ผู้ถือหุ้นกู้ STARK ประชุมครั้งแรก ตั้งคณะทำงาน-ตัวแทนกลุ่ม เร่งฟ้องเรียกค่าเสียหาย
กลุ่มผู้ถือหุ้นกู้ STARK และตัวแทนผู้จัดจำหน่ายหุ้นกู้ ร่วมกันประชุมครั้งแรก ตั้งคณะทำงานและตัวแทนกลุ่ม เพื่อเร่งฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น ที่ผิดนัดชำระหนี้ 9,198 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2566 กลุ่มผู้ถือหุ้นกู้บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ได้ประชุมร่วมกันเป็นครั้งแรก ที่โรงแรม ดิเอมเมอรัลด์ กรุงเทพมหานคร เพื่อหาทางเยียวยาความเสียหายจากกรณี STARK ไม่ชำระหนี้หุ้นกู้ ซึ่งมีมูลค่ารวมราว 9,198 ล้านบาท
โดยในที่ประชุม กลุ่มผู้ถือหุ้นกู้ STARK และตัวแทนจากผู้จัดจำหน่ายหุ้นกู้ ได้มีการเสนอความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง เพื่อหารือแนวทางการเรียกร้องความเป็นธรรมเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น
รวมถึงมีการตั้งคณะทำงาน เพื่อเป็นตัวแทนผู้ถือหุ้นกู้ STARK ในการรับฟังความคิดเห็น และพิจารณาตัดสินใจดำเนินการร่วมกันในกลุ่มผู้ถือหุ้นกู้ และเป็นตัวแทนในการประสานงานติดต่อสื่อสารกับหน่วยงานและบุคคลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
หุ้นฉาว STARK โกงหมื่นล้าน ฉุดความเชื่อมั่น "ตลาดหุ้นกู้"
ก.ล.ต. กล่าวโทษบุคคลรวม 10 ราย ต่อ DSI กระทำโดยทุจริตหลอกลวง
สมาคม บลจ.ชี้ STARK อยู่นอกเหนือการควบคุม
ทั้งนี้ในที่ประชุมดังกล่าว ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านมาร่วมแลกเปลี่ยนคามคิดเห็นและให้คำแนะนำ ประกอบด้วย รศ.ดร.สมชาย สุภัทรกุล คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ดร.พีรภัทร ฝอยทอง ทนายความและนักวางแผนการเงิน CFP (Certified Financial Planner)
ขณะที่ในที่ประชุมเห็นพ้องว่า เบื้องต้นผู้เสียหายจะมีการรวมกลุ่มกันฟ้องร้องทั้งบริษัท กรรมการ และผู้ถือหุ้น ซึ่ง ดร.พีรภัทร ได้ให้คำแนะนำว่า การฟ้องร้องสามารถทำได้ 2 วิธี โดยมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน ประกอบด้วย
- วิธีที่หนึ่งคือ คดีแพ่งสามัญ ต่างคนต่างฟ้อง ใครฟ้องชนะ คนนั้นก็ได้รับชำระค่าเสียหาย แต่กระบวนการจะช้ากว่าหากมีผู้เสียหายจำนวนมาก เนื่องจากศาลต้องมาไล่พิจารณาทีละคดี
- วิธีที่สองคือ คดีกลุ่ม (Class Action) ซึ่งจะมีความรวดเร็วกว่า เพราะมีตัวแทนเป็นผู้ฟ้องแทนผู้เสียหายทุกคน หากชนะคดี ผู้ที่ไม่ได้ร่วมฟ้องก็มีสิทธิร่วมรับชำระเงินได้ แต่ต้องมั่นใจว่าตัวแทนกลุ่มมีความรู้ความสามารถเพียงพอ สามารถรักษาผลประโยชน์ของทุกคนได้ ที่สำคัญคือต้องสื่อสารให้ผู้เสียหายทุกคนในกลุ่มทราบรายละเอียดและคืบหน้าของคดีอย่างทั่วถึง
ด้าน รศ.ดร.สมชาย สุภัทรกุล คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นว่า ความเชื่อมั่นของนักลงทุนเป็นสิ่งสำคัญ กรณีที่เกิดขึ้นกระทบต่อความเชื่อมั่น จึงจำเป็นที่จะต้องเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนให้กลับมา เช่น ผู้สอบบัญชีต้องดำเนินการเข้มงวด ตามมาตรฐานการสอบบัญชี