EGCO มั่นใจปี 65 รายได้โต จ่อเดินเครื่องโรงไฟฟ้าน้ำเทิน 1 - โรงไฟฟ้าหยุนหลิน
“เอ็กโก กรุ๊ป” คาดผลประกอบการปีนี้เพิ่มขึ้น รับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้า 2 โครงการ และโครงขยายท่อส่งน้ำมัน มองราคาก๊าซฯพุ่งกระทบน้อย พร้อมวางงบลงทุน 30,000 ล้านบาท ตั้งเป้าพัฒนาโครงการ และควบรวมกิจการ
EGCO ทุ่ม 30,000 ล้าน ลุยลงทุนพลังงานหมุนเวียน-ไฮโดรเจน
EGCO ปี 64 กำไรวูบ 53% เหลือ 4,104 ล้านบาท ปันผล 3.25 บาท/หุ้น
เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2565 นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป หรือ EGCO เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 1 ปี 2565 เอ็กโก กรุ๊ป มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 4,115 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,530 ล้านบาท หรือ 603% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
โดยปัจจัยหลักมาจากผลประกอบการของโรงไฟฟ้าในต่างประเทศถึง 78% ส่วนใหญ่เพิ่มจากโรงไฟฟ้า “พาจู อีเอส” ประเทศเกาหลีใต้ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจของประเทศเกาหลีใต้เริ่มฟื้นตัว ทำให้มีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น
ขณะเดียวกันมีการบริหารจัดการต้นทุนเชื้อเพลิงได้ดีกว่าบริษัทคู่แข่งอื่น ๆ ทำให้มีสัดส่วนมาร์จิ้นสูง รวมทั้งการรับรู้รายได้จากการลงทุนในโรงไฟฟ้า “ลินเดน โคเจน” และ “เอเพ็กซ์ คลีนเอ็นเนอร์ยี โฮลดิ้ง” ในประเทศสหรัฐอเมริกา
ขณะนี้บริษัทฯ มีกำลังการผลิตไฟฟ้า ปี 2564 อยู่ที่ 5,646 เมกะวัตต์ ในปี 65, 66, 67 จะทยอยเพิ่มอีก 233 เมกะวัตต์, 200 เมกะวัตต์ และ 347 เมกะวัตต์ ตามลำดับ โดยบริษัทฯจะพยายามเพิ่มกำลังการผลิตจากการลงทุนให้ถึงประมาณ 1,000 เมกะวัตต์ในปีนี้
ความก้าวหน้าของโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ
โรงไฟฟ้าน้ำเทิน 1(Nam Theun1) ใน สปป.ลาว การก่อสร้างเกือบแล้วเสร็จ 100% เหลือเพียงรอดับระน้ำเพิ่มสูงขึ้น ก็จะสามารถทำสอบ Full Load ได้ คาดภายในไตรมาสที่ 3 ปี 2565 และจะเริ่มจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ (COD) ได้
โรงไฟฟ้าพลังงานลมหยุนหลิน (Yunlin Holding GmbH) ในประเทศไต้หวัน ปลายปี 2564 เริ่มจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ (COD) แล้วจำนวน 9 ต้น โดยคาดว่าปีนี้จจะมีเพิ่มอีก 40 ต้น และปี 2566 จะเริ่มจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ ได้ทั้งหมด 80 ต้น
โรงไฟฟ้าเอ็กโก โคเจน (EGCO Cogen Replacemnt) ในสหรัฐอเมริกา เริ่มดำเนินการก่อสร้างแล้ว คาดว่าปี 2567 จะสามารถเเริ่มจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ได้ตามแผน
สำหรับแนวโน้มผลประกอบการในปี 2565 ประเมินว่าจะสูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากเริ่มรับรู้รายได้ที่เข้ามาปลายปี 2564 ของโครงการ ลินเดน โคเจน (Linden cogen) และ APEX รวมถึง โรงไฟฟ้าน้ำเทิน 1 ที่จะเริ่มจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ (COD) ปีนี้ โครงการขยายระบบขนส่งน้ำมันทางท่อ บจ.ไทย ไปป์ไลน์ เน็ตเวิร์ค (TPN) และโรงไฟฟ้าพลังงานลมหยุนหลิน จะทยอยเริ่มจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ในปีนี้เช่นเดียวกัน
ขณะที่งบลงทุน 30,000 ล้านบาทในปีนี้ แบ่งเป็น โครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและพัฒนา จำนวน 8,000 ล้านบาท โครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและพัฒนาไปแล้ว จำนวน 5,400 บาท และโครงการลงทุนใหม่ในอนาคตลักษณะ M&A จำนวน 22,000 ล้านบาท
“เป็นการลงทุนโรงไฟฟ้า และพาวเวอร์เจเนอเรชั่น รวมถึงธุรกิจอื่น ๆ ด้วย ซึ่งบริษัทฯ พยายามแบ่งสัดส่วนา เช่น ธุรกิจอื่นประมาณ 6,000 ล้าน ธุรกิจโรงไฟฟ้าประมาณ 24,000 ล้านบาท อย่างก็ไรก็ตาม ต้องรอดูว่าจะสำเร็จหรือไม่ คาดว่าจะมีทั้งเป็น M&A และพัฒนาโครงการ” นายเทพรัตน์ กล่าว
EGCO มั่นใจก๊าซฯราคาสูง กระทบโรงไฟฟ้าจำกัด
กรณีราคาก๊าซธรรมชาติที่มีราคาสูงขึ้น โรงไฟฟ้าของบริษัทฯ ได้รับผลกระทบจากเรื่องดังกล่าวแตกต่างกัน เช่น โรงไฟฟ้า IPP ในประเทศไทย จะไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด เนื่องจาก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะรับผิดชอบราคาค่าก๊าซฯตามที่เกิดจริง โดยแสดงต้นทุนจริงที่ซื้อจากปตท. ส่วนโรงไฟฟ้า SPP ในประเทศไทย รัฐบาลจะชดเชยผ่านการปรับค่า Ft ซึ่งจะปรับขึ้นช้ากว่าราคาก๊าซ ดังนั้นโรงไฟฟ้า SPP ที่ขายให้กับลูกค้าอุตสาหกรรม จะต้องแบกรับต้นทุนไปชั่วคราว จนกว่าค่า Ft จะปรับขึ้นมา
ด้านโรงไฟฟ้าต่างประเทศ ที่อยู่ใน Power Pool เช่น โรงไฟฟ้าพาจู อีเอส (ในเกาหลี) และ โรงไฟฟ้าลินเดน โคเจน (ในสหรัฐฯ) จะไม่ได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อ เพราะค่าไฟฟ้าสามารถปรับขึ้นได้ตามต้นทุนจริง
เชื่อ "ไฮโดรเจน" เป็นพลังงานทางเลือกใหม่ ชี้ "ลม-แดด" ยังไร้ความเสถียรภาพ
แนวโน้มพลังงานหมุนเวียนโลกที่ขยายตัว นายเทพรัตน์ มองว่า ไฟฟ้าที่ใช้อยู่ในปัจุบันต้องการความเสถียรภาพ ราคาอยู่ในระดับจับต้องและแข่งขันได้ ซึ่งโลกมีทิศทางที่ชัดเจนว่าต้องการพลังงานหมุนเวียน และพลังงานที่เป็นที่พูดถึงมากสุด คือ พลังงานลม กับแดด ถึงแม้จะมีราคาที่ลดลงแล้ว แต่เสถียรภาพยังไม่แน่นอน และยังไม่สามารถมาเป็นพลังงานหลักได้เร็ววันนี้ เพราะต้องรอแบตเตอรี่ที่จะเก็บบรรจุไว้ได้
“ทุกวันนี้แบตเตอรี่มีความต้องการตลาดสูง เป็นส่วนประกอบสำคัญในรถ EV ตัววัตถุดิบก็มีจำกัด เชื่อว่าราคายังไม่ลดลงเร็ววันนี้ อย่างไรก็ตาม พลังงานหมุนเวียนขยายตัวแน่นอน แต่ยังไม่สามารถนำมาเป็นพลังงานหลักได้ ดังนั้นพลังงานหลักตอนนี้ คือ ฟอสซิล ยังคงมีความจำเป็น รวมถึงบริษัทกำลังมองหาพลังงานอื่นอีก คือ ไฮโดรเจน ในช่วงแรกดึงจากฟอสซิล และแคปคาร์บอนไดออกไซด์ได้ สุดท้ายดึงไฮโดรเจนจากน้ำ ซึ่งเป็นโครงการที่รองรับอนาคตไว้ล่วงหน้าเลย เชื่อมั่นว่าพลังงานไฮโดรเจน จะเป็นตัวเลือกสำคัญในการเป็นพลังงานหลักได้” นายเทพรัตน์ กล่าว