ค่าเงินบาทวันนี้ อ่อนทะลุ 35 บาท/ดอลลาร์ จากการเมืองไทยยังวุ่น
ค่าเงินบาท เช้านี้เปิดตลาด 35.04 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าจากเมื่อวานที่ 34.99 บาท/ดอลลาร์ โดยมองในกรอบ 34.90 - 35.20 บาท/ดอลลาร์
เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย หลังจากมูดี้ส์ได้ปรับลดอันดับความเชื่อถือของธนาคารขนาดกลางและขนาดเล็กของสหรัฐจำนวน 10 แห่งลง 1 ขั้น และประกาศทบทวนอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารขนาดใหญ่ โดยจำนวน 6 แห่งมีแนวโน้มถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ ซึ่งรวมถึงแบงก์ ออฟ นิวยอร์ก เมลลอน, ยูเอส แบงคอร์ป, สเตท สตรีท และทรูอิสต์ ไฟแนนเชียล
ค่าเงินบาทอ่อนค่าทะลุ 35 บาท/ดอลลาร์ จากความไม่แน่นอนทางการเมือง
จับตาสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ในวันพรุ่งนี้ (10 ส.ค.) เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
ค่าเงินบาทเช้านี้ เปิดตลาดแกว่งแคบ ๆ รอตัวเลข CPI สหรัฐ 10 ส.ค.นี้
ราคาทองวันนี้ ปิดตลาดขึ้น 100 บาท จากบาทอ่อนใกล้ 35
เมื่อวานนี้นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดพันธบัตรไทย 2,354 ล้านบาท และขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย 3,348.19 ล้านบาท
ฝ่ายธุรกิจตลาดเงินและธุรกรรมระหว่างประเทศ ทีเอ็มบีธนชาต (ttb) แนะนำผู้นำเข้าควรซื้อเงินตราต่างประเทศเพื่อปิดความเสี่ยง และผู้ส่งออก แนะนำขายเงินตราต่างประเทศที่เหนือระดับ 35.20 บาท/ดอลลาร์
ด้านนายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่าในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่าลงเล็กน้อย ในลักษณะ sideway up โดยแกว่งตัวในช่วง 34.98-35.07 บาทต่อดอลลาร์ กดดันโดยโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว รวมถึงการปรับตัวแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่ได้แรงหนุนจากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงตลาดปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off)
บรรยากาศในตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) อีกครั้ง ท่ามกลางแรงขายหุ้นกลุ่มธนาคาร โดยเฉพาะธนาคารขนาดเล็ก-กลาง หลัง Moody’s ได้ปรับลดเครดิตเรทติ้งของธนาคารขนาดเล็ก-กลาง หลายแห่ง และเตรียมทบทวนเครดิตเรทติ้งของธนาคารขนาดใหญ่ ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.42%
ในฝั่งตลาดบอนด์ ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่มีทั้งฝั่งสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ และฝั่งที่มองว่า เฟดอาจไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง รวมถึงบรรยากาศในตลาดการเงินที่กลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ได้ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัว sideway ใกล้ระดับ 4.00% โดยอยู่ในกรอบ 3.98%-4.04%
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ยังคงเคลื่อนไหว sideway โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นตามความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย ก่อนที่จะย่อตัวลงบ้าง หลังเจ้าหน้าที่เฟดบางส่วนเริ่มส่งสัญญาณว่า เฟดอาจหยุดการขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) แกว่งตัวใกล้ระดับ 102.5 จุด ทั้งนี้ เงินดอลลาร์อาจยังคงแกว่งตัว sideway เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอจับตารายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในวันพฤหัสฯ นี้
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรายังคงมองว่า ในระยะสั้น เงินบาทอาจยังคงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าอยู่ โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดเผชิญทั้งภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวม ที่หนุนให้เงินดอลลาร์มีโอกาสแข็งค่าขึ้น รวมถึงความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองไทย ที่ยังคงกดดันให้นักลงทุนต่างชาติทยอยขายสินทรัพย์ไทย