คาด กนง.คงดอกเบี้ย 2.5% ยาวตลอดปี 67 กดเงินเฟ้อเข้ากรอบเป้าหมาย
หลัง กนง.มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.5% ต่อปี ชี้เป็นระดับที่เหมาะสมกับการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยในระยะยาว ล่าสุด SCB EIC คาด กนง.จะคงดอกเบี้ยระดับนี้ไปจนตลอดทั้งปี 67 มองมาตรการเงินดิจิทัลช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทย และดันเงินเฟ้อสูงขึ้น แต่เป็นเพียงผลชั่วคราว
กนง. คงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.50% แรงกดดันด้านเงินเฟ้อลดลง
โฆษก ครม. ชี้แจง เงินเดือนข้าราชการใหม่! กำหนดวันเริ่มดำเนินการ
เมื่อวานนี้ (29 พ.ย.66) คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.5% ต่อปี หลังจากที่ปรับขึ้นมา 8 ครั้งติดต่อกัน โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยในภาพรวมอยู่ในทิศทางขยายตัวจากอุปสงค์ในประเทศ การท่องเที่ยว และการฟื้นตัวของภาคการส่งออก
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะคงอยู่ที่ระดับ 2.5% ไปตลอดปี 2567
โดยประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว (Neutral rate) และช่วยให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 1-3% ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้อย่างต่อเนื่อง
ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real interest rate) ของไทย กลับมาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับในช่วงก่อนโควิด-19 ซึ่งจะช่วยเสริมเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว ผ่านการป้องกันการสะสมความไม่สมดุลทางการเงินที่เกิดจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน
ทั้งนี้ กนง. ระบุว่า เศรษฐกิจไทยกำลังทยอยฟื้นตัวกลับเข้าสู่ระดับศักยภาพ และอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันอยู่ในระดับ Neutral zone ที่เหมาะสมกับแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว และเอื้อให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมาย ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยในระดับปัจจุบันมีส่วนช่วยให้การก่อหนี้ใหม่เป็นไปอย่างสมดุลมากขึ้น เมื่อเทียบช่วงที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำมากมานาน ซึ่งหากเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าเป็นไปตามที่ กนง. คาดการณ์ไว้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับปัจจุบันต่อเนื่อง
ขณะเดียวกันในปี 2567 แม้โครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล หรือ ดิจิทัลวอลเล็ต (Digital wallet) อาจช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้สูงกว่าระดับศักยภาพ และก่อให้เกิดแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์เพิ่มขึ้นบ้าง แต่ SCB EIC ประเมินว่าผลจากมาตรการดังกล่าวจะเป็นเพียงผลชั่วคราว โดยเศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวในระดับศักยภาพดังเดิมในภายหลัง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มอยู่ในกรอบเป้าหมายของ ธปท. ได้
นอกจากนี้ SCB EIC ได้ปรับลดประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 66 เหลือ 2.6% จากเดิม 3.1% เนื่องจากเศรษฐกิจในไตรมาส 3 ขยายตัวต่ำกว่าคาดมาก และการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวสูงขึ้น รวมถึงความล่าช้า พ.ร.บ.งบประมาณปี 67 และนักท่องเที่ยวจีนฟื้นตัวช้า
ส่วนในปี 67 SCB EIC ปรับลดการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยเหลือ 3.0% จากเดิม 3.5% จากแรงส่งเศรษฐกิจที่แผ่วลง โดยแนวโน้มการบริโภคเอกชนเติบโตต่ำลงจากรายได้ครัวเรือนที่ยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึง และหนี้ครัวเรือนที่ลดลงช้า อีกทั้งการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจีนใช้เวลานานขึ้น รวมถึงการลงทุนภาครัฐขยายตัวต่ำลงจากความล่าช้าของ พ.ร.บ.งบประมาณปี 67
เปิดสถิติหวยออกย้อนหลัง 15 ปี งวด 1 ธันวาคม
ชาวเน็ตโวยแอปฯ SCB ล่มวันเงินเดือนออก ธนาคารแจงเร่งแก้ไขเร็วที่สุด
ป.ป.ส. เข้าค้นบ้าน "สว.อุปกิต" ยึดรถหรู-ปืน อายัดแล้ว