Q1/68 ปตท.กำไรลด 20% ลุย ปรับเป้า EBITDA ปี 68 เพิ่ม 2 หมื่นล้าน
ปตท. เปิดกำไร ไตรมาส 1 ปี 68 ลดลง 20% จากสงครามการค้า เผย หนุนแผนรัฐเจรจาลดภาษีทรัมป์ พร้อมปรับเป้า EBITDA ปี 68 เพิ่ม 2 หมื่นล้าน
นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. เปิดเผยว่า ผลประกอบการ ไตรมาส 1 ปี 2568 มีกำไรสุทธิลดลง 20% หรือ ประมาณ 4,600 ล้านบาท หลังตัดรายการพิเศษ จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีปัจจัยจาก นโยบายด้านพลังงาน และการประกาศมาตรการตอบโต้ทางภาษีของสหรัฐ ที่ส่งผลให้ราคาพลังงานโลกปรับตัวลดลง ส่วนกำไรสุทธิในไตรมาส 1 ปี 2568 อยู่ที่ 23,315 ล้านบาท จากผลการดำเนินงานการบริหารใน 2 เรื่องหลัก

ได้แก่ 1.เน้นธุรกิจหลัก Hydrocarbon และ 2.ปรับพอร์ตธุรกิจ Non- Hydrocarbon เช่น มีการปรับธุรกิจหลัก อย่างธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ธุรกิจโรงกลั่นและปิโตรเคมี ให้มีความแข็งแรงมากขึ้น และสามารถสร้างกำไรจากการผลิต และลงทุนในต่างประเทศ ปรับพอร์ตการลงทุนในกลุ่มธุรกิจที่ไม่สร้างกำไร เน้นธุรกิจหลักของปตท. ซึ่งสามารถดึงทุนกลับมาได้ประมาณ 11,000 ล้านบาท ปรับโครงสร้างธุรกิจลดสัดส่วนการถือหุ้นใน Horizon + โดยมีการลดทุนชำระแล้วประมาณ 4,100 ล้านบาท
"เรามีกำไรประมาณ 23,000 ล้านบาท ถ้าเทียบกับไตรมาส 1 ของปีที่แล้วก็ถือว่าใกล้เคียง แต่ในปีนี้ราคาน้ำมันที่ลดลง และเรื่องของ Margin ต่างๆของโรงกลั่นที่ลดลง ตามสภาวะเศรษฐกิจของโลก ก็ทำให้กำไรในส่วนของการสำรวจและผลิตน้ำมันต่างๆลดลง แต่ก็จะมีการเพิ่มขึ้นจากธุรกิจเทรดดิ้ง และธุรกิจอื่นๆบางตัว" นายคงกระพัน กล่าว
ขณะที่แผนการรับมือกับเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มถดถอย จากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นนโยบายขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ในช่วงปลายไตรมาสที่ 1 ปริมาณการผลิตน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นในตลาดโลก และความต้องการใช้พลังงานที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ปตท. มีแผนการรับมืออย่างไร นายคงกระพัน ระบุว่า ขณะนี้ ปตท. ไม่ได้มองเฉพาะแค่เรื่องสงครามการค้า แต่เรื่องนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจของโลกทดถอยอย่างมาก ซึ่งเวลาเศรษฐกิจโลกทดถอยก็จะส่งผลให้ ราคาผลิตภัณฑ์ และ ราคา Margin ต่างๆ ลดลงตามไปด้วย
ปตท. จึงได้ดำเนินเชิงรุกจัดตั้งวอร์รูม เตรียมแผนรับมือเศรษฐกิจถดถอยครอบคลุมการดำเนินงานใน 5 ด้านคือ
1.ทบทวนกลยุทธ์เดิมพร้อมพิจารณาความท้าทายใหม่ที่จะเข้ามากระทบ ซึ่งพบว่ากลยุทธ์กลุ่ม ปตท. มาถูกทาง เหมาะสมสามารถรับมือกับปัจจัยภายนอกและความท้าทายจากเรื่องสงครามการค้าได้ เพียงแต่บางเรื่องต้องเร่งให้เร็วขึ้น เช่น การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน และยกระดับความร่วมมือภายในกลุ่ม 2.รักษาวินัยการเงิน บริหารต้นทุนการเงิน เสริมสภาพคล่องกระแสเงินสด รักษาระดับ credit rating 3.รักษา supply chain และ คู่ค้า-ลูกค้า พร้อมเร่งดำเนินโครงการเพื่อสร้างรายได้เพิ่มให้กับบริษัท 4.ทบทวนความเป็นไปได้ของโครงการและการลงทุน โดยต้องพิจารณาการลงทุนอย่างรอบคอบ รวมถึงการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน 5.สื่อสารและสร้างความเข้าใจในการดำเนินธุรกิจแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้ทั่วถึง
นายคงกระพัน ยังระบุถึงแผนการเจรจาการค้าทั้ง 5 ข้อ กับสหรัฐฯว่า ปตท. พร้อม สนับสนุนแผนเจรจาของรัฐบาล ในการต่อรองกำแพงภาษีของประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดย ปตท. ได้ดำเนินการประมาณ 2-3 โครงการ ได้แก่ นำเข้าก๊าซธรรมชาติ LNG ประมาณ 1 ล้านตัน มูลค่า 7 พันล้านเหรียญสหรัฐ เป็นระยะเวลา 15 ปี ขณะเดียวกันบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ได้ทำสัญญาซื้อขายปิโตรเคมี (อีเทน) จำนวน 400,000 ตัน มูลค่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ระยะเวลา 15 ปี
ส่วน โครงการ Alaska LNG ปตท.มองว่ามีความน่าสนใจ เนื่องจากระยะทางใกล้กว่าแหล่งอื่นในสหรัฐฯ มีความยืดหยุ่น ทันสมัย ดังนั้น ปตท.อาจจะเข้าไปซื้อแต่จะไม่เข้าไปลงทุน ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กลุ่มปตท. มีความร่วมมือกับสหรัฐในหลายโครงการ มีการลงทุนไปแล้วกว่าพันล้านเหรียญสหรัฐ เช่น โครงการในรัฐเท็กซัส อะลาสก้า มีการทำสัญญาซื้อขายต่างๆ รวมถึงการซื้อน้ำมันดิบ ประมาณ 10%อีกด้วย
นอกจากนี้ในการแถลงผลการดำเนินงาน ของ ปตท. ในตรมาส 1 ปี 68 นายคงกระพัน ยังได้ระบุด้วยว่า ถึงแม้ ปตท. ยังคงเผชิญกับความท้าทาย แต่ในปี 2568 ปตท.ได้ตั้งเป้ากำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เพิ่มขึ้นประมาณ 20,000 ล้านบาท ผ่านการปรับ Asset Portfolio เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความมั่นคงในระยะยาว แสวงหาโอกาสเพื่อเพิ่มกำไร กว่า 8,000 ล้านบาท ให้ความสำคัญกับการแปลงทรัพย์สินเป็นกำไรด้วย เนื่องจากในกลุ่มมีทรัพย์สินที่อาจจะทำกำไรได้ไม่เหมาะสมก็นำส่วนนี้มาแปลงเป็นทุนประมาณ 15,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตามสภาวะเตลาดในปี 2568 มองว่าเศรษฐกิจยังอยู่ในช่วงงชะลอตัว ยังมีความเสี่ยงจากการเจรจาการค้า ดังนั้นปตท.จึงเตรียมรับมือด้านกระแสเงินสด รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพกำไรต่างๆ
ขณะเดียวกัน ปตท. ยังเดินหน้าลดต้นทุนค่าใช้จ่ายโดยจะทยอยรับรู้จากโครงการกลุ่มปตท. เช่น โครงการ MissionX ยกระดับ Operational Excellence เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างมูลค่าทั้งกลุ่ม ปตท. ประมาณ 30,000 ล้านบาทต่อปี ภายในปี 2027 มีแผนงานชัดเจนและเป้าหมายเป็นรูปธรรมซึ่งเริ่มดำเนินการแล้ว โครงการ Axis นำเทคโนโลยีดิจิทัลและ AI มาเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ซึ่งจะสร้างมูลค่าได้อีก 11,000 ล้านบาทต่อปี ภายในปี 2029
สำหรับความคืบหน้าการหาพาร์ตเนอร์ ปิโตรเคมี - โรงกลั่น ยังมองว่าธุรกิจดังกล่าวเป็นธุรกิจเรือธงของ ปตท. และยังต้องถือหุ้นใหญ่อยู่ โดยส่วนส่วนผู้ที่เข้ามาร่วมพัฒราจะต้องมีความแข็งแรงในหลาย ๆ เรื่อง ซึ่งการหาพาร์ตเนอร์กลุ่มโรงกลั่นอยู่ระหว่างการเจรจาเรียบร้อยแล้ว คาดว่าในปีนี้สามารถชี้แจงหรือเห็นความชัดเจนของรายชื่อพาร์ตเนอร์ได้ ขณะที่บริษัท อินโนบิก(เอเชีย) จำกัด ปัจจุบันก็มีการเจรจากันอยู่ และมีความก้าวหน้าเช่นกัน โดยส่วนตัวบริษัทก็มีการออกไปหาพาทเนอร์ที่มีศักยภาพในแวดวงเดียวกัน