ค่าเงินบาทเปิด ที่ระดับ 33.73 บาทต่อดอลลาร์ “ทรงตัวไม่เปลี่ยนแปลง”
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.73 บาทต่อดอลลาร์ “ทรงตัวไม่เปลี่ยนแปลง” โดยในช่วงค่ำคืนที่ผ่านมามีจังหวะอ่อนค่าลงบ้าง ตามการทยอยแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.73 บาทต่อดอลลาร์ “ทรงตัวไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) เคลื่อนไหวในกรอบ Sideways (แกว่งตัวในกรอบ 33.69-33.83 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะอ่อนค่าลงบ้าง ตามการทยอยแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์

หนุนโดยการอ่อนค่าลงของบรรดาสกุลเงินฝั่งยุโรป อย่างเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) หลังธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) มีมติ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 4.50% ตามคาด ทว่า BOE ได้ส่งสัญญาณเตือนว่า แนวโน้มเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง จากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ
นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนบ้าง จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจส่วนใหญ่ที่ออกมาดีกว่าคาด อาทิ ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ที่ระดับ 2.23 แสนราย และดัชนีภาคการผลิตโดย เฟด สาขา Philadelphia ที่สูงขึ้นแตะระดับ 12.5 จุด นอกจากนี้ เงินบาทยังถูกกดดันเพิ่มเติมจากการปรับตัวลงของราคาทองคำ (XAUUSD) ก่อนที่เงินบาทจะพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้าง หลังผู้เล่นในตลาดบางส่วนยังคงรอทยอยขายเงินดอลลาร์
อีกทั้ง รายงานดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ (Leading Indicator) โดย Conference Board ก็ปรับตัวลดลง -0.3% แย่กว่าที่ตลาดคาด และทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างยังคงกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ กดดันให้เงินดอลลาร์ย่อตัวลงบ้าง ขณะเดียวกัน ราคาทองคำก็สามารถรีบาวด์กลับมาแกว่งตัวแถวโซน 3,040 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้อีกครั้ง ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ และสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง รวมถึงสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่กลับมาร้อนแรงขึ้น
แนวโน้มของค่าเงินบาท
มองว่า เงินบาท (USDTHB) อาจแกว่งตัวในกรอบ Sideways ไปก่อน เพื่อรอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม ซึ่งในช่วงระหว่างวัน เรามองว่า ควรจับตา การแถลงข่าวภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย ในช่วง 10.00 น. ซึ่งทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะเป็นผู้แถลงข่าว ทำให้เรามองว่า การแถลงข่าวดังกล่าวอาจมีประเด็นที่น่าสนใจ เช่น รายงานยอดการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีขึ้นต่อเนื่อง หรือดุลการค้าที่เกินดุลกว่าคาดได้ ซึ่งหากคาดการณ์ดังกล่าวเป็นจริง ก็อาจเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้บ้าง แต่เรามองว่า การแข็งค่าของเงินบาทก็อาจเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากราคาทองคำยังมีทิศทางที่ไม่แน่นอน และเริ่มเสี่ยงเผชิญแรงขายเพิ่มเติมจากบรรดาผู้เล่นในตลาด ซึ่งหากราคาทองคำย่อตัวลงบ้าง หรืออยู่ในช่วงการพักฐาน ก็อาจกดดันให้เงินบาทมีจังหวะอ่อนค่าลงบ้าง ดังที่ได้เห็นในช่วงสัปดาห์นี้ โดยเราประเมินว่า เงินบาทยังพอมีโซนแนวรับแถว 33.60-33.70 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่โซนแนวต้านก็อาจติดอยู่ในช่วง 33.80-33.90 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเราเห็นความต้องการทยอยขายเงินดอลลาร์จากบรรดาผู้เล่นในตลาดอยู่บ้างในช่วงนี้
ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้
มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.65-33.85 บาท/ดอลลาร์
