ต่างชาติเทขายหุ้นไทย 9.7 พันล้าน โยกเข้าพันธบัตร หลบวิกฤตธนาคาร
การปิดธนาคาร 3 แห่งในสหรัฐฯ และปัญหาธนาคารยักษ์ใหญ่ในสวิตเซอร์แลนด์ที่ขาดสภาพคล่อง ได้สร้างความผันผวนให้กับตลาดทุนทั่วโลกในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะต่างชาติเทขายหุ้นไทยอย่างหนัก 9.7 พันล้านบาท แต่กลับพบว่าโยกเข้าซื้อตลาดพันธบัตรไทยมากถึง 7 พันล้านบาท โบรกฯชี้สัปดาห์หน้าเคลี่อนไหวกรอบ 1,535 - 1,585 จุด จับตาประเด็นสำคัญ เฟด ประชุม 21-22 มี.ค. ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย
ตลาดเงิน-ตลาดทุน-ตลาดหุ้น ตอบชัด วิกฤตแบงก์ต่างประเทศ “ไม่กระทบกับแบงก์ไทย”
ทองพุ่งรวดเดียว 500 บาท! วิกฤตธนาคาร-ดอลลาร์อ่อนหนุนแรงซื้อ
โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (13-17 มี.ค.66) ตลาดหุ้นไทย (SET Index) ดัชนีร่วงหนักแตะระดับต่ำสุดในรอบ 8 เดือน ที่ 1,518.66 จุด ก่อนจะทยอยฟื้นตัว เนื่องจากวิตกภาคธนาคารสหรัฐฯ หลังธนาคาร 3 แห่งประสบปัญหาสภาพคล่อง จนถูกสั่งปิดกิจการ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวกระตุ้นให้เกิดแรงขายหุ้นทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มแบงก์
ทั้งนี้ในระหว่างสัปดาห์ SET Index ย่อตัวลงช่วงสั้น ๆ อีกครั้ง จากข่าวสถาบันการเงินรายใหญ่แห่งหนึ่งของสวิตเซอร์แลนด์
หลังจากนั้นเหล่าสถาบันการเงินที่มีปัญหาก็เริ่มได้รับความช่วยจากธนาคารของประเทศนั้น ๆ ซึ่งช่วยคลายความกังวลของนักลงทุนลงบางส่วน จน SET Index ฟื้นตัวกลับมา เมื่อวานนี้ 17 มี.ค. 66 ปิดที่ระดับ 1,563.67 จุด ลดลง -2.25% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน
ด้านนักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นไทยอย่างหนักทั้งสัปดาห์ 9,735 ล้านบาท แต่อาจเป็นการปรับพอร์ตเท่านั้น เนื่องจากต่างชาติได้กลับเข้าซื้อตลาดพันธบัตรไทยมากถึง 7,103 ล้านบาท แบ่งเป็น เป็นพันธบัตรระยะสั้น 162 ล้านบาท และพันธบัตรระยะสั้นระยะยาวมากกว่า 1 ปี 6,941 ล้านบาท รวมถึงมีพันบัตรหมดอายุแล้ว 3,411ล้านบาท ส่งผลให้การถือครองนักลงทุนต่างชาติ ณ วันที่ 17 ต.ค. รวม 1,067,071 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังสะท้อนได้จากเงินบาท ได้กลับมาแข็งค่ามากสุดในรอบ 1 เดือน ปิดอยู่ที่ 34.13 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงปลายสัปดาห์
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,535 และ 1,515 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,575 และ 1,585 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประชุมเฟด (21-22 มี.ค.) ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และประเด็นการเมืองภายในประเทศ
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่ ยอดขายบ้านมือสอง ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนก.พ. รวมถึงดัชนี PMI (เบื้องต้น) เดือนมี.ค. ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ อัตราดอกเบี้ย LPR เดือนมี.ค. ของจีน การประชุม BOE ตัวเลขเงินเฟ้อเดือน ก.พ. ของญี่ปุ่นและอังกฤษ ตลอดจนดัชนี PMI (เบื้องต้น) เดือน มี.ค. ของญี่ปุ่น และยูโรโซน