ส่องตลาดค่าเงิน-หุ้นสัปดาห์หน้า หลังแตะระดับแข็งค่าสุดรอบประมาณ 1 เดือน
ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้น รับแรงซื้อจากกองทุนลดหย่อนภาษีช่วงปลายปีและข่าวการมาเยือนไทยของผู้บริหารบริษัทเทครายใหญ่ของสหรัฐฯ ส่วนเงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดรอบประมาณ 1 เดือน
เงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงต้นสัปดาห์ตามการปรับตัวลงของราคาทองคำในตลาดโลกและการอ่อนค่าของสกุลเงินเอเชียในภาพรวมท่ามกลางความกังวลต่อสัญญาณเตรียมเดินหน้ามาตรการกีดกันทางการค้าของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ อย่างไรก็ดี เงินบาททยอยแข็งค่ากลับมาในช่วงที่เหลือของสัปดาห์โดยแข็งค่าหลุดแนว 34.00 ไปแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 1 เดือนที่ 33.95 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ กลับมาเผชิญแรงขาย หลังตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ หลายตัวออกมาอ่อนแอกว่าที่ตลาดคาด
เช่น ตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนเดือน พ.ย.ที่เพิ่มน้อยกว่าคาดจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ที่เพิ่มมากกว่าคาด และดัชนี ISM ภาคบริการเดือนพ.ย. ที่ต่ำกว่าที่ตลาดคาด
ทั้งนี้ เงินดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลง แม้ประธานเฟดจะส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯมีความแข็งแกร่งกว่าที่เฟดประเมินไว้ในเดือนก.ย. ซึ่งน่าจะทำให้เฟด สามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปในระยะถัดไปได้ก็ตาม ทั้งนี้ ในวันศุกร์ที่6 ธ.ค. 2567 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ 34.07 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 34.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (29พ.ย. 67)
สถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 2-6 ธ.ค. 2567 นั้นนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 1,357 ล้านบาท แต่มีสถานะอยู่ในฝั่ง NetInflows เข้าตลาดพันธบัตรไทย 6,986 ล้านบาท (แบ่งเป็นซื้อสุทธิพันธบัตร 7,490 ล้านบาทหักด้วยตราสารหนี้หมดอายุ 503 ล้านบาท)
กรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า 33.60-34.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ
สัปดาห์ระหว่างวันที่ 9-13 ธ.ค. ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 33.60-34.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติสกุลเงินเอเชียและราคาทองคำในตลาดโลก รวมถึงสัญญาณเกี่ยวกับนโยบายและมาตรการของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯที่สำคัญได้แก่ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้บริโภคดัชนีราคาผู้บริโภคดัชนีราคาผู้ผลิตเดือน พ.ย. และตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์
นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามผลการประชุมนโยบายการเงินของ ECB ข้อมูลจีดีพีไตรมาส 3/2567 ของญี่ปุ่นและตัวเลขเศรษฐกิจจีนเดือน พ.ย. เช่น ดัชนีราคาผู้บริโภคดัชนีราคาผู้ผลิตตัวเลขการส่งออกและยอดปล่อยกู้สกุลเงินหยวนเช่นกัน
ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้น รับแรงซื้อจากกองทุนลดหย่อนภาษีช่วงปลายปีและข่าวการมาเยือนไทยของผู้บริหารบริษัทเทครายใหญ่ของสหรัฐฯ
ดัชนีหุ้นไทยดีดตัวขึ้นแรงช่วงต้นสัปดาห์ โดยมีแรงหนุนจากแรงซื้อของกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศ ซึ่งคาดว่ามาจากกองทุนลดหย่อนภาษีในช่วงปลายปีเป็นหลักโดยแรงซื้อหุ้นกระจายไปในหลายอุตสาหกรรม นำโดยกลุ่มแบงก์ เทคโนโลยี และค้าปลีก
นอกจากนี้ ดัชนีหุ้นไทยยังมีแรงหนุนจากรายงานข่าวเกี่ยวกับการเดินทางมาเยือนประเทศไทยของผู้บริหารระดับสูงของบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของสหรัฐฯ โดยประเด็นดังกล่าวกระตุ้นแรงซื้อหุ้นที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์หากบริษัทดังกล่าวเข้ามาลงทุนในไทย นำโดยบริษัทเทคโนโลยีและบริษัทผู้ประกอบธุรกิจด้านพลังงาน
อย่างไรก็ดี กรอบการปรับขึ้นของดัชนีหุ้นไทยเริ่มจำกัดในเวลาต่อมาท่ามกลางสัญญาณระมัดระวังของนักลงทุน เนื่องจากมีวันหยุดระหว่างสัปดาห์ประกอบกับนักลงทุนยังรอติดตามข้อมูลตลาดแรงงานของสหรัฐฯ ช่วงปลายสัปดาห์
ในวันศุกร์ที่6ธ.ค.2567 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,451.96 จุดเพิ่มขึ้น 1.71% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อนขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 40,930.23 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 2.18%จากสัปดาห์ก่อนส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 0.28% มาปิดที่ระดับ 321.60จุด
สัปดาห์หน้าดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,440 และ 1,430 จุด
สัปดาห์ถัดไป(9-13ธ.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,440 และ 1,430 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,465 และ 1,475 จุด ตามลำดับ
โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตเดือน พ.ย.
รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆได้แก่ ผลการประชุม ECB ตัวเลขผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนต.ค.ของญี่ปุ่นและยูโรโซน ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/2567 และดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนพ.ย.ของญี่ปุ่น ตลอดจนข้อมูลเศรษฐกิจเดือนพ.ย. ของจีน เช่น ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต และตัวเลขการส่งออก