เซลส์ขายปากกาผู้อยากมีธุรกิจของตัวเอง สู่อาณาจักรเครื่องเขียน “LAMY”
ไขความลับการออกแบบของ “LAMY” แบรนด์เครื่องเขียนที่ยังคงเป็นที่นิยมแม้ในช่วงเวลาที่โลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล
ในช่วงเวลาที่โลกกำลังเดินหน้าเข้าสู่ยุคดิจิทัลและออนไลน์อย่างต่อเนื่อง อุปกรณ์เครื่องเขียนแบบแอนะล็อก เช่น ปากกา ดินสอ อาจกำลังกลายเป็น “ของตกยุค” ในสายตาใครหลายคน
แต่ท่ามกลางสถานการณ์แบบนี้ “LAMY” (ลามี่) แบรนด์ปากกาสัญชาติเยอรมันซึ่งอยู่มานานเกือบ 100 ปี กลับยังคงสามารถยืนหยัดอยู่ได้ ด้วยยอดขายผลิตภัณฑ์มากกว่า 8 ล้านชิ้นต่อปีในกว่า 80 ประเทศทั่วโลก พวกเขาทำได้อย่างไร?
-
เซลส์ขายปากกา Parker Pen ที่อยากมีธุรกิจของตัวเอง
ก่อนจะพูดถึงความสำเร็จของ LAMY เรามาดูจุดเริ่มต้นของแบรนด์นี้กันก่อน
LAMY ถือกำเนิดในปี 1930 โดยชายที่ชื่อว่า “โจเซฟ ลามี่” ซึ่งก่อนหน้านั้นเขาทำงานเป็นเซลส์และผู้จัดการสาขาให้กับ “Parker Pen” ผู้ผลิตปากกาหรูจากสหรัฐฯ แต่เขาต้องการมีธุรกิจเป็นของตัวเอง จึงลาออกมาตั้งโรงงาน “Orthos Füllfederhalter-Fabrik” ในเมืองไฮเดลเบิร์ก
ในช่วงแรกของการทำธุรกิจ โรงงานของโจเซฟทำหน้าที่ผลิตปากกาให้กับ 2 แบรนด์เยอรมันคือ “Orthos” และ “Artus” โดยสามารถผลิตปากกาได้มากถึง 200,000 ด้ามต่อปี
จนกระทั่งปี 1948 หรือไม่นานหลังสงครามสิ้นสุด โจเซฟได้เปลี่ยนโรงงานเป็นบริษัท C. Josef Lamy GmbH อย่างเป็นทางการ
จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในปี 1952 เมื่อโจเซฟเลิกผลิต Orthos และ Artus โดยหันมาพัฒนาปากกาของตัวเองได้สำเร็จภายใต้ชื่อแบรนด์ LAMY เป็นปากกาหมึกซึมรุ่น “LAMY 27”
ปากกา LAMY กลายเป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็ว เพราะนำนวัตกรรม “Tintomatik” (ทินโทมาติก) มาใช้ นวัตกรรมนี้จะช่วยให้น้ำหมึกไหลจากช่องเก็บหมึกมายังหัวปากกาได้โดยไม่มีหมึกขาดหรือหมึกซึมขณะเขียน ทำให้ผู้ใช้สามารถเขียนได้อย่างลื่นไหลไม่ขาดตอนและไม่ต้องคอยรำคาญกับปัญหาหมึกเลอะเปรอะเปื้อน
Tintomatik กลายเป็นรากฐานสำคัญของปากกา LAMY ที่ยังคงใช้มาจนถึงปัจจุบันและทำให้ผู้บริโภคได้รับประสบการณ์การขีดเขียนที่ดี สัมผัสและครอบครอง "ปากกา LAMY " ดั่งยอดนักธุรกิจได้ที่ >ลิ้งก์< นี้
เช็กโปรแกรมกีฬาโอลิมปิก 2024 เวลาแข่งขัน Olympic 2024 วันที่ 26 ก.ค.67
เช็กโปรแกรม และผลการแข่งขัน "แบดมินตัน" ศึกโอลิมปิก ปารีสเกมส์ 2024
รถไฟความเร็วสูงฝรั่งเศสหยุดชะงัก จากเหตุที่คาดว่าเป็น “การก่อวินาศกรรม”
-
จาก “หนึ่งใน” กลายเป็น “ยักษ์ใหญ่” ของวงการ
ความสำเร็จของ LAMY 27 ทำให้โจเซฟตัดสินใจย้ายที่ตั้งบริษัทไปยังสถานที่ตั้งใหม่ในไฮเดลเบิร์ก ในเขตไวบลิงเกน ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่จนถึงทุกวันนี้
การย้ายไปยังไฮเดลเบิร์กถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของ LAMY ในฐานะแบรนด์ เพราะเมืองดังกล่าวเป็นเมืองมหาวิทยาลัย ยังเป็นศูนย์กลางของความก้าวหน้าและนวัตกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคศิลปะและการออกแบบ จึงมีความต้องการเครื่องเขียนคุณภาพสูงในพื้นที่นี้
ก่อนที่ LAMY จะมีผลิตภัณฑ์ของตัวเอง เป็นช่วงที่แนวโน้มและความต้องการของผู้ใช้ปากกามีการเปลี่ยนแปลงพอดี เพราะมีการถือกำเนิดของปากกาลูกลื่นในช่วงทศวรรษที่ 1940
นั่นทำให้มีความต้องการปากกาลูกลื่นคุณภาพดีมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งแน่นอนว่า LAMY มองเห็นถึงโอกาสนี้ จึงเปิดตัว “LAMY Exact” ปากกาลูกลื่นรุ่นแรกของแบรนด์ในปี 1964 ปากการุ่นนี้มีไส้ปากกาความจุขนาดใหญ่และหัวปากกาทำจากสแตนเลส ประกอบกับการออกแบบที่เรียบง่ายแต่ทันสมัย ทำให้ประสบความสำเร็จทั้งในและต่างประเทศ
2 ปีต่อมา ลูกชายของโจเซฟ คือ ดร.มันเฟรด ลามี่ เข้ามาช่วยงานบริษัทในฐานะผู้จัดการฝ่ายการตลาด ซึ่งชื่นชมการออกแบบผลิตภัณฑ์ของ “Braun” ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคสัญชาติเยอรมัน
ไม่นานหลังจากนั้น มันเฟรดได้พบกับอดีตดีไซเนอร์ของ Braun ชื่อ เกิร์ด มุลเลอร์ และตัดสินใจทำโปรเจกต์ร่วมกัน เป็นการออกแบบปากกาหมึกซึมตามสไตล์เบาเฮาส์ (Bauhaus) จนได้ผลงานออกมาเป็นปากกา “LAMY 2000” ซึ่งเปิดตัวในฤดูใบไม้ร่วงปี 1966
ปากกาหมึกซึมรุ่นใหม่นี้มีการปฏิวัติในหลายด้าน เพราะแตกต่างจากเครื่องเขียนแบรนด์อื่น ๆ ตรงที่ไม่มีวัสดุเหลือใช้และตัดการออกแบบที่เกินความจำเป็นออกไป ยึดตามหลักการของเบาเฮาส์ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การใช้งานจริง
LAMY 2000 ยังเป็นการผสมผสานวัสดุระหว่างสเตนเลสสตีลแบบผิวด้านและ “Makrolon” (มาโครลอน) ซึ่งเป็นเทอร์โมพลาสติกโพลีเมอร์ซึ่งไม่ค่อยมีใครรู้จักในขณะนั้น เพื่อสร้างปากกาที่สวยงาม น่าดึงดูด แต่ก็แข็งแกร่งและทนทานอย่างไม่น่าเชื่อ
LAMY 2000 ยังคงอยู่ในสายการผลิตจนถึงปัจจุบัน โดยมีการเปลี่ยนแปลงการออกแบบโดยรวมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น บ่งชี้ชัดว่าการออกแบบตั้งแต่เมื่อปี 1966 นั้นแทบจะสมบูรณ์แบบแล้ว
การถือกำเนิดของ LAMY 2000 เป็นจุดสำคัญที่เปลี่ยนมุมมองของผู้ผลิตปากกาในตลาด จากที่หลายคนมองว่า LAMY เป็นเพียงคู่แข่งที่อาจจะแข็งแกร่งนิดหน่อย กลายเป็นยักษ์ใหญ่ด้านนวัตกรรมและการออกแบบปากกา และเกิดคำนิยาม “LAMY Design” ขึ้นมา
-
หัวใจคือ “การออกแบบ”
มันเฟรดขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัท C. Josef Lamy GmbH ในปี 1973 และเดินหน้ายกระดับมาตรฐานคุณภาพการผลิตและการออกแบบของผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะ LAMY Safari ซึ่งเปิดตัวที่งานแฟรงค์เฟิร์ตแฟร์ในปี 1980
นี่เป็นอีกหนึ่งรุ่นในตำนานของปากกา LAMY เพราะเป็นรุ่นแรกที่สามารถเจาะตลาดกลุ่มเป้าหมายอายุ 10-15 ปีได้ ด้วยการออกแบบที่ศึกษาวิจัยจิตวิทยาเยาวชนรวมถึงหลักการตามสรีรศาสตร์ และความร่วมมือกับนักออกแบบชื่อดัง วูล์ฟกัง ฟาเบียน ทำให้ได้การออกแบบที่เหมาะกับความต้องการของเด็กนักเรียนอย่างสมบูรณ์แบบ จน LAMY Safari กลายเป็นปากกา LAMY ที่ขายดีที่สุด
ในปี 1985 LAMY ได้เปิดโรงงานฉีดขึ้นรูป (Injection Molding) ของตัวเอง ทำให้สามารถผลิตปากกา หมึกซึม หมึกเติม และตลับหมึกได้ด้วยตนเองแบบครบวงจร และควบคุมคุณภาพการผลิตได้ง่ายขึ้น
นั่นทำให้ LAMY พร้อมที่จะเปิดตัวแบรนด์หมึกของตัวเองในที่สุดในปี 1989 ซึ่งน่าเสียดายที่โจเซฟไม่ทันได้เห็น เพราะเขาเสียชีวิตไปก่อนในเดือน ก.ค. 1986 ขณะอายุ 87 ปี
ในปี 2000 แบรนด์เริ่มก้าวเข้าสู่ตลาดใหม่ ๆ เช่น ดินสอ ด้วยการพัฒนาดินสอกด LAMY Scribble ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบในหมู่ศิลปินจากความพอดีมือที่ง่ายต่อการเขียนหรือวาดภาพ นอกจากนี้ยังมี LAMY abc ปากกาสำหรับเด็กเล็กด้วย ซึ่งทั้งหมดยังคงยึดในหลักของการออกแบบที่เหมาะสมกับสรีระผู้ใช้
ปากกาของ LAMY นอกจากจะเป็นที่ชื่นชอบในหมู่ผู้ใช้งานแล้ว ยังการันตีความสำเร็จด้วยการกวาดรางวัลด้านการออกแบบมามากกว่า 100 รายการ เช่น European Design Prize 1988 หรือปากกา LAMY Spirit ที่คว้ารางวัล Design Oscar 1996 และ LAMY Pico คว้า Oscar Design 2004
ยังมี LAMY Noto ที่ได้รางวัล Design Award of the Federal Republic of Germany เมื่อปี 2010 และ 3 ปีต่อมาได้รับรางวัล German Standards Brand Award ในประเภทปากกาหมึกซึม รวมถึงได้รับเลือกให้เป็น “แบรนด์แห่งศตวรรษ” หรือ “แสงสว่างในหมู่แบรนด์”
นอกเหนือจากนวัตกรรมผลิตภัณฑ์มากมายแล้ว ในปี 2016 LAMY ได้เปิดร้านค้าเรือธงแห่งแรกขึ้นในเยอรมนีที่ไฮเดลเบิร์ก และขยับขยายต่อเนื่องจนปัจจุบันมีมากกว่า 200 สาขาทั่วโลก และมีร้านค้าออนไลน์ที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ
รายได้ของ LAMY ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาไม่มีรายงานที่ชัดเจน ตัวเลขล่าสุดที่เปิดเผยออกมาคือรายได้ปี 2018 ซึ่งอยู่ที่ 118 ล้านยูโร (ราว 4.6 พันล้านบาท) ส่วนในปี 2022 มีการรายงานเพียงว่า ยอดขายระดับโลกของแบรนด์มาจากช่องทางออนไลน์หรืออีคอมเมิร์ซถึง 40% และยอดขายภาพรวมทั้งหมดเพิ่มขึ้น 7 เท่าจากปีก่อนหน้า
-
แบรนด์เยอรมันใต้ร่มธงญี่ปุ่น
ภายใต้การบริหารของมันเฟรด LAMY เติบโตขึ้นอย่างมากจนกลายเป็นแบรนด์เครื่องเขียนที่คนทั่วโลกรู้จัก แต่เขาได้จากไปเมื่อปี 2021 ที่ผ่านมาด้วยวัย 84 ปี โดยมี “สเตฟเฟน รุบเคอ” ขึ้นเป็นซีอีโอคนใหม่
หลังจากนั้นสถานการณ์ของ LAMY กลับดูไม่สู้ดีนัก เพราะสุดท้ายในปี 2024 บริษัท C. Josef Lamy GmbH ต้องขายกิจการให้กับยักษ์ใหญ่ด้านเครื่องเขียนในญี่ปุ่นอย่าง “Mitsubishi Pencil Co., Ltd.” (มิตซูบิชิเพนซิล)
กระบวนการซื้อขายสำเร็จไปเมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2024 ที่ผ่านมาด้วยการขายหุ้นทั้งหมดในบริษัทไปแล้ว
มิตซูบิชิเพนซิลระบุว่า หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้เกิดการขายกิจการ เกิดจากความจำเป็นของ LAMY ในการหาพันธมิตรที่แข็งแกร่ง เพื่อขยายขอบเขตการเติบโตของอุตสาหกรรมเครื่องเขียนในยุคดิจิทัลและขยายการขายระหว่างประเทศ ซึ่งมิตซูบิชิเพนซิลสามารถช่วยในประเด็นนี้ได้
ในขณะเดียวกัน การเข้าซื้อกิจการก็เพื่อรับประกันว่า สำนักงานใหญ่และโรงงานผลิตของ LAMY ในไฮเดลเบิร์กจะยังคงอยู่ และจะมีการลงทุนในการพัฒนาแบรนด์ต่อไป
ซูฮาระ ชิเงฮิโกะ ประธานและซีอีโอรุ่นที่ 6 ของมิตซูบิชิเพนซิล กล่าวว่า “เราให้ความเคารพอย่างสูงสุดต่อประวัติศาสตร์และความแข็งแกร่งของแบรนด์ LAMY เราเชื่อว่าวิสัยทัศน์และวัฒนธรรมองค์กรของ LAMY และมิตซูบิชิเพนซิลนั้นเข้ากันได้อย่างลงตัว”
เขาเสริมว่า “นอกจากนี้ เรายังมั่นใจว่า การเข้าซื้อบริษัท LAMY จะเป็นรากฐานที่แข็งแกร่งสำหรับการเติบโตในอนาคต และเพิ่มมูลค่าให้กับทั้ง LAMY และมิตซูบิชิเพนซิล”
ด้าน เวรา ลามี่ อดีตผู้ถือหุ้นของ C. Josef Lamy GmbH อธิบายว่า “เป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับเราในการหาบริษัทที่เข้มแข็งและเต็มใจที่จะทำงานร่วมกับพนักงานของ LAMY และเปิดศักราชใหม่ให้กับ LAMY ร่วมกับเราทุกคน พันธมิตร เราได้พบบริษัทนั้นแล้ว”
มาร์คัส ลามี่ อีกหนึ่งผู้ถือหุ้นกล่าวเสริมว่า “แก่นแท้ของแบรนด์ LAMY จะถูกรักษาและพัฒนาต่อไป”
สำหรับมิตซูบิชิเพนซิลนั้น เป็นบริษัทเครื่องเขียนเก่าแก่ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1887 เป็นเจ้าของแบรนด์เครื่องเขียนชื่อดังในญี่ปุ่นอย่าง “ยูนิ” (Uni) ปัจจุบันมีพนักงานมากกว่า 2,700 คนทั่วโลก มีสำนักงานขายระหว่างประเทศ 22 แห่ง และมีโรงงานผลิต 11 แห่ง
เรียบเรียงจาก (1) (2) (3) (4) (5)