"เงินบาทอ่อน" มีผลต่อเงินในกระเป๋า-การลงทุน? พร้อมวิธีบริหารจัดการ
ค่าเงินบาทยังคงมีแนวโน้ม "อ่อนค่า" ต่อเนื่อง ล่าสุดทะลุ 38 บาทต่อดอลลาร์ โดยเฉพาะเมื่อเฟดจะยังคงเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปตลอดช่วงปีนี้และปีหน้า ซึ่งการอ่อนค่าของเงินบาทครั้งนี้มีผลต่อ "เงินในกระเป๋าและการลงทุน" ของเราอย่างไรบ้าง
ช่วงที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนมากขึ้นโดยเฉพาะช่วงที่เงินบาทอ่อนค่าผ่านระดับปลาย 37.00 บาท จนล่าสุดทะลุ 38 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งแบงก์ชาติติดตามใกล้ชิด และพร้อมเข้าดูแล หากเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนมากผิดปกติ
“เฟด” ส่งซิก ปลายปีนี้ดอกเบี้ยแรงกว่าเดิม คาดตลาดหุ้นผันผวน ไทยจับตา กนง.ประชุม 28 ก.ย.
เฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ประกาศลุยคุมเงินเฟ้อ จ่อขึ้นอีก 1.25% ในปีนี้
ค่าเงินบาทเช้านี้ "ร่วงต่อ" หลังเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยสกัดเงินเฟ้อ
นางอลิศรา มหาสันทนะ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน แบงก์ชาติ เปิดเผยว่า การอ่อนค่าของเงินบาทเป็นผลจากปัจจัยต่างประเทศ ทั้งจากการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากกว่าเดิม หลังตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ยังอยู่ในระดับสูง
นอกจากนั้น การอ่อนค่าของเงินบาทยังเป็นผลจาก risk sentiment ของค่าเงินในกลุ่ม EM Asia ที่ปรับแย่ลงหลังค่าเงินหยวนปรับอ่อนค่าขึ้นเหนือระดับ 7 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ
การอ่อนค่าของเงินบาท ยังมีผลจากปัจจัยเฉพาะของไทยจากราคาทองคำที่ปรับลดลง ส่งผลให้มีแรงซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐ จากกลุ่มบริษัททองคำเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม แบงก์ชาติได้ติดตามสถานการณ์การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด และพร้อมเข้าดูแลเมื่อเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนมากผิดปกติเพื่อไม่ให้กระทบต่อการปรับตัวของภาคเศรษฐกิจจริง และในช่วงที่สถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนสูง ภาคเอกชน ควรบริหารความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอเพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนของตลาดการเงิน
การอ่อนค่าของค่าเงินบาท ปัจจุบัน 1 ดอลลาร์ เท่ากับ 38.08 บาท เข้าใจง่ายๆ คือ การใช้เงินบาทมากขึ้นในการแลกเงิน 1 ดอลลาร์
ใครเสียประโยชน์
- ผู้นำเข้าจะต้องเพิ่มต้นทุน ซึ่งก็คือ ซื้อของจากต่างประเทศแพงขึ้น
- ประชาชน ซื้อสินค้าและบริการจากต่างประเทศแพงขึ้น รวมถึงคนที่วางแผนเดินทางไปต่างประเทศ ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปเที่ยวหรือศึกษาต่อต่างประเทศสูงขึ้น ส่วนคนที่วางแผนเดินทางไปเที่ยวหรือศึกษาต่อต่างประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา หลังจากที่เปิดประเทศแล้วจะมีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการไปเที่ยวหรือศึกษาต่อที่สูงขึ้น รวมถึงการซื้อสินค้าหรือบริการต่างๆ ก็จะมีราคาแพงขึ้นด้วย
- ผู้ลงทุน นำเข้าสินค้าทุนแพงขึ้น เช่น เครื่องจักร อุปกรณ์ต่างๆ ต้นทุนการนำเข้าสินค้า เนื่องจากต้องใช้เงินบาทในจำนวนที่มากขึ้นเพื่อซื้อสินค้าจากต่างประเทศเข้ามา
- ผู้ที่เป็นหนี้กับต่างประเทศ มีภาระหนี้เพิ่มขึ้น เพราะใช้เงินบาทมากขึ้น ในการชำระหนี้เงินสกุลต่างประเทศ สำหรับธุรกิจที่มีการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศหรือค้างชำระค่าสินค้าบริการอยู่จะมีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้นทันที เพราะต้องใช้เงินบาทในจำนวนที่มากขึ้นเพื่อชำระหนี้สกุลเงินต่างประเทศ ซึ่งจากข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2564 พบว่า ไทยมีหนี้ต่างประเทศ ทั้งส่วนที่เป็นของรัฐบาล สถาบันการเงิน และภาคเอกชนรวมกันทั้งสิ้น 7 ล้านล้านบาท ในขณะที่มีทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ที่ 8 ล้านล้านบาท คิดเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศต่อหนี้ต่างประเทศอยู่ที่ 114% ซึ่งถือว่าค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเอเชีย
เงินทุนไหลออกจากตลาดหุ้นไทย
ในส่วนของผู้ลงทุนในหุ้น การอ่อนค่าของเงินบาทจะทำให้เม็ดเงินของนักลงทุนต่างต่างชาติไหลออกจากตลาดหุ้นไทย มีผลทำให้ดัชนีหุ้นไทยปรับลดลง ขณะเดียวกันการถือเงินบาทไว้ทำให้นักลงทุนต่างชาติขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน
กรณีตัวอย่าง ช่วงต้นปี 2543 ดัชนีหุ้นไทยซื้อขายที่ระดับประมาณ 470 จุด ค่าเงินบาทอยู่ที่ระดับประมาณ 37 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ แต่นับตั้งแต่กลางปีดังกล่าวเป็นต้นมา ดัชนีหุ้นไทยปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันค่าเงินบาทก็อ่อนค่าลงที่ระดับ 44 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ
ใครได้ประโยชน์
- ผู้ส่งออก รายได้จากการส่งออกซึ่งเป็นสกุลเงินต่างประเทศแลกเป็นเงินบาทได้มากขึ้น
ในทางกลับกันจะเป็นผลดีกับการส่งออกเพราะรายได้ที่ได้รับมาเป็นสกุลเงินต่างประเทศสามารถแลกกลับมาเป็นเงินบาทในจำนวนที่มากขึ้น ซึ่งจากข้อมูลการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนเมษายน 2565 พบว่า ไทยส่งออกมูลค่า 782,146.10 ล้านบาท ในขณะที่นำเข้ามูลค่า 856,252.57 ล้านบาท ทำให้ไทยขาดดุลการค้ามูลค่า 74,106.47 ล้านบาท เนื่องจากมีการนำเข้ามากกว่าการส่งออกนั่นเอง
- คนทำงานต่างประเทศ นำรายได้ที่เป็นเงินสกุลต่างประเทศมาแลกเป็นเงินบาทได้มากขึ้น
- ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวที่รับเงินสกุลต่างประเทศ นำรายได้มาแลกเป็นเงินบาทมากขึ้น
บริหารจัดการเงินอย่างไร
- ผู้ที่ต้องการเดินทางไปต่างประเทศสามารถเดินทางได้ แต่การเดินทางในช่วงนี้จะมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง หากเชื่อว่าเงินบาทจะอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง แนะนำให้แลกเงินไว้ล่วงหน้า
- ผู้ที่ลงทุนในกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในต่างประเทศให้เลือกลงทุนในกองทุนที่มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อลดผลกระทบหรือความกังวลใจจากการขึ้นลงของค่าเงิน และช่วยให้เราลงทุนกองทุนรวมต่างประเทศได้อย่างสบายใจมากขึ้น
- ผู้ที่ลงทุนในตลาดหุ้นควรเลือกลงทุนในหุ้นกลุ่มส่งออก เช่น กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน อาหาร เพราะได้ประโยชน์จากการแปลงเงินดอลลาร์กลับมาเป็นเงินบาทที่มากขึ้น และหลีกเลี่ยงหุ้นกลุ่มพลังงาน โรงไฟฟ้า ที่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทอ่อนค่าเนื่องจากมีการกู้เงินสกุลเงินดอลลาร์มาใช้
- ผู้ที่มีทองคำในพอร์ต ถือเป็นจังหวะขายทำกำไร แล้วเหลือไว้ในพอร์ตที่ 5-10% เพราะเมื่อเงินบาทอ่อนค่า ราคาทองคำมีแนวโน้มจะปรับตัวเพิ่มขึ้น
ราคาทองวันนี้ (22 ก.ย.65) "เท่ากับ" วันก่อนหน้า ต่างประเทศผันผวน
- ผู้ประกอบการที่มีการทำธุรกิจเกี่ยวกับการนำเข้าและส่งออก แนะนำให้ฝากเงินเข้าบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ หรือบัญชี FCD และเมื่อต้องชำระเงินต่างประเทศ ก็ให้โอนเงินออกจากบัญชี FCD โดยสามารถใช้ Forward หรือ Option ได้ตามความเหมาะสมเพื่อช่วยบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
ข้อมูล : ธนาคารแห่งประเทศไทย / ธนาคารกสิกรไทย