ซื้อหวยเงินไม่หาย หวยเกษียณ vs สลากออมทรัพย์ เลือกอะไร?
คลังผุด "หวยเกษียณ" แก้ปัญหา "คนไทย แก่แต่จน" เป็นการซื้อสลากเพื่อออมเงิน แต่จะต่างจากสลากออมทรัพย์อย่างไร Money Trick เล่าให้ฟัง
เข้าทางคนชอบเล่นหวย เมื่อกระทรวงการคลังประกาศว่ากำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาออก หวยเกษียณ หรือชื่อเต็ม ๆ คือ สลากสะสมทรัพย์เพื่อออมเงินยามเกษียณ เพื่อแก้ปัญหาคนไทยแก่แต่จน เป็นการซื้อสลากที่แม้จะไม่ถูกรางวัล เงินทุกบาททุกสตางค์ที่เราลงทุนไปจะถูกเก็บเป็นเงินออมไว้ใช้หลังเกษียณ ซึ่งกระทรวงการคลังคาดว่าหากมีการขายหวยเกษียณ จะทำให้คนหันมาออมเพิ่มมากกว่า 20 ล้านคน
ลุ้นรางวัล 111 ล้านบาท เทียบสลากออมทรัพย์ ซื้อแบบไหนคุ้มสุด?
ให้เงินทำงานผ่านการออม ดอกเบี้ยสูง ไม่ต้องเสียภาษี
แซนด์วิช เจเนอเรชัน เดอะแบกแห่งยุค เงินเปราะบาง มีหนี้สูง
ต่างจากสลากออมทรัพย์ของออมสิน-ธอส.-ธ.ก.ส. อย่างไร?
- หวยเกษียณออกโดย กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) คนที่จะซื้อได้ คือ สมาชิก กอช. ผู้ประกันตน มาตรา 40 และแรงงานนอกระบบ
- สลากใบละ 50 บาท สามารถซื้อได้ทุกวัน แต่ไม่เกิน 3,000 บาท หรือ 60 ใบต่อเดือน
- ออกรางวัลทุกสัปดาห์ (ทุกวันศุกร์ 17.00 น.)
- รางวัลที่ 1 มูลค่า 1,000,000 บาท จำนวน 5 รางวัล และรางวัลที่ 2 มูลค่า 1,000 บาท จำนวน 10,000 รางวัล
- เมื่อถูกรางวัลรับเงินรางวัลได้ทันที ส่วนเงินที่ซื้อสลากทั้งหมดจะถูกเก็บไว้ที่บัญชีเงินออมกับ กอช. จะสามารถถอนออกมาได้ก็ต่อเมื่ออายุครบ 60 ปี หรือเข้าสู่วัยเกษียณแล้ว
นั่นหมายความว่า ยิ่งเริ่มออมเร็ว เงินของเรายิ่งถูกเก็บนาน แต่ละคนมีระยะเวลาถือครองไม่เท่ากัน ต่างจากสลากออมทรัพย์ที่กำหนดอายุรับฝากไว้ชัดเจน เช่น 1 ปี 2 ปี หรือ 3 ปี เป็นต้น
- สลากออมทรัพย์ออกโดยธนาคาร ต้องถือครองจนครบกำหนดเช่นกัน ถึงจะได้ดอกเบี้ยตามที่แบงก์ระบุไว้
- กรณีไถ่ถอนก่อนครบกำหนดอาจจะได้รับดอกเบี้ยน้อยลง หรือถูกหักเงินต้น ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของสลาก
- สลากแต่ละชุด มีราคาแตกต่างกันไป ตั้งแต่หลักสิบถึงหลักพัน
- จับรางวัลทุกเดือน มีหลายรางวัลด้วยกัน แล้วแต่ข้อกำหนดของแต่ละธนาคาร
แต่ข้อเหมือนของหวยเกษียณและสลากออมทรัพย์ คือ เงินที่ซื้อสลากไปจะไม่หาย ต่อให้เราไม่ถูกรางวัล ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการออมเงิน
ทั้งนี้ รายระเอียดของหวยเกษียณอาจจะมีการเปลี่ยนแปลง เป็นเรื่องที่ยังต้องตามกันต่อไป รวมถึงที่ต้องจับตาคือ ดอกเบี้ย เรื่องนี้มีความเห็นจาก รศ.ดร. ธนวรรรน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และโฆษกคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล มองว่า ในเชิงนโยบายถือว่าเป็นนโยบายที่น่าสนับสนุน เป็นการส่งเสริมการออม แต่ขณะนี้ยังไม่รู้รายละเอียดของอัตราดอกเบี้ยว่าจะอยู่ที่เท่าไหร่ และจะสอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อหรือไม่
ยิ่งเมื่อเป็นเงินที่เราต้องถือไว้ระยะยาว เป็นสิบ ๆ ปี เงินฝาก 100 บาทของเราวันนี้ เมื่อไปถอนตอนอายุ 60 ปี ตอนนั้นค่าเงินของเราออาจจะเหลือ 97 บาท ด้วยอัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้น ทำให้ต้องติดตามต่อไปว่าผลตอบแทนในเรื่องของดอกเบี้ยจากการซื้อหวยกษียณจะเป็นอย่างไร
นอกจากนี้ รศ.ดร. ธนวรรรน์ ยังแสดงความเห็นถึงการใช้งบประมาณปีละ 720 ล้านบาท ในการออกสลาก ว่านี่เป็นความท้าทายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือ กอช. ที่จะต้องบริหารจัดการ นำเงินไปลงทุนเพื่อให้ได้ผลประกอบการที่คุ้มค่า
ถึงจะบอกว่าเป็นนโยบายส่งเสริมการออม ทำมาเพื่อแก้ปัญหาให้คนไทยมีเงินออมไว้ใช้ในวัยเกษียณ แต่ทางด้าน รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ บอกว่า การส่งเสริมการออมเป็นเรื่องที่ดี นี่อาจเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกจุดนัก ถ้าหากว่าคนไทยยังคงติดกับดักหนี้ และมีรายได้ไม่พอรายจ่าย
รศ.ดร.อนุสรณ์ เสนอว่า หากจะแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน อาจจะต้องปฏิรูปโครงสร้างทางสถาบันเศรษฐกิจและระบบสวัสดิการ ให้เหมาะสมกับโครงสร้างประชากรสังคมสูงวัยของไทย ปรับรายได้ให้พอรายจ่าย ปรับปรุงระบบสวัสดิการชราภาพและสวัสดิการสังคมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม นโยบายหวยเกษียณยังคงอยู่ในระหว่างการดำเนินการ ซึ่งหลังจากนี้จะต้องมีการเข้าบอร์ดกอช. ขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี เพื่อให้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย และรับฟังความเห็นต่อไป ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน – 1 ปี รายละเอียดต่าง ๆ อาจจะมีการเปลี่ยนอีกครั้ง
แล้วทุกคนคิดว่าระหว่าง หวยเกษียณ กับ สลากออมทรัพย์ แบบไหนน่าจะเหมาะกับการการออมของเรามากกว่ากัน?