวันที่ฝากไว้นั่นเอง จากนั้นจึงแบ่งจ่ายให้เราแบบครึ่งปี เราจึงมักเห็นการโพสต์ดอกเบี้ยกันในช่วงเดือนมิถุนายน หรือบางแห่งก็จ่ายทีเดียวช่วงธันวาคมของทุกปี
ตัวอย่างแรก หากเพื่อนๆ ฝากแบบเต็มปี นับ 1 มกราคม ช่วงปีใหม่ฝากเงินเข้าไป 10,000 บาททันที ไว้ในบัญชีออมทรัพย์ที่ได้ดอกเบี้ย 0.5% ต่อปี กรณีนี้ไม่ถอน ไม่ฝากเพิ่ม ทำให้ในเดือน มิ.ย. จะได้ดอกเบี้ยออกมาที่ = 24.79 บาท หรือถ้าจ่ายทีเดียวทั้งปีช่วงก็ได้อยู่ที่ราว = 50 บาท
สูตรการคิด : ดอกเบี้ยที่ได้รับ = [(เงินต้น x อัตราดอกเบี้ย (%) x จำนวนวันที่ฝากในงวดนั้น) / จำนวนวันทั้งปี]
รู้จัก “กองทุนรวม” ทางเลือกสร้างความมั่งคั่งทางการเงิน
เริ่มต้น ชีวิตมนุษย์เงินเดือน 5 เรื่องต้องรู้เพื่อบริหารการเงิน
อีกเรื่องที่ต้องเข้าใจ ชีวิตประจำวันของเราๆ บัญชีออมทรัพย์หลายคนเอาไว้ใช้จ่าย มีการเงินเข้าออกตลอดเวลา วิธีการคำนวนจึงคล้ายกัน เพียงแค่คำนวณจากจำนวนวันที่ฝากไว้ เราก็นำจำนวนวันที่ฝากไปใส่ในสูตรคำนวณเดียวกันกับด้านบนนั่นเอง
ทำให้ยอดเงินที่เราเห็นอาจจะหลอกเราก็ได้ เช่น ดอกเบี้ย 0.95 บาท ไม่ถึงบาทนึงเลย ไม่ใช่ว่ามีเงินในบัญชีไม่ถึงหมื่น เพียงแต่เขาอาจจะพึ่งนำเข้ามาฝากในบัญชีนี้เพียง 7 วัน ก่อนรอบการจ่ายดอกเบี้ยก็ได้เช่นกัน ฝาก 1-2 วัน แบงก์ก็คิดดอกเบี้ยให้เรา
หลายคนก็ตัดพ้อว่า... เอาจริงๆ ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์คนส่วนใหญ่ ได้รับดอกเบี้ยมายังไม่พอค่าชานมไข่มุก หรือหมูกระทะสักหนึ่งมื้อเลย
เรื่องนี้ให้ย้อนกลับไปดูว่าประเภทของเงินฝากที่เราเปิดไว้กับธนาคาร สถาบันการเงิน คือ "เงินฝากออมทรัพย์ทั่วไป" ตัวดอกเบี้ยย่อมไม่สูงมากนักเป็นเรื่องปกติ หากขยับไปที่การฝากประจำก็จะได้ผลตอบแทนที่มากขึ้น ด้วยวินัย กับ ระยะเวลาการฝากที่เป็นภาระผูกพัน ทำให้ผลตอบแทนก็ต้องมากขึ้นตามกันไปนั่นเอง
หากเพื่อนคนไหนหวังสร้างความมั่งคั่งในยุคเงินเฟ้อข้าวของแบบนี้ จะพึ่งเงินฝากอย่างเดียวคงเป็นไปไม่ได้ ควรหาสินทรัพย์การลงทุนอื่นที่ให้ผลตอบแทนมากขึ้น เช่น กองทุนรวม หุ้นกู้ หุ้น ประกัน หรือการออมทอง มาแบ่งสรรปันส่วนไว้ในพอร์ตการลงทุนของเพื่อนๆ ควบคู่กับการบริหารความเสี่ยง เพื่อให้ผลตอบได้มากขึ้น
ส่วนเทคนิคจัดพอร์ตลงทุนดีๆ ทำอย่างไรไว้ตอนหน้า ทีมงาน PPTV จะมาเล่าให้ฟัง