บาททรงตัว เปิดการซื้อขายระดับ 35.40 บาท/ดอลลาร์
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.40 บาทต่อดอลลาร์ “ทรงตัว ไม่เปลี่ยนแปลง” กรอบวันนี้ 35.25-35.65 บาท/ดอลลาร์ ช่วงตลาดทยอยรับรู้อัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.40 บาทต่อดอลลาร์ “ทรงตัว ไม่เปลี่ยนแปลง”
จากระดับปิดวันก่อนหน้า โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ sideways (แกว่งตัวในช่วง 35.37-35.45 บาทต่อดอลลาร์) ตามการรีบาวด์แข็งค่าขึ้นบ้างของเงินดอลลาร์ ที่ได้แรงหนุนบรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐฯ ที่ยังอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง

อีกทั้งผู้เล่นในตลาดต่างก็ระมัดระวังตัวมากขึ้นก่อนที่จะรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในคืนวันอังคารนี้ (19.30 น. ตามเวลาท้องถิ่นของประเทศไทย) อนึ่ง เงินบาทยังเผชิญแรงกดดันจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินดอลลาร์และสกุลเงินต่างประเทศ หลังเงินบาทได้แข็งค่าขึ้นพอสมควรในช่วงระยะสั้น ทำให้เงินบาทยังไม่สามารถแข็งค่าทะลุโซนแนวรับ 35.30 บาทต่อดอลลาร์ ไปได้ง่ายนัก
แนวโน้มของค่าเงินบาท
เราประเมินว่า เงินบาทอาจแกว่งตัว sideways ในกรอบใกล้ระดับ 35.40 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงก่อนรับรู้ รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างยังไม่รีบปรับสถานะถือครองที่ชัดเจน ทั้งนี้ เงินบาทก็อาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าได้บ้าง ตามโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรสถานะ Long THB (มองเงินบาทแข็งค่า) รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินดอลลาร์จากฝั่งผู้นำเข้าบางส่วน หลังเงินบาทได้แข็งค่าขึ้นมาพอสมควรในระยะสั้น
นอกจากนี้ แรงขายหุ้นไทยก็อาจยังมีอยู่บ้าง ตามบรรยากาศปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวม อย่างไรก็ดี แม้เงินบาทจะเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าบ้าง เราคาดว่า ก่อนจะรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ เงินบาทก็อาจไม่ได้ผันผวนอ่อนค่าทะลุแนวต้าน 35.50 บาทต่อดอลลาร์ไปไกล ยกเว้นว่า
ในช่วงรับรู้ รายงานข้อมูลตลาดแรงงานอังกฤษ ราว 14.00 น. เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) จะผันผวนอ่อนค่าหนัก หากยอดการจ้างงานอังกฤษ หรือ อัตราการเติบโตของค่าจ้าง ออกมาแย่กว่าคาดไปมาก ทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มประเมินว่า BOE อาจลดดอกเบี้ยได้เร็วขึ้นจากช่วงไตรมาสที่ 3 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ตลาดกำลังคาดการณ์อยู่
และที่สำคัญ ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในช่วงราว 19.30 น. เพราะหาก อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ไม่ได้ชะลอลงอย่างที่คาดหวัง (ต้องจับตาทั้งข้อมูล %y/y และ %m/m หรือ โมเมนตัมการเปลี่ยนแปลงรายเดือน) ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมากังวลต่อแนวโน้มปรับลดดอกเบี้ยของเฟดได้
ส่งผลให้ เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ มีโอกาสผันผวนสูงขึ้นได้ไม่ยาก กดดันทั้ง ราคาทองคำและเงินบาทได้พอสมควร ซึ่งมีโอกาสที่เงินบาทจะอ่อนค่าทะลุแนวต้าน 35.50 บาทต่อดอลลาร์ ไปทดสอบโซนแนวรับถัดไปแถว 35.65 บาทต่อดอลลาร์
ในทางกลับกัน หากอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ชะลอลงตามคาด หรืออาจชะลอลงมากกว่าคาดเล็กน้อย เราคาดว่าก็อาจไม่ได้ช่วยให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลงไปมากกว่าระดับปัจจุบันมากนัก เนื่องจากผู้เล่นในตลาดได้รับรู้แนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟดในปีนี้ราว 3-4 ครั้งไปมากแล้ว ทำให้เงินบาทก็อาจแข็งค่าติดอยู่ในโซนแนวรับแถว 35.30 บาทต่อดอลลาร์ได้
เรายังขอเน้นย้ำว่า ในช่วงนี้ ความผันผวนของเงินบาทนั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา (มองจากกรอบเงินบาทรายสัปดาห์) อย่างเห็นได้ชัด ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.35-35.50 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงก่อนตลาดรับรู้อัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ และประเมินกรอบเงินบาท 35.25-35.65 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงตลาดทยอยรับรู้อัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ

ฝ่ายธุรกิจตลาดเงินและธุรกรรมระหว่างประเทศ ทีเอ็มบีธนชาต (ttb) เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเช้านี้เปิดตลาด 35.45 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าเล็กน้อยเทียบกับราคาปิดตลาดเมื่อวานที่ระดับ 35.40 บาท/ดอลลาร์
ดอลลาร์ยังเทรดอยู่ในกรอบและแข็งค่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค CPI และ ดัชนีผู้ผลิต (PPI) ของสหรัฐในวันนี้ เพื่อหาสัญญาณที่ชัดเจนว่าเฟด จะเริ่มปรับลดดอกเบี้ยในเร็ว ๆ นี้หรือไม่ ขณะที่ราคาสินทรัพย์เสี่ยง ปรับขึ้นตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับราคาน้ำมัน และทองคำ
สำหรับค่าเงินบาทยังไม่มีปัจจัยสนับสนุนอย่างเด่นชัด ถึงแม้เดือน ก.พ.67 จะมีเงินทุนต่างชาติไหลกลับเข้าตลาดหุ้นไทย ซี่งสอดคล้องกับตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม ยังมีความกังวล จากการปรับลดคาดการณ์ GDP ไทย โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปรับลดแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 67 ไปอยู่ที่ 2.2-3.2%
Fund flow ปิดตลาดเมื่อวานนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิพันธบัตร 191 ล้านบาท และขายสุทธิหุ้นไทย 2,340 ล้านบาท
กรอบค่าเงินวันนี้และกลยุทธ์แนะนำ
USD/THB 35.30 - 35.60
*แนะนำ ทยอยซื้อที่ 35.30/ ขาย 35.50
EUR/THB 38.60-39.00
* แนะนำ ซื้อ 38.60/ ขาย 39.00
JPY/THB 0.2400-0.2440
* แนะนำ ซื้อ 0.2400/ ขาย 0.2430
GBP/THB 45.25-45.75
AUD/THB 23.30-23.70
กลุ่มงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินค่าเงินบาทวันนี้เคลื่อนไหวในกรอบ 35.35-35.55บาท/ดอลลาร์ ค่าเงินบาทเมื่อวานนี้เคลื่อนไหวในกรอบ โดยในช่วงแรกอ่อนค่าลงเล็กน้อย เกิดจากเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นพร้อม US treasury yields ที่ปรับสูงขึ้น หลังการประมูลพันธบัตรอายุ 3 ปี
ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อสหรัฐฯ ในระยะ 3 ปี และ 5 ปีข้างหน้า ออกมาสูงขึ้นอยู่ที่ 2.7% และ 2.9% ตามลำดับ
ค่าเงินบาททยอยกลับมาแข็งค่าขึ้น พร้อมค่าเงินเอเชียและเงินเยนที่ยังทรงตัวในระดับแข็งค่าวานนี้ สำหรับวันนี้ตลาดจับตาเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่จะออกมาคืนนี้
เช็กชื่อ! กรรมการบริหารพรรคก้าวไกล โดนตัดสิทธิฯ 10 ปี หลังยุบพรรค
ไฟไหม้ตลาดสี่มุมเมือง “เด็ก 4 ขวบพร้อมน้า” สำลักควันเสียชีวิต บาดเจ็บอีก 1
เปิดโปรแกรม 10 นัดสุดท้าย อาร์เซน่อล ลิเวอร์พูล และ แมนซิตี้ ลุ้นแชมป์พรีเมียร์ลีก