ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ความหวังปลดล็อกเจ้าของที่อยู่อาศัย LGBTQIAN+
ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ความหวังปลดล็อกความเสมอภาคในการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยของคู่รัก LGBTQIAN+
กลุ่ม LGBTQIAN+ (หรือกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ) เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีศักยภาพในการใช้จ่าย แนวโน้มการขยายตัวของประชากรกลุ่มนี้ จากการวิเคราะห์ของ GAY TIMES (โดยใช้ข้อมูลของ IPSOS และ UN Population ร่วมกัน) คาดว่าประชากร LGBTQIAN+ จะมีจำนวนถึง 1 พันล้านคนทั่วโลกภายในปี 2593
ขณะที่ข้อมูลจาก LGBT Capital ณ สิ้นปี 2562 ระบุว่าผู้บริโภคกลุ่ม LGBTQIAN+ มีอำนาจการใช้จ่ายรวมกันถึง 3.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ถือเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่น่าจับตามองอย่างมาก
แน่นอนว่ากลุ่มผู้บริโภคเหล่านี้ ก็เป็นกลุ่มที่ต้องการสร้างครอบครัวที่อบอุ่นด้วยเช่นกัน การเป็นเจ้าของบ้านหรือที่อยู่อาศัยสักหลังหนึ่งก็เป็นเหมือนการเริ่มต้นชีวิตคู่ และ ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม จะเปิดโอกาสให้คู่สมรส LGBTQIAN+ เป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยได้อย่างไร ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (DDproperty) มองว่า พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม จะ
- ทลายกรอบทางเพศลง เปิดทางให้คู่รักทุกเพศสามารถจดทะเบียนสมรสได้และมีสถานะทางกฎหมายเป็นคู่สมรส ซึ่งจะสามารถยื่นกู้ร่วมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยในนามคู่สมรส และมีกรรมสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยร่วมกันเช่นเดียวกับคู่สมรสชาย-หญิง
- ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมจะช่วยให้คู่สมรส LGBTQIAN+ มีสิทธิในการบริหารจัดการสินสมรสร่วมกันตามกฎหมาย ได้แก่ ทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส เช่น เงินเดือน โบนัส หรือทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือการให้เป็นหนังสือโดยระบุว่าเป็นสินสมรส รวมทั้งทรัพย์สินที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว ในกรณีที่ผู้บริโภคมีการซื้อบ้าน/คอนโดมิเนียมตั้งแต่ตอนยังโสดจะถือว่าที่อยู่อาศัยนั้นเป็นสินส่วนตัว หากมีการจดทะเบียนสมรสในภายหลัง และต้องการเพิ่มชื่อคู่สมรสเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกัน
- สิทธิในการรับมรดกจากคู่สมรส พระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 เป็นภาษีที่เรียกเก็บจากผู้ได้รับมรดกที่มีมูลค่าสุทธิรวมเกิน 100 ล้านบาท โดยทรัพย์สินมรดกที่จะต้องเสียภาษีมี 5 ประเภท ได้แก่
- อสังหาริมทรัพย์
- หลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
- เงินฝากหรือเงินอื่นใดที่มีลักษณะอย่างเดียวกันซึ่งอยู่ในประเทศไทย
- ยานพาหนะที่มีหลักฐานทางทะเบียน
- ทรัพย์สินทางการเงินที่กำหนดเพิ่มขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกา
และหากผู้ที่ได้รับมรดกเป็นคู่สมรสที่จดทะเบียนอย่างถูกต้องของเจ้าของมรดกนั้น ๆ คู่สมรสจะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีมรดก ซึ่งร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมจะทำให้คู่สมรส LGBTQIAN+ ได้รับสิทธินี้เช่นกัน หรือหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิตและไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ คู่สมรส LGBTQIAN+ ที่ยังมีชีวิตจะถือเป็นทายาทโดยธรรมอันมีสิทธิรับมรดกของคู่สมรสที่เสียชีวิตได้ตามกฎหมาย โดยไม่ต้องเสียภาษีมรดกเช่นกัน