ก.อุต ออกสินเชื่อช่วย SMEs ดอกเบี้ยต่ำ วงเงิน 1,900 ล้านบาท
“เอกนัฏ” สั่งการ ก.อุตสาหกรรม เร่งเติมทุนหนุนผู้ประกอบการ ด้วยสินเชื่อ "เสือติดปีก-คงกระพัน" วงเงินกู้รวม 1,900 ล้านบาท ดอกเบี้ยต่ำ
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่า จากสภาวะเศรษฐกิจไทยที่กำลังเผชิญความท้าทายรอบด้าน ส่งผลให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปรับลดการคาดการณ์ GDP ปี 2567 เหลือเพียง 2-3% ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ จึงได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เร่งช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของเศรษฐกิจไทย

ล่าสุด นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กองทุนฯ ได้ออกสินเชื่อ 2 โครงการ ได้แก่ โครงการสินเชื่อเพื่อเพิ่มขีดความสามารถธุรกิจ (เสือติดปีก) และโครงการสินเชื่อเสริมสภาพคล่องธุรกิจ (คงกระพัน) เพื่อสนับสนุนให้ความช่วยเหลือเงินทุนและเพิ่มช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับเอสเอ็มอี
ประกาศฉบับที่ 1 พายุ“ดีเปรสชัน” รับมือฝนตกหนักถึงหนักมาก
เปิดใจ 2 นักบินอวกาศนาซา หลังต้องติดอยู่ในอวกาศ 8 เดือน
วิเคราะห์ฟุตซอลโลก 2024 ทีมชาติไทย พบ คิวบา 17 ก.ย.67

โดยโครงการสินเชื่อเสริมสภาพคล่องธุรกิจ (คงกระพัน) มีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีในการรักษาสภาพคล่องทางธุรกิจ และเสริมความแข็งแกร่งให้สามารถฟันฝ่าวิกฤตทางเศรษฐกิจได้ กลุ่มเป้าหมายและคุณสมบัติของผู้กู้ มีลักษณะเดียวกันกับโครงการสินเชื่อเพื่อเพิ่มขีดความสามารถ (เสือติดปีก) ภายใต้กรอบวงเงินรวม 700 ล้านบาท วงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อราย เป็นเงินกู้ระยะยาว อัตราดอกเบี้ยคงที่ 5-7% ต่อปี (ขึ้นอยู่กับหลักประกัน) ระยะเวลากู้สูงสุด 3 ปี มีหลักประกัน เช่น ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง เครื่องจักร หรือหลักประกันทางธุรกิจ หรือบุคคลค้ำประกัน

ส่วนโครงการสินเชื่อเพื่อเพิ่มขีดความสามารถธุรกิจ (เสือติดปีก) มีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะด้านการพัฒนานวัตกรรม การปรับปรุงเทคโนโลยีและการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับเศรษฐกิจไทย ด้วยกรอบวงเงินรวม 1,200 ล้านบาท วงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 15 ล้านบาทต่อราย และเป็นเงินกู้ระยะยาว อัตราดอกเบี้ยคงที่ 3-5% ต่อปี (ขึ้นอยู่กับหลักประกัน) ระยะเวลากู้สูงสุด 10 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้นสูงสุด 12 เดือน มีหลักประกัน เช่น ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง เครื่องจักร หรือหลักประกันทางธุรกิจหรือมีบุคคลค้ำประกัน
กลุ่มเป้าหมายและคุณสมบัติของผู้กู้
- เอสเอ็มอีที่ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมดีเด่น หรือผ่านการคัดเลือกรอบที่ 1 ของการประกวดรางวัลอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมดีเด่นจากกระทรวงอุตสาหกรรม ในระยะเวลา 3 ปีย้อนหลัง นับถึงวันที่ยื่นขอเข้าร่วมโครงการ
- เอสเอ็มอีที่ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพจากหน่วยงานของรัฐในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยหน่วยร่วมดำเนินการ หรือสถาบันเครือข่ายภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม
- เอสเอ็มอีที่ไม่ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมดีเด่น หรือการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ แต่มีความประสงค์เข้ารับการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพตามที่กองทุนกำหนด ซึ่งคุณสมบัติของผู้กู้ จะต้องเป็นเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพ และมีขนาดของกิจการตามที่กำหนด เป็นนิติบุคคลสัญชาติไทย ดำเนินกิจการมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี สามารถนับรวมประสบการณ์การบริหารธุรกิจของผู้บริหารได้ ไม่เป็น NPL หรือถูกดำเนินคดี ณ วันที่ยื่นขอเข้าร่วมโครงการ มีประวัติการชำระหนี้ปกติ ณ วันที่ยื่นขอเข้าร่วมโครงการ ไม่ได้รับความช่วยเหลือด้านการเงินจากโครงการอื่น ๆ ที่กำหนด สามารถยื่นความประสงค์ได้ทั้งลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่

ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ยังกล่าวถึงแนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย โดยระบุว่า สำหรับผู้ประกอบการที่กู้เงินกับกองทุนฯ มีมาตรการช่วยเหลือโดยการพักชำระหนี้เงินต้น 3 เดือน ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้สำรวจลูกหนี้ทั้งหมดใน 8 จังหวัดที่ประกาศเป็นเขตอุทกภัย พบว่า มีลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบทั้งสิ้น 41 ราย วงเงินกู้รวมราว 30 ล้านบาท

ส่วนผู้ประกอบการรายอื่นที่ไม่ได้เป็นลูกหนี้กองทุนฯ กระทรวงได้สำรวจผลกระทบและความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยจะเข้าไปให้การช่วยเหลือในเรื่องของการฟื้นฟู ตรวจสอบเครื่องจักรต่าง ๆ ที่จมน้ำเสียหาย โดยมอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเข้าไปช่วยเหลือซ่อมแซม รวมถึงอุตสาหกรรมอาหารที่จะต้องมีการรับรองมาตรฐาน จะมีผู้เชี่ยวชาญเข้าไปช่วยดูว่าหากผู้ประกอบการต้องการเอามาตรฐานจีเอ็มพี หรือมาตรฐานต่าง ๆ ในการผลิตกลับมาจะต้องทำอย่างไร ซึ่งจะมีผู้ให้คำปรึกษาเข้าไปแนะนำได้