สคฝ. เผย ปี 67 คนไทยมีเงินฝาก 16.32 ล้านล้านบาท โตขึ้น 1.40%
สคฝ. เผย ปี 67 คนไทยมีเงินฝาก 16.32 ล้านล้านบาท โตขึ้น 1.40% คาดปี 68 จะเพิ่มขึ้น 1-3% ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่โตช้า
นายมหัทธนะ อัมพรพิสิฏฐ์ ผู้อำนวยการ สถาบันคุ้มครองเงินฝาก หรือ สคฝ. (DPA) เปิดเผย สถิติเงินฝากของประชาชน ณ สิ้นปี 2567 พบว่า คนไทยมีเงินฝากรวมกว่า 16.32 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.40% หรือ 0.22 ล้านล้านบาท จากปีก่อน โดย ในจำนวนนี้พบว่า อัตราการเติบโตของเงินฝากในกลุ่มผู้ฝากเงิน ที่มีเงินฝากน้อยกว่า 50,000 บาท มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นสูงที่สุดถึง 4.84% ซึ่งมีปัจจัยการเพิ่มขึ้นของเงินฝาก มาจากโครงการช่วยเหลือทางการเงินของภาครัฐ

ขณะที่ผู้ฝากกลุ่มที่มีเงินฝากมากกว่า 1 ล้านบาท อยู่ที่ราว 0.5 % ในส่วนของผู้ฝากกลุ่มที่มีเงินฝากมากกว่า 100 ล้านบาท พบว่า มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 2.70% โดย สคฝ. คาดว่าเป็นการเพิ่มขึ้นจากการฝากเงินในบัญชีประเภทเงินฝากประจำ ที่เป็นผลมาจากอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับที่สูง รวมถึงการนำเงินเก็บมาพักเพื่อรอความชัดเจนของสถานการณ์เศรษฐกิจ จึงส่งผลให้อัตราการเติบโตของเงินฝากกลุ่มนี้ยังคงเป็นบวก เมื่อเทียบกับปี 2566
สำหรับ แนวโน้มการเติบโตของเงินฝาก ในปี 2568 สคฝ. ได้คาดว่า จะอยู่ระหว่าง1-3% หรือราว 16.5 ล้านล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นช้า เนื่องจากยังมีปัจจัยกระทบที่ไม่แน่นอนจากทั้งภายในและนอก อย่างไรก็ตามการคาดการณ์ดังกล่าวเป็นเพียง การนำข้อมูลที่เก็บได้มาพิจารณาเท่านั้น ซึ่งตามความเป็นจริงประชาชนอาจจะนำเงินไปพักในสินทรัพย์ในอื่นๆด้วย ที่นอกเหนือจากบัญชีเงินฝาก หรือ บัญชีออมทรัพย์
โดยในปี 2567 มีบัญชีเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครอง 99.25 ล้านราย คิดเป็นอัตราเติบโต 4.75% หรือ 4.50 ล้านราย และในปัจจุบัน ผู้ฝากที่ได้รับความคุ้มครองเต็มจำนวน ภายใต้วงเงินคุ้มครองไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อ 1 รายผู้ฝากต่อ 1 สถาบันการเงิน อยู่ที่ 97.46 ล้านราย คิดเป็นอัตราส่วนร้อยละ 98.20 ของผู้ฝากที่ได้รับความคุ้มครองทั้งระบบ ส่งผลให้อันดับความสามารถในการคุ้มครองผู้ฝากส่วนใหญ่ของประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 2 ในเอเชียและอันดับที่ 31 ของโลก
นายมหัทธนะ กล่าวว่า จากสาเหตุดังกล่าว จึงทำให้ สคฝ. ต้องยกระดับการดำเนินงานในปี 2568 เพื่อให้ มีความพร้อมในการเป็นองค์กรคุ้มครอง เงินฝากที่น่าเชื่อถือและทันสมัยเพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้ฝากและประชาชนเพิ่มขึ้นจึงได้ปรับกลยุทธ์ การดำเนินงานภายใต้แนวคิด Ready &Prompt ผ่าน 5 แนวทางหลัก มุ่งสู่ยุทธศาสตร์ระยะที่ 4 (ปี2566-2570) โดยจะเน้น การพัฒนาศักยภาพองค์กรทั้งในด้านการจ่ายเงินคุ้มครองและการชำระบัญชีและบริหารสินทรัพย์เพื่อให้ผู้ฝากเงินได้รับการคุ้มครองอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เช่น ตั้งเป้าการจ่ายเงินคุ้มครอง ให้กับผู้ฝากส่วนใหญ่ภายใน 7 วันทำการ สำหรับผู้ฝาก ที่ผูกบัญชีพร้อมเพย์กับหมายเลขบัตรประชาชน เป็นต้น
นอกจากแนวทางการดำเนินงาน ภายใต้กลยุทธ์ดังกล่าว สคฝ. จะพัฒนาการบริหารเงินกองทุนคุ้มครองเงินฝากให้มีการเติบโต มั่นคง และปลอดภัย โดยมี เป้าหมายรายได้ในปี 2568 อยู่ที่ 2.20% ซึ่งปัจจุบันมูลค่าเงินกองทุนฯอยู่ที่ 146,466.49 ล้านบาท โดยจะเน้นการลงทุนใน หลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง 100% เช่น พันธบัตรรัฐบาล ตั๋วเงินคลัง เงินฝาก/ตราสารหนี้ ธปท. เงินฝาก SFI เป็นต้น
นอกจากนี้ นายมหัทธนะ ยังได้ระบุถึง การจัดตั้งธนาคารพาณิชย์หลายสาขา (virtual bank) ของ ธปท. ด้วยว่า หากมีการจัดตั้งสำเร็จ สคฝ. ก็คงจะต้อง ยกระดับมาตรการความพร้อมในระบบ และการดำเนินงาน ให้เข้มงวดมากกว่าการดูแล ธนาคารปกติ เพราะต้องยอมรับว่า virtual bank ก็มีความเสี่ยงที่สูงกว่า
ขณะที่ความคิดเห็นของ สคฝ. ในกรณีที่รัฐบาลจะรับซื้อหนี้ของประชาชน นั้น นายมหัทธนะ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าขณะนี้รูปแบบของมาตรการยังออกมาไม่ชัดเจนซึ่งต้องรอดูมาตรการก่อนว่าจะออกมาในรูปแบบไหน และรัฐบาลจะดำเนินการอย่างไร แต่จะส่งผลให้เงินฝากของประชาชนในกลุ่มเปราะบาง ที่มีเงินฝากต่ำกว่า 50,000 บาทเพิ่มขึ้นหรือไม่นั้น ก็ต้องยอมรับว่าหากมีการรับซื้อหนี้ ของประชาชนในกลุ่มนี้จริง ก็อาจจะทำให้ ประชาชนกลุ่มดังกล่าว มีสัดส่วน เงินเก็บที่เพิ่มขึ้นได้