เงินบาทแข็งค่าเร็ว คาด สูญเสียเม็ดเงินภาคส่งออก-ท่องเที่ยว กว่า 1.3 แสนล้านบาท
หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ขอ รัฐฯ เร่งดูแลเงินบาทหลังแข็งค่าเร็ว กระทบธุรกิจไทย คาด สูญเสียเม็ดเงินภาคส่งออก-ท่องเที่ยว กว่า 1.3 แสนล้านบาท
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่ากระทรวงพาณิชย์ได้ประกาศ 10 นโยบาย เช่น นโยบายลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และขยายโอกาส ขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจฐานราก เร่งผลักดันการส่งออกให้ตัวเลขเป็นบวกขึ้น การเร่งเจรจา FTA และพานักธุรกิจไทยไปบุกต่างประเทศ ซึ่งหลายมาตรการตรงกับข้อเสนอและแนวทางของหอการค้าไทยที่อยู่ระหว่างดำเนินการควบคู่ไปกับรัฐบาล สามารถแบ่งมาตรการต่าง ๆ ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

1. มาตรการที่กระทบต่อคนส่วนใหญ่ ทั้งการลดค่าใช้จ่าย และมาตรการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ตลอดจนการนำเอาสินค้าร้านธงฟ้าเข้าไปช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของคนในพื้นที่ ส่วนการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านเงิน 10,000 บาท เห็นด้วยที่รัฐบาลเห็นถึงความสำคัญในระยะเร่งด่วนของกลุ่มเปราะบาง เชื่อว่า จะเกิดการใช้จ่ายทันที
นอกจากนี้ ระยะสั้น หอการค้าฯ ยังเห็นว่าสามารถดึงกำลังซื้อจากประชาชนกลุ่มต่างๆ ได้ โดยได้เสนอโครงการคูณสอง ดึงกำลังซื้อจากประชาชนโดยรัฐมีส่วนสนับสนุนกึ่งหนึ่ง ขณะที่กลุ่มที่มีรายได้สูง ยังอยากเห็นการนำเอามาตรการจูงใจทางภาษี เช่น Easy E-Receipt เข้ามากระตุ้นการจับจ่ายในช่วงที่เหลือของปี โดยใช้งบประมาณภาครัฐไม่มาก
2. มาตรการสำหรับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะการเร่งแก้หนี้ ทั้งหนี้ในระบบและนอกระบบ รัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรการเฉพาะเข้ามาช่วยเหลือกลุ่มนี้ให้สามารถใช้เป็นเครื่องมือทำมาหากินได้
3. นโยบายเฉพาะสำหรับแต่ละกลุ่ม เช่น ภาคการเกษตร หอการค้าฯ ได้มีการก็มีการทำศูนย์ประสานงานสินค้าภาคเกษตรที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมโยงความต้องการของตลาดกับสินค้าภาคเกษตรที่มีอยู่ในแต่ละพื้นที่ ขณะเดียวกัน ได้มีการหารือและเตรียมข้อเสนอที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาสินค้าต่างประเทศทุ่มตลาดเข้ามายังประเทศไทย การส่งเสริม Green Industry ที่ไม่ใช่เฉพาะสินค้า แต่รวมถึงภาคการค้าและบริการด้วย โดยเฉพาะ บริษัทใหญ่ที่มีความพร้อมสามารถเข้าไปช่วยผู้ประกอบการที่อยู่ใน supply chain ให้สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนได้
รู้จัก "รัฐจ่าย" แอปพลิเคชันตรวจสอบสิทธิรับเงิน 10,000 บาท
ตรวจสอบสิทธิกลุ่มเปราะบาง-ผู้พิการ รับเงิน 10,000 บาท ดิจิทัลวอลเล็ต
สงครามอิสราเอล-ฮิซบอลเลาะห์ เข้าสู่โหมด “ชำระแค้น”
ด้าน ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ คนที่ 1 หอการค้าไทยและ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กรณีค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากขึ้น 8-10 % อย่างรวดเร็วและรุนแรงในระยะสั้น ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.00 บาท (+-) ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก และภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ เมื่อเงินบาทแข็งค่าขึ้น ค่าใช้จ่ายสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติก็จะสูงขึ้นตาม ทำให้การท่องเที่ยวไทยกลายเป็นจุดหมายที่มีราคาสูง และนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาประเทศไทยจะจับจ่ายใช้สอยน้อยลง เพราะรู้สึกว่าสินค้าและบริการแพงขึ้นกว่าปกติและอาจจะเลือกไปยังประเทศที่มีค่าเงินอ่อนกว่าและคุ้มค่ามากกว่า
ซึ่งการที่ค่าเงินบาทผันผวนจะส่งผลกระทบใน 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่
1. ขีดความสามารถในการแข่งขัน ค่าเงินบาทที่ผันผวนจะทำให้ลดขีดความสามารถในการส่งออกเป็นมาก โดยเฉพาะต้นทุนวัตถุดิบหรือปัจจัยการผลิตที่ใช้ในอุตสาหกรรมเกษตรและประมงจะปรับสูงขึ้นทันที 10 % ส่งผลให้ผู้ผลิตและแปรรูปในไทยอาจต้องปรับราคาสินค้าให้สูงขึ้นตาม ซึ่งจะทำให้ลดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก เนื่องจากผู้ซื้อจะหันไปหาสินค้าจากประเทศอื่นที่มีราคาถูกกว่า
2. การวางแผนการผลิตและการตลาด หากค่าเงินมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้ผลิตและแปรรูปอาจไม่สามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การตลาดหรือการผลิตได้ทันเวลา ทำให้ไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. ความไม่แน่นอนและเพิ่มความเสี่ยงทางธุรกิจส่งออกเนื่องจากความผันผวนของค่าเงิน ความผันผวนของค่าเงินสร้างความไม่แน่นอนในตลาด การลงทุนและการวางแผนธุรกิจจะยากขึ้น ซึ่งอาจทำให้ผู้ประกอบการไม่กล้าลงทุนในโครงการใหม่หรือขยายตลาด ส่งผลให้ขาดโอกาสในการพัฒนาและเติบโตในอุตสาหกรรมของไทยอย่างเหมาะสม

ดังนั้น หอการค้าฯ จึงขอให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่กำกับดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ ไม่ผันผวนอย่างรุนแรงจนเกินไป และดูแลค่าเงินบาทให้เหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจทั้งภายในและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคา พร้อมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการภายในประเทศ มีการปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์โลกปัจจุบัน
นอกจากนี้ สำหรับเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ดร.พจน์ มองว่า หอการค้าไทยฯ ยังย้ำจุดยืนเดิม คือ จะยืดหลักเดียวกันกับมติของไตรภาคีที่ต้องการให้พิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นรายจังหวัดตามแต่ละพื้นที่ ซึ่งไม่ใช่เท่ากันทั่งประเทศ เพราะหากปรับขึ้นเท่ากัน ก็จะทำให้ผู้ประกอบการที่ยังไม่ฟื้นตัวเดินหน้าต่อไม่ไหวและอาจเลิกประกอบกิจการได้

ขณะที่ รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า สถานการณ์เศรษฐกิจโลก โดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้มีการปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรกลงแบบเร็ว-แรงที่ 0.50% จากอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 5.25-5.50% สู่ 4.75-5.00% ซึ่งหอการค้าฯ เห็นว่าน่าจะถึงเวลาที่ กนง. ควรพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อให้อัตราแลกเปลี่ยนของเงินบาทไม่แข็งค่าจนเกินไป ซึ่งจะช่วยเอื้อให้ผู้ประกอบการภาคการส่งออก และภาคท่องเที่ยวและบริการ สามารถที่แข่งขันได้ดียิ่งขึ้น
พร้อมประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปี 2567 กรณีนับรวมโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่จะมีส่วนช่วยกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ในช่วง Q4 ของปีนี้ให้เติบโตราว 3.8 – 4.3% โดยทั้งปีจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เพิ่มขึ้นอีก 0.2 - 0.3% และทำให้ภาพรวม GDP ในปีนี้เติบโตจากเดิมที่คาดไว้ 2.5% เป็น 2.6 - 2.8%
รัฐบาลควรเร่งทำให้อัตราการแลกเปลี่ยนเงินระหว่างประเทศอยู่ในระดับที่เหมาะสม เพราะตอนนี้เงินบาทแข็งค่า ส่งผลกระทบการส่งออกสินค้าไทย คาดการณ์ว่า การที่เงินบาทแข็งค่าขึ้น ตั้งแต่ช่วงเดือน พ.ค.- ธ.ค. 67 คาดว่า จะส่งผลกระทบเม็ดเงินของภาคส่งออก และภาคท่องเที่ยว ทำให้สูญเสียรายได้ประมาณ 1.3 แสนล้านบาท