ไปต่อหรือพอแค่นี้? เดาใจ กนง.ถอนคันเร่ง "ขึ้นดอกเบี้ย" เศรษฐกิจไทย
เมื่อ กนง. ประกาศขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% หากฟังถ้อยแถลงคล้ายๆ ว่าเริ่มส่งสัญญาณถอนคันเร่งเศรษฐกิจยุติการขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่ ไปดูมุมมองนักวิเคราะห์ทั้งสายแบงก์และนักวิชาการถึงเรื่องนี้กัน
เริ่มต้นที่ ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐศาสตร์มหภาค ผศ.ดร.พงศ์ศักดิ์ เหลืองอร่าม อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า เงินเฟ้อยังไม่จบและแบงก์ชาติก็มีโอกาสที่จะขึ้นดอกเบี้ยต่อ โดยให้เหตุผลว่า ไทยยังต้องเจอทั้งเงินเฟ้อและเอลนีโญ ขณะที่ การตั้งรัฐบาลล่าช้าไม่น่าเป็นห่วงเท่าการประท้วงที่จะทำให้ภาคการท่องเที่ยวสะดุดและฉุดเศรษฐกิจโต
ตามคาด! กนง.มติเป็นเอกฉันท์ "ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ต่อปี" มีผลทันที
กนง.ส่งสัญญาณดอกเบี้ยขาขึ้น “ใกล้จบ” จับตาประชุมอีก 2 ครั้งก่อนสิ้นปี
ผศ.ดร.พงศ์ศักดิ์ บอกต่อว่า การขึ้นดอกเบี้ยในความเห็นของแบงก์ชาติมองว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว แม้ว่าคนทั่วไปจะไม่ได้รู้สึก
แต่การขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือน ส.ค. ปีที่แล้ว เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการปรับนโยบายการเงินให้เข้าสู่ระดับปกติ (Normalization Process) จากช่วงโควิดที่ผ่านมา ที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ในช่วงต่ำกว่าระดับปกติ ซึ่งการสื่อสารของแบงก์ชาติรอบนี้ค่อนข้างชัดเจนว่า อยู่ในจุดที่ใกล้จบดอกเบี้ยขาขึ้นแล้ว
เราไม่ได้เหยียบเบรกเหมือนเฟด แต่เรากำลังถอนคันเร่งจากนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายตั้งแต่ยุคโควิด เพราะเศรษฐกิจไทย ฟื้นตัวช้ากว่าหลายประเทศ ต่างจากกรณีของสหรัฐอเมริกาที่เศรษฐกิจเติบโตเร็วมากจนตึงตัว ต้องแตะเบรก
ดอกเบี้ยแพงไปหรือยัง? หรือไทยยังติดกับดักหนี้ครัวเรือน
การขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 7 ติดต่อกัน ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันขึ้นมาอยู่ที่ 2.25% ซึ่งนับว่าสูงที่สุดในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา ซึ่งดอกเบี้ยนโยบายที่ 2% นิดๆ เทียบกับการเติบโตของเศรษฐกิจที่ 3.6-3.8% ยังถือว่าไม่สูง เปรียบเสมือนคนที่มีรายได้โตตาม GDP ส่วนดอกเบี้ยไม่ได้สูงเกินรายได้
แต่ติดตรงที่ว่า บ้านเราคือภาคครัวเรือนมีหนี้พอกพูนมาก่อนแล้ว พออยู่ในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น ภาระหนี้ก็สูงขึ้นตาม ในมุมมองของ ผศ.ดร.พงศ์ศักดิ์
ซึ่งปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาระดับโครงสร้าง ต้องใช้เครื่องมือเฉพาะจุดในการดูแล เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ หรือการขอความร่วมมือจากเจ้าหนี้
ภาพ : ผศ.ดร.พงศ์ศักดิ์ เหลืองอร่าม อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยดังนั้น การใช้นโยบายการเงินผ่านการปรับอัตราดอกเบี้ยจึงไม่ใช่ทางออกของการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย หากดอกเบี้ยถูกไป ยิ่งจูงใจให้คนกู้เยอะขึ้น อาจนำไปสู่วิกฤติในระยะยาวได้
อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เป็นเครื่องมือในการดูแลเศรษฐกิจมหภาค จึงกำลังทำหน้าที่อย่างเหมาะสมแล้วในการรักษาเสถียรภาพด้วยการทำให้เงินเฟ้อปรับให้เข้าสู่กรอบเป้าหมายได้อย่างยั่งยืน ขณะที่หน้าที่หลักของนโยบายการเงินคือ การรักษากำลังซื้อของคนในระบบเศรษฐกิจ ดูจากการที่ธนาคารกลางทั่วโลกมุ่งเป้าไปที่การควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย
มีโอกาสขึ้นต่ออีก 1 ครั้ง
นักเศรษฐศาสตร์ รั้วจุฬา แสดงความเห็นว่า แบงก์ชาติยังมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยได้อีก 1 ครั้งในปีนี้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายน่าจะไปจบที่ 2.5% สาเหตุหลักมาจากความเสี่ยงของเงินเฟ้อ แม้ที่ผ่านมาอัตราเงินเฟ้อจะต่ำเนื่องจากฐานที่สูงในปีที่แล้ว แต่ปัจจัยเสี่ยงในภายภาคหน้ายังไม่จบ โดยเฉพาะปรากฏการณ์เอลนีโญ
นอกจากนี้ แบงก์ชาติยังส่งสัญญาณที่ระบุว่า “ต้องการรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงินในการรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าที่อยู่ในระดับสูง” จึงอาจมีการขึ้นดอกเบี้ยไว้ก่อนในยามที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง เพื่อให้มีพื้นที่ (Policy Space) ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้ในอนาคต
อย่างไรก็ตาม หากเศรษฐกิจไทยไม่ฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องตามคาด ก็อาจทำให้แบงก์ชาติพิจารณาหยุดขึ้นดอกเบี้ย โดยตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเป็นหลักในปีนี้คือ ภาคท่องเที่ยว
เศรษฐกิจไทยกำลังโต ไม่ว่าจัดตั้งรัฐบาลช้าหรือเร็ว
ผศ.ดร.พงศ์ศักดิ์ ตั้งข้อสังเกตว่า คนอาจจะกังวลเรื่องระยะเวลาการจัดตั้งรัฐบาลมากเกินไป การจัดตั้งรัฐบาลที่ล่าช้าไม่ว่าจะ 3 หรือ 6 เดือน อาจส่งผลต่องบลงทุนภาครัฐอยู่บ้าง แต่ก็ถือเป็นส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับจีดีพี การเบิกจ่ายตามปกติยังคงทำได้
การลงทุนและการบริโภคของภาคเอกชนมีผลต่อเศรษฐกิจมากกว่า ซึ่งเห็นสัญญาณแล้วว่าตัวเลขดีขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้ เรื่องจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าหรือการทะเลาะกันในสภายังไม่น่าห่วงเท่ากับความรุนแรงนอกสภา การประท้วงที่นำไปสู่การสร้างบรรยากาศตึงเครียดบนท้องถนน จะกระทบกับภาคท่องเที่ยวโดยตรง และอาจฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้
ถามคนทั่วไปก็รู้อยู่แล้วว่า เมื่อพรรคเพื่อไทยได้เป็นแกนนำ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่คงจะตามมา ไม่ว่าจะเป็นแจกเงิน ขึ้นค่าแรง เชื่อว่ารัฐบาลใหม่ที่เข้ามาก็จะอัดฉีดด้านการคลังเพื่อให้เห็นว่าได้เริ่มลงมือทำงาน เป็นจังหวะเดียวกับที่นโยบายทางการเงินกำลังลดการผ่อนคลาย ให้เศรษฐกิจไทยกลับสู่สภาวะปกติ
มุมมอง " 3 สถาบันการเงิน" เดาทาง กนง.
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
โดยการประชุมครั้งต่อไปจะมีขึ้นในวันที่ 27 ก.ย.66 ซึ่งจากถ้อยแถลงของ กนง. ในวันนี้บ่งชี้ว่า การลำดับความเสี่ยงของแต่ละปัจจัยค่อนข้างสมดุลมากขึ้น โดยระบุถึงความเสี่ยงที่ต้องจับตามอง ทั้งในเรื่องอัตราเงินเฟ้อ ภาคการส่งออกสินค้าที่อาจฟื้นตัวช้ากว่าคาด รวมทั้งความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ
ดังนั้นกลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ยังคงคาดการณ์ว่า การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้น่าจะเป็นครั้งสุดท้ายในวัฎจักรนี้
พร้อมกันนี้ กนง. ยังประเมินเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน แม้ว่ายังมีปรากฏการณ์เอลนีโญรุนแรงกว่าคาดอาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนด้านอาหาร อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับลดลงแต่มีแนวโน้มทรงตัวในระดับที่สูงกว่าในอดีต
ขณะเดียกัน ก็ยังเน้นย้ำถึงแนวทางการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่องรวมถึงการมุ่งแก้ปัญหาไปที่กลุ่มเปราะบาง
อย่างไรก็ตาม หลังการประกาศของ กนง. ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ราว 34.33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยภาพรวมในปีนี้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง 0.6% ซึ่งตรงนี้เอง กนง. ย้ำว่าค่าเงินบาทมีความผันผวนจากแนวโน้มนโยบายการเงินของเฟด คาดการณ์เศรษฐกิจจีน และความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองภายในประเทศ
ด้าน SCB EIC ธนาคารไทยพาณิชย์
คาดว่า กนง. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 1 ครั้งในการประชุมเดือนกันยายนนี้ สู่ระดับ Terminal rate ที่ 2.5% และคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับดังกล่าว และจะเดินหน้าปรับนโยบายการเงินไทยให้กลับเข้าสู่ระดับปกติ (Monetary policy normalization) ที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว
และเป็นการการปรับนโยบายการเงินให้กลับเข้าสู่ระดับปกติจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real interest rate) ของไทยกลับมาเป็นบวกได้เช่นเดียวกับในช่วงก่อนโควิด-19 หลังจากที่ติดลบต่อเนื่องในช่วงหลัง โควิด-19 ที่ผ่านมา รวมทั้งจะช่วยรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงิน (Policy space) ในการรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าที่อยู่ในระดับสูง
Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย
ประเมินว่าวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นรอบนี้จะแตะระดับ 2.5% (Terminal rate) สะท้อนจากมุมมองของ กนง. ที่ประเมินว่าเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องทั้งในปี 2566 และ 2567 และอัตราเงินเฟ้อจะทรงตัวอยู่ในระดับสูง อีกทั้งยังมีความเสี่ยงด้านสูง อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจของ กนง. ในครั้งถัดไปขึ้นอยู่กับปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจและความไม่แน่นอนทางการเมือง