บาทเช้านี้ “อ่อนค่าลง” เปิดที่ 33.00 บาทต่อดอลลาร์
แนวโน้มบาทยังอ่อนค่าลง จากดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งขึ้น และโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว เปิดวันนี้ 33.00 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.85-33.15 บาท/ดอลลาร์
“อิออน” เตรียมขึ้นค่าจ้างพนักงานพาร์ตไทม์ในร้านค้า 7%
อัปเดต! บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เดือน ก.พ. 66 จ่ายอะไรบ้าง?
จากแนวโน้มค่าเงินบาท มองว่า ปัจจัยกดดันเงินบาทให้อ่อนค่าลงนับตั้งแต่ช่วงปิดตลาดวันก่อนหน้า คือ การพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว แต่ค่าเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวใกล้โซนแนวต้านแรก แถว 33.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นโซนที่ผู้ส่งออกบางส่วนก็รอทยอยขายเงินดอลลาร์
ทำให้ ประเมินว่า เงินบาทมีแนวโน้มผันผวน sideways ใกล้โซนแนวต้าน 33.00 บาทต่อดอลลาร์ (ประเมินว่า เงินบาทจะยังไม่อ่อนค่าทะลุแนวต้านสำคัญที่ 33.20 บาทต่อดอลลาร์) นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดอาจรอประเมิน ข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ก่อนที่จะปรับสถานะถือครองที่ชัดเจน
ควรระวังความผันผวนที่จะกลับมา หากยอดการจ้างงานสหรัฐฯ รวมถึงการเติบโตของค่าจ้างออกมาสูงกว่าที่ตลาดคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดอาจกังวลว่า ภาพตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่ง อาจส่งผลให้เงินเฟ้อชะลอลงช้ากว่าคาด และกดดันให้ เฟดจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ได้ ซึ่งในกรณีดังกล่าว อาจเห็นเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้านสำคัญที่ประเมินไว้ได้
ผู้เล่นต่างชาติปรับมุมมองต่อค่าเงินบาทในระยะสั้น หลังเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งอาจทำให้ผู้เล่นต่างชาติบางส่วนรอจังหวะเงินบาทแข็งค่าในการทยอยขายทำกำไร Short USDTHB หรือบางส่วนอาจ เพิ่มสถานะ Long USDTHB ทำให้เราคงมองว่า เงินบาทอาจผ่านจุดแข็งค่าสุด (32.50 บาทต่อดอลลาร์) ไปแล้วในระยะสั้นนี้
ส่วนตลาดต่างประเทศ
ตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 101.7 จุด หลังสกุลเงินหลัก ทั้ง เงินยูโร (EUR) และเงินปอนด์ (GBP) ต่างปรับตัวอ่อนค่าลง จากแรงขายทำกำไรของผู้เล่นในตลาด ตามมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คาดหวังว่า ทั้ง ECB และ BOE อาจใกล้จะหยุดการขึ้นดอกเบี้ยมากขึ้น แต่จับตารายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในวันศุกร์ ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้ตลาดค่าเงิน โดยเฉพาะเงินดอลลาร์ผันผวนได้
ตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นแรง +1.35% หลังธนาคารกลางยุโรป (ECB) และ ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย +0.50% สู่ระดับ 2.50% และ 4.00% ตามลำดับ แต่ผู้เล่นในตลาดต่างประเมินว่า ทั้ง ECB และ ECB อาจใกล้ถึงจุดยุติการขึ้นดอกเบี้ยได้ในการประชุมครั้งถัดไปในเดือนมีนาคม
ขณะที่ฝ่่ายธุรกิจตลาดเงินและธุรกรรมระหว่างประเทศ ทีเอ็มบีธนชาต (ttb) เปิดเผยว่า ดอลลาร์สหรัฐฟื้นตัวเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังจากอ่อนค่าเนื่องจากนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดแสดงความเห็นในการแถลงข่าวหลังการประชุมว่า ภาวะเงินเฟ้อที่ลดลง (Disinflationary) ในสหรัฐเริ่มปรากฏให้เห็นแล้วในขณะนี้ ซึ่งนักลงทุนมองว่าเป็นการส่งสัญญาณชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ด้านธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 4.0% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2551 ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมเมื่อวานนี้ตามคาด นอกจากนี้ ECB ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ และระบุอย่างชัดเจนว่า ECB จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.50% ในการประชุมเดือนมี.ค.
แนะนำ
- ผู้นำเข้า แนะนำควรซื้อเงินตราต่างประเทศเพื่อป้องกันความเสี่ยง
- ผู้ส่งออก ขายเงินตราต่างประเทศที่ระดับเหนือ 33.00 บาท/ดอลลาร์