How to เลือก 'โบรกเกอร์' ที่ดีสำหรับมือใหม่
แนะ นักลงทุนมือใหม่ เลือกเปิดบัญชีกับโบรกเกอร์ไหน ให้เหมาะกับตัวคุณ
การซื้อขายหุ้น, เล่นหุ้น หรือ เทรดหุ้น ได้รับความนิยมมากขึ้นในปัจจุบัน ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระบุว่า 4 เดือนแรกของปี 2564 มีพอร์ตใหม่ๆ เกิดขึ้นถึง 7 แสนพอร์ต ซึ่งนับว่าสูงเป็นประวัติการณ์ จากปกติจะมียอดเปิดบัญชีเฉลี่ยแค่ปีละ 3-4 แสนบัญชีเท่านั้น
เนื่องจากคนไทยเริ่มมีความเข้าใจและมีความรู้มากขึ้นในการลงทุนช่องทางอื่น ๆ นอกเหนือจากการฝากธนาคารรับดอกเบี้ย
นักลงทุนเทขายหุ้น ตลาดหุ้นจีนร่วงหนัก ผู้เชียวชาญเผยเพราะหุ้นขึ้นสูง (คลิป)
3 เหตุผล สงครามหุ้น GameStop ในโลกการเงินยุคดิจิทัล
อีกทั้งยังมีช่องทางการศึกษาเรื่องของการลงทุนมากมาย สำหรับผู้ที่หันมาสนใจเล่นหุ้น มักจะมีคำถามมากมาย โดยเฉพาะการเลือกโบรกเกอร์ ซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้กับการเลือกหุ้นดี ๆ สักตัว
โบรกเกอร์คืออะไร
บริษัทหลักทรัพย์ หรือโบรกเกอร์ คือ บริษัทที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ที่ได้ผ่านการพิจารณาตามหลักเกณฑ์ และเข้าเป็น "บริษัทสมาชิก" ของตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทำให้สามารถส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์เข้าสู่ระบบซื้อขาย ของตลาดหลักทรัพย์ฯได้โดยตรง
โบรกเกอร์ ทำหน้าที่อะไร?
-เป็นคนกลางในการซื้อขายหลักทรัพย์ให้กับนักลงทุน
-รับผิดชอบต่อหน้าที่ความรับผิดชอบ และบริการต่าง ๆ
-ดูแลตั้งแต่เริ่มเปิดบัญชีให้ลูกค้า กระทั่งขั้นตอนสิ้นสุดของการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์
-ดูแล ให้คำปรึกษา แนะนำ แก้ไขปัญหาให้กับลูกค้า
เคล็ดลับในการเลือกโบกเกอร์
1.ต้องน่าเชื่อถือ ถูกกฎหมายทั้งโครงสร้างของบริษัท
ดูได้จากโครงสร้างของบริษัท ผู้ถือหุ้น-ผู้บริหาร นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ไปจนถึงผู้ติดต่อกับนักลงทุน ดูประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาเกี่ยวกับด้านการเงินว่ามีมากน้อยแค่ไหน เคยมีเรื่องเสื่อมเสียหรือไม่ และต้องไม่เข้าข่ายผิดข้อกำหนดของ ก.ล.ต.
2.มีฐานะการเงินที่มั่นคง
มีผลการดำเนินงานดี มีสินทรัพย์สภาพคล่อง ที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้อย่างรวดเร็ว และมีจำนวนเงินที่เพียงพอ ต่อการชำระคืนให้แก่ลูกค้าและเจ้าหนี้ของโบรกเกอร์ โดยดูได้จากตัวเลข เงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ ในรายงานประจำปี ซึ่งต้องเป็น ไปตามเกณฑ์ที่ ก.ล.ต. กำหนด
3.บทวิเคราะห์เชื่อถือได้
เพราะเป็นเครื่องทุ่นแรงสำคัญที่นักวิเคราะห์ออกมาเพื่อให้นักลงทุน ใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน
4.ค่าธรรมเนียมเหมาะสม
นักลงทุนยังต้องพิจารณาถึง ค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่โบรกเกอร์เรียกเก็บ อย่างเปอร์เซ็นต์จากมูลค่าการขายในแต่ละครั้ง บางที่คิดขั้นต่ำ 50 บาท ไปจนถึง 200 บาท ขณะที่บางโบรกเกอร์อาจไม่มีเลย
5.ดูโบรกเกอร์ที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์
เช่น เราถนัดซื้อขายหุ้นออนไลน์ ต้องหาโบรกเกอร์ที่เชี่ยวชาญบริการออนไลน์ด้วย
6.บริการหลังการขาย
การบริการหลังการซื้อขายก็สำคัญและเป็นส่วนหนึ่งในการประกอบการติดสินใจ เช็กง่าย ๆ คือ ติดต่อไปสอบถามยังโบรกเกอร์โดยตรง ถามดูว่าการรับจ่ายเงินจากการซื้อขายว่าเป็นอย่างไร รวมถึงดูระบบการโอนหุ้น ระบบการ ติดตามและดูแลผลประโยชน์ที่เราฝากไว้กับโบรกเกอร์ด้วย
ที่มา: ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย