Gucci-Prada ปิดสาขาในจีนเพิ่มขึ้น เหตชาวจีนบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยลดลง
สภาวะเศรษฐกิจในจีนที่ยังไม่ฟื้นตัวส่งผลให้ชาวจีนลดการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือย กระทบแบรนด์หรูเช่น Gucci และ Prada ต้องทยอยปิดสาขาในจีน
สำนักข่าว South China Morning Post รายงานว่า แบรนด์สินค้าหรูระดับโลกบางรายกำลังทยอยถอนตัวออกจากจีน โดยการปิดร้านค้าในห้างสรรพสินค้าระดับไฮเอนด์ในเมืองใหญ่ ๆ ของจีนแผ่นดินใหญ่ ทั้งนี้เนื่องจากผู้บริโภคจับจ่ายใช้สอยน้อยลง และนักวิเคราะห์เตือนว่ายอดขายที่ซบเซาอาจยังคงอยู่ต่อไปในปีนี้
ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นมีทั้งแบรนด์หรูอิตาลี “กุชชี่” (Gucci) ที่อยู่ภายใต้บริษัทฝรั่งเศส Kering ซึ่งได้ปิดร้านค้า 2 แห่งในเซี่ยงไฮ้เมื่อเดือนที่แล้ว

แห่งหนึ่งอยู่ในห้างสรรพสินค้า Réel และอีกแห่งอยู่ใน New World Daimaru บนถนนหนานจิง ซึ่งเป็นถนนช้อปปิ้งที่พลุกพล่านที่สุดของเมือง
ขณะเดียวกัน “ปราด้า” (Prada) อีกหนึ่งแบรนด์สินค้าหรูสัญชาติอิตาลีก็ยุติการดำเนินงานที่สนามบินนานาชาติหงเฉียวของเซี่ยงไฮ้เช่นกัน
นอกจากนี้ ย้อนไปไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว มีแบรนด์หรูปิดร้านค้าของตัวเองในจีนไปถึง 8 แห่ง และอีก 2 แห่งในไตรมาสก่อนหน้า โดยแบรนด์ที่ปิดมีทั้ง Louis Vuitton, Chanel, Tiffany & Co และ Bulgari
เจเลนา โซโกโลวา นักวิเคราะห์หุ้นอาวุโสของมอร์นิงสตาร์ กล่าวว่า “ยอดขายของแบรนด์ส่วนใหญ่ในจีนแผ่นดินใหญ่ลดลงอย่างรวดเร็ว ไม่เพียงแต่ได้รับผลกระทบจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคภายในประเทศที่ตกต่ำเท่านั้น แต่ยังได้รับผลกระทบจากชาวจีนที่ไปจับจ่ายซื้อของในต่างประเทศมากขึ้นด้วย”
บริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการ Bain & Co ระบุในรายงานเมื่อเดือน ม.ค. ว่า การใช้จ่ายภายในประเทศที่ลดลงและการช้อปปิ้งในต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น น่าจะส่งผลให้ยอดขายสินค้าฟุ่มเฟือยในจีนลดลง 18-20% ในปีที่แล้ว โดยสินค้ากลุ่มเครื่องประดับและนาฬิกาได้รับผลกระทบมากที่สุด
การปิดตัวของร้านค้าแบรนด์หรูเหล่านี้ยังเป็นลางไม่ดีสำหรับผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์และเจ้าของที่ดินในจีน ที่กำลังดิ้นรนเพื่อเอาชนะภาวะซบเซาของอุตสาหกรรม
อัตราว่างของร้านค้าในเมืองชั้นหนึ่งและชั้นสอง 11 เมืองในจีนแผ่นดินใหญ่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 10.5% โดยเฉลี่ยในปีนี้ จาก 10.4% ในปี 2024 ตามข้อมูลของบริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ Savills ขณะที่รายได้จากการเช่าพื้นที่ในห้างสรรพสินค้าหรูในจีนแผ่นดินใหญ่ของ Hang Lung Group ลดลง 4% ในปี 2024
แม้จะเป็นเช่นนั้น ค่าเช่าก็ไม่ได้ลดลงอย่างเห็นได้ชัดเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ค้าสินค้าหรูหรา ซึ่งส่งผลให้เกิดแรงกดดันต่อต้นทุนการดำเนินงานของแบรนด์หรูเหล่านี้
ด้าน วินเซนต์ หลี่ หัวหน้าฝ่ายวิจัยภาคเหนือของจีนที่ Savills กล่าวว่า ต่างจากผู้ค้าที่มีที่ทางในตลาดมวลชนอย่าง Nike “แบรนด์หรูชั้นนำเหล่านี้ระมัดระวังอย่างยิ่งเมื่อต้องเปิดร้านค้าแบบออฟไลน์ ... พวกเขาระมัดระวังมากในการต้องถอยกลับ ดังนั้น หากพวกเขาถอยกลับ แปลว่าจะต้องมีอุปสรรคที่พวกเขาไม่สามารถเอาชนะได้”
กั่ว ซาน หุ้นส่วนของ Hutong Research ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาสำหรับบริษัทข้ามชาติในจีน กล่าวว่า ความต้องการในการบริโภคได้เปลี่ยนไปจากสินค้าฟุ่มเฟือยแบบดั้งเดิมเช่นกัน การเปลี่ยนแปลงนี้คาดว่าจะทำให้แนวโน้มนี้ยิ่งคลุมเครือมากขึ้น
“แทนที่จะซื้อกระเป๋าหรู ผู้บริโภคดูเหมือนจะชอบผลิตภัณฑ์กีฬาหรือความบันเทิงมากกว่า” เธอกล่าว โดยอ้างข้อมูลอย่างเป็นทางการที่แสดงให้เห็นว่า ตลาดกลุ่มเสื้อผ้าโตขึ้นเพียง 0.3% ในปี 2024 ในขณะที่กีฬาและความบันเทิงเติบโตขึ้น 11.1%
เรียบเรียงจาก SCMP