10 แบงก์ไทย ครึ่งแรกปี 66 โกยกำไร 1.2 แสนล้านบาท ดอกเบี้ยขาขึ้นหนุน
กลุ่มธนาคารพาณิชย์ ประกาศงบครึ่งแรกของปี 66 มีกำไรสุทธิ 1.2 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นราว 15% ได้แรงหนุนรายได้ดอกเบี้ยที่เติบโตต่อเนื่อง จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของแบงก์ชาติ รวมถึงการขยายตัวของสินเชื่อ
ส่องคาดการณ์กำไรไตรมาส 2/66 กลุ่ม 8 แบงก์ใหญ่ ดอกเบี้ยขาขึ้นหนุน
KTB ไตรมาส 2 กำไรพุ่ง 21.5% ที่ 10,156 ล้านบาท จากดอกเบี้ยขาขึ้น-สินเชื่อโต
กลุ่มธนาคารพาณิชย์ (BANK) ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ต่างทยอยประกาศผลดำเนินงานประจำไตรมาสที่ 2 ปี 2566 เมื่อวันศุกร์ 21 ก.ค. 66 ที่ผ่านมา ครบทั้ง 10 ธนาคารแล้ว โดยมีกำไรสุทธิรวมกันประมาณ 121,982 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 16,191 ล้านบาท หรือ +15.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
โดยผลประกอบการธนาคารพาณิชย์ 10 แห่ง ไตรมาส 2 ปี 66 มีดังนี้
ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) มีกำไรสุทธิ 10,994.27 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.85% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และรวม 6 เดือนแรกของปีนี้ กำไรสุทธิ 21,735.33 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อย 1.22% จากในช่วงเดียวกันของปีก่อน
ธนาคารกรุงเทพ (BBL) มีกำไรสุทธิ 11,294 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 62.2% จากในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และรวม 6 เดือนแรกของปีนี้ กำไรสุทธิ 21,423 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 52.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
บมจ.เอสซีบี เอกซ์ (SCB) มีกำไรสุทธิ 11,868 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และรวม 6 เดือนแรกของปีนี้ กำไรสุทธิ 22,864 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) มีกำไรสุทธิ 8,425 ล้านบาท ลดลง 2.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และรวม 6 เดือนแรกของปีนี้ กำไรสุทธิ 17,102 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ธนาคารกรุงไทย (KTB) มีกำไรสุทธิ 10,156 ล้านบาท เติบโต 21.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และรวม 6 เดือนแรกของปีนี้ กำไรสุทธิ 20,223 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) มีกำไรสุทธิ 4,566.28 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และรวม 6 เดือนแรกของปีนี้ กำไรสุทธิ 8,861 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
บมจ.ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) มีกำไรสุทธิ 1,853.89 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และรวม 6 เดือนแรกของปีนี้ กำไรสุทธิ 3,702.32 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย (CIMBT) มีกำไรสุทธิ 538 ล้านบาท ลดลง 48.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และรวม 6 เดือนแรกของปีนี้ กำไรสุทธิ 1,368.9 ล้านบาท ลดลง 35.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) มีกำไรสุทธิ 1,408 ล้านบาท ลดลง 30.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และงวด 6 เดือนแรกของปีนี้ มีกำไรสุทธิ 3,493 ล้านบาท ลดลง 14.6% เมื่อเทียบกั บช่วงเดียวกันของปีก่อน
บมจ.แอลเอชไฟแนนซ์เชียลกรุ๊ป (LHFG) เจ้าของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ มีกำไรสุทธิ 532.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 128.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และรวม 6 เดือนแรกของปีนี้ กำไรสุทธิ 1,201.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 61.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
บริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ภาพรวมกำไรสุทธิของธนาคารพาณิชย์ 8 แห่ง ในไตรมาส 2 ปี 66 อยู่ที่ 6 หมื่นล้านบาท เติบโต 18% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และดีกว่าคาด 2.7% ปัจจัยหนุนจากรายได้ดอกเบี้ยที่ 1.7 แสนล้านบาท ตามภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น รวมกับการเติบโตของสืนเชื่อ
ขณะที่ภาพรวมกำไรสุทธิของธนาคารพาณิชย์ 8 แห่ง ครึ่งแรกปี 66 เท่ากับ 1.2 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 54% ของคาดการณ์กำไรทั้งปีที่ 2.23 แสนล้านบาท
ฝ่ายวิจัยคาด BBL จะมีอัตราการเติบโตของกำไรปี 2566 เด่นสุดในกลุ่มฯ ราว 37% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขับเคลื่อนด้วยรายได้ดอกเบี้ยI ตามการขึ้นอัตราดอกเบี้ย และอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคาร (Coverage ratio) สูงสุดในกลุ่มฯ รวมถึงโครงสร้างพอร์ตส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อรายใหญ่ทนทานกว่าธุรกิจ SME หรือ รายย่อย ที่มีหลายปัจจัยกดดัน จะช่วยให้ BBL สามารถบริหารจัดการ ต้นทุนความเสี่ยงจากการให้สินเชื่อ (credit cost) ได้ดีกว่ากลุ่มธนาคาร
สำหรับแนวโน้มกำไรไตรมาส 3 ปี 66 ของกลุ่มธนาคาร กรณีที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จะบวกหรือลบ ไม่เกิน 5% จากไตรมาสก่อนหน้า โดยผลจากการขึ้นดอกเบี้ย M-Rate รอบเดือน มิ.ย. เริ่มจำกัด ตามต้นทุนเงินฝากประจำทยอย Repricing รวมทั้งธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ อย่าง KBANK, KTB และ SCB เพิ่มเงินฝากออมทรัพย์ มาที่ 0.30% (เดิม 0.25%)
ในทางตรงข้ามกับ BBL ลดระดับเงินฝากออมทรัพย์ จาก 0.6% มาที่ 0.35% ช่วงปลายไตรมาส 2 ปี 66 คาดหนุนรายได้ดอกเบี้ย ได้เปรียบกลุ่มฯ ผสานกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (OPEX) ลดตามฤดูกาล และคุณภาพสินทรัพย์ที่อยู่ในการบริหารจัดการ เป็นปัจจัยผลักดันให้กำไรของ BBL ขยายตัวทั้งรายไตรมาส และ รายปี Y
ทั้งนี้ ในกรณีที่ กนง. ขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ในการประชุมวันที่ 2 ส.ค. 66 จะผลักดันแนวโน้มกำไรกลุ่มธนาคารต่อในเชิงรายไตรมาส ขับเคลื่อนจากรายได้ดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ซึ่งประเมินมีน้ำหนักมากว่ารายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย ที่เผชิญแรงกดดันจากค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน (Capital Market)