“Dr. Martens” รองเท้าบู๊ตแดนผู้ดี ความจริงเกิดจากหมอในกองทัพเยอรมัน
ต้นกำเนิดรองเท้า “Dr. Martens” แบรนด์อังกฤษที่ความจริงแล้วเกิดในเยอรมนี รองเท้าของชนชั้นแรงงานที่พลิกผันกลายเป็นรองเท้าแฟชั่นอย่างไม่คาดคิด
ชื่อของ “Dr. Martens” (ดอกเตอร์มาร์ตินส์) เป็นที่จดจำในฐานะรองเท้าที่ทนทานและใส่สบายจากแดนผู้ดีอังกฤษ และก่อนจะกลายเป็นสัญลักษณ์เชิงวัฒนธรรมในยุคหนึ่ง หรือองค์ประกอบแฟชั่นอย่างทุกวันนี้ Dr. Martens เคยเป็นรองเท้ายอดนิยมในหมู่ “ชนชั้นแรงงาน”
นอกจากนี้ แม้ Dr. Martens จะมาจากอังกฤษ แต่จุดเริ่มต้นจริง ๆ แล้วมาจากเยอรมนีต่างหาก ไม่เพียงเท่านั้น แบรนด์นี้ยังเคยเกือบล้มละลายมาแล้วแต่คืนชีพมาได้
นี่คือเรื่องราวที่น่าสนใจและไม่เหมือนใครของ Dr. Martens
“นายกฯอิ๊งค์” ถึงเชียงรายลุยน้ำท่วม ปลอบผู้ประสบภัย ยังเหลือชีวิตอยู่!
เทียบตัวท็อป 2 ค่ายดัง iPhone 16 Pro Max vs Samsung Galaxy S24 Ultra
เลือกตั้งสหรัฐฯ 2024: “ทรัมป์” ไม่ดีเบต “แฮร์ริส” อีก ลั่นไม่จำเป็นต้องแก้มือ
เมื่อแพทย์และช่างทำรองเท้าได้พบกัน
เรื่องราวของ Dr. Martens เกิดจากการพบกันของแพทย์ชาวเยอรมันและบริษัทผู้ผลิตรองเท้าสัญชาติอังกฤษ
โดยเมื่อปี 1901 “ครอบครัวกริกส์” (Griggs) ประกอบอาชีพผลิตรองเท้าบู๊ตในเมืองเล็ก ๆ ชื่อวอลลัสตัน (Wollaston) ในนอร์แทมป์ตันเชียร์ของอังกฤษ ก่อนพัฒนาเป็นบริษัท R. Griggs Group และกลายเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมรองเท้าของอังกฤษ รองเท้าของกริกส์มีชื่อเสียงในฐานะรองเท้าบู๊ตสำหรับทำงานที่แข็งแรงทนทาน
ขณะเดียวกัน ในปี 1945 ไม่นานก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง “ดร.เคลาส์ มาร์ตินส์” แพทย์ในกองทัพเยอรมัน ได้รับบาดเจ็บที่ข้อเท้า และพบว่ารองเท้าทหารแบบมาตรฐานที่เขาใส่ประจำไม่เหมาะสวมใส่ขณะบาดเจ็บ และไม่สบายเท้าเอาเสียเลย
ระหว่างการพักฟื้นเขาจึงได้ลองออกแบบรองเท้าบู๊ตที่ตัวเองจะใส่แล้วไม่เจ็บ โดยใช้หนังนิ่มและพื้นรองเท้าแบบอัดอากาศ (Air-padded Sole) ที่ทำจากยางรถยนต์ และปรากฏว่ามันสบายเท้าอย่างมาก ต่างจากพื้นรองเท้าหนังแข็ง ๆ แบบเดิม
เมื่อสงครามสิ้นสุดลง เขาจึงได้ซื้อหนังจากร้านทำรองเท้า และใช้หนังนั้นทำรองเท้าที่มีพื้นรองเท้าแบบอัดอากาศสำหรับใช้เองก่อน และสนใจที่จะนำออกวางขายสร้างรายได้
แต่มาร์ตินส์ไม่ประสบความสำเร็จเท่าไรนัก กระทั่งในปี 1947 เขาได้พบกับเพื่อนเก่าสมัยเรียนมหาวิทยาลัยมิวนิก นั่นคือ เฮอร์เบิร์ต ฟังก์ วิศวกรช่างกล
ฟังก์รู้สึกสนใจรองเท้าแบบใหม่ที่มาร์ตินส์ออกแบบ และในปีนั้น ทั้งสองก็เริ่มต้นทำธุรกิจในเมืองซีเซาปต์ ประเทศเยอรมนี โดยใช้ยางในอุปกรณ์ทางทหารเหลือทิ้งมาขึ้นรูปด้วยแม่พิมพ์ และเริ่มผลิตรองเท้ารุ่นพิเศษของตนออกวางจำหน่าย
ธุรกิจของพวกเขาเฟื่องฟู รองเท้าที่สวมใส่สบายได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่แม่บ้าน โดยยอดขายในช่วงแรกของธุรกิจกว่า 80% ในช่วงแรกเป็นของผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 40 ปี ยอดขายที่เติบโตขึ้นมากทำให้ในปี 1952 พวกเขาตัดสินใจเปิดโรงงานในมิวนิก
จากนั้นในปี 1959 พวกเขาตัดสินใจว่า ถึงเวลาแล้ว ที่จะโฆษณารองเท้าที่คิดค้นขึ้นใหม่นี้ในนิตยสารต่างประเทศ เพื่อให้ผู้คนนอกเยอรมนีได้รู้จักรองเท้าของพวกเขา
ในช่วงเวลานั้น บริษัทกริกส์ซึ่งบริหารงานโดย บิล กริกส์ ทายาทรุ่นที่ 3 ของครอบครัว ได้เปิดดูนิตยสารเกี่ยวกับรองเท้าอยู่ สายตาของบิลไปสะดุดเข้ากับโฆษณารองเท้าที่มีพื้นรองเท้าอัดอากาศรองรับแรงกระแทกสุดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นผลงานของบริษัทสัญชาติเยอรมัน
ด้วยความสนใจ R. Griggs Group ติดต่อขอซื้อสิทธิบัตรเพื่อผลิตรองเท้าของมาร์ตินส์ในอังกฤษ รวมถึงเปลี่ยนชื่อแบรนด์เป็นภาษาอังกฤษว่า “Dr. Martens” เพื่อเป็นเกียรติแก่มาร์ตินส์ที่เป็นผู้คิดค้น
กำเนิดบู๊ตในตำนาน Dr. Martens 1460
นอกจากสิทธิบัตรในการผลิตและจำหน่ายแล้ว บิล กริกส์ ยังได้รับลิขสิทธิ์พิเศษและมีสิทธิในการเปลี่ยนแปลงการออกแบบที่สำคัญบางประการ รวมถึงการปรับส้นรองเท้า ส่วนบนที่นูนแต่เรียบง่าย การเย็บขอบสีเหลืองอันโดดเด่น ขอบรองเท้าแบบมีร่องสองสี และรูปแบบพื้นรองเท้าที่ไม่เหมือนใคร
รองเท้าบู๊ตเหล่านี้มาพร้อมรูร้อยเชือก 8 รู, ตราที่เขียนว่า “Airwair” และสโลแกน “With Bouncing Soles” (พื้นรองเท้าเด้งได้) เกิดเป็นรองเท้าบู๊ตแบบหนังเรียบสีแดงเชอร์รีสุดไอคอนิก “Dr. Martens รุ่น 1460” โดยชื่อรุ่นมีที่มาจากวันที่ที่เปิดตัว คือ 1 เมษายน 1960
ไม่เพียงเท่านั้น พื้นรองเท้าแบบอัดอากาศยังได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอย่างเป็นทางการด้วย
ในช่วงแรก คนที่ใส่รองเท้า Dr. Martens ทักเป็นคนงาน เช่น พนักงานส่งจดหมาย เจ้าหน้าที่ตำรวจ คนงานในโรงงาน ไปจนถึงคนสวน
เนื่องจากรองเท้า Dr. Martens ในยุคนั้นมีอายุการใช้งานที่สั้นมาก ราว ๆ 2 ปีเท่านั้น ทำให้รองเท้าของแบรนด์ถูกมองว่าเป็น “รองเท้าบู๊ต 2 ปอนด์สำหรับทำงาน” และสามารถขายได้เป็นจำนวนมากให้กับชนชั้นแรงงานของอังกฤษ
หลังประสบความสำเร็จจาก Dr. Martens 1460 ทางแบรนด์ได้ออกรุ่นใหม่ในปีต่อมาคือ รุ่น 1461 ซึ่งเป็นรองเท้าหนังข้อสั้นรุ่นแรกของแบรนด์ นอกจากนี้ยังมีเชลซีบู๊ตรุ่น 2976 ที่ต่อยอดมาจากบู๊ตเดิม
รองเท้าของ Dr. Martens ที่มีชื่อรุ่นเป็นตัวเลข ทั้ง 1460, 1461 และ 2976 มักถูกเรียกรวมว่าเป็นสินค้ากลุ่มออริจินัล (Original) ของแบรนด์ เป็นกลุ่มที่ได้รับความนิยมอย่างมาก และยังคงมีการผลิตอยู่จนถึงปัจจุบันนี้
ผลิตภัณฑ์กลุ่มออริจินัลเป็นที่นิยมในระดับที่ว่า แม้แต่ในการรายงานผลประกอบการประจำปี 2023 ที่ผ่านมา สินค้ากลุ่มนี้มีสัดส่วนคิดเป็นถึง 46% ของรายได้ทั้งหมด เรียกได้ว่าเกือบครึ่งเลยทีเดียว
จากบู๊ตคนงาน สู่สัญลักษณ์เชิงวัฒนธรรม
ทศวรรษที่ 1960 ซึ่งเป็นทศวรรษที่รองเท้า Dr. Martens ถือกำเนิดขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน มีแนวคิดใหม่ ๆ มีการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม และในที่สุดก็เกิดการปฏิวัติทางสังคม
บรรยากาศที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วนี้ยังทำให้เกิดแฟชั่นที่แปลกใหม่ กลายเป็นอานิสงส์ที่ทำให้รองเท้าบู๊ตเพื่อทำงานของชนชั้นแรงงานอย่าง Dr. Martens ได้ก้าวสู่การเป็นสัญลักษณ์เชิงวัฒนธรรมและวงการแฟชั่น
ในช่วงเวลานั้น กลุ่มวัยรุ่นสกินเฮดยุคแรก ๆ ที่ชื่นชอบดนตรีสกาเริ่มจับจองซื้อรองเท้า Dr. Martens โดยที่ทางแบรนด์ก็ไม่เข้าใจและไม่ทันตั้งตัว
กลุ่มสกินเฮดภูมิใจที่ได้สนับสนุนสไตล์ชนชั้นแรงงานของอังกฤษ หลังจากนั้นไม่นาน “พีต ทาวน์เชนด์” แห่งวง The Who ได้เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงคนแรกที่สวมรองเท้า Dr. Martens เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความภาคภูมิใจในชนชั้นแรงงานและทัศนคติต่อต้านสังคมของตนเอง
ทั้งวัยรุ่นสกินเฮดและทาวน์เชนด์ต่างเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ของแบรนด์ Dr. Martens โดยเปลี่ยนรองเท้าบู๊ตสำหรับสวมใส่ทำงานที่ให้กลายเป็นซับคัลเจอร์ที่สำคัญในอังกฤษ
ในช่วงปลายทศวรรษ 1960 ผู้คนเริ่มเรียก Dr. Martens แบบเท่ ๆ คูล ๆ ว่า “Docs” หรือ “DMs” จนกลายเป็นชื่อเล่นที่เรียกกันทั่วไปจนถึงทุกวันนี้
และในช่วงปลายทศวรรษ 1970 รองเท้าเหล่านี้ได้รับความนิยมในหมู่นักขี่สกู๊ตเตอร์ กลุ่มพังก์ นักดนตรีแนวนิวเวฟ และกลุ่มย่อยในหมู่เยาวชนอื่น ๆ รวมถึงรองเท้า Dr. Martens ยังได้รับความนิยมในหมู่สกินเฮดฝ่ายขวาทางการเมืองด้วย
ขณะเดียวกัน นักดนตรีแนวฮาร์ดคอร์จากสหรัฐฯ ที่มาออกทัวร์ทั่วอังกฤษได้นำรองเท้า Dr. Martens กลับไปที่ทวีปอเมริกา ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการนำแบรนด์นี้ไปใช้ในกลุ่มวัฒนธรรมย่อยของสหรัฐฯ โดยไม่ได้ตั้งใจ
รองเท้าบู๊ตและรองเท้าของ Dr. Martens ได้รับความนิยมถึงขีดสุดในช่วงทศวรรษ 1990 เมื่อแฟชั่นแนวกรันจ์ (Grunge – พังก์บวกเฮฟวีเมทัล) เริ่มได้รับความนิยม
ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 1994 ห้างสรรพสินค้า Dr. Martens ความสูง 6 ชั้นได้เปิดทำการในย่าน Covent Garden ของกรุงลอนดอน ซึ่งจำหน่ายทั้งผลิตภัณฑ์ของตัวเองและจำหน่ายอาหาร เข็มขัด และนาฬิกาอีกด้วย
ในเวลานั้น มีรายงานว่า บริษัท R. Griggs มีพนักงาน 2,700 คน ทำรายได้เฉลี่ย 170 ล้านปอนด์ต่อปี และสามารถผลิตรองเท้าได้ถึง 10 ล้านคู่ต่อปี
เกือบหลับแต่กลับมาได้
ราวปี 2000 ไม่นานหลังจากแบรนด์มีอายุครบ 40 ปี ยอดขาย Dr. Martens ลดลงอย่างมากจนต้องปิดโรงงานในอังกฤษเกือบทั้งหมดจนเหลือเพียงแห่งเดียว และย้ายการผลิตทั้งหมดไปที่จีนและไทย เพื่อป้องกันการล้มละลาย
พนักงานของบริษัทมากกว่า 1,000 คนต้องตกงาน โดย บริษัท R. Griggs จ้างพนักงานเพียง 20 คนในอังกฤษ ซึ่งทั้งหมดอยู่ในสำนักงานใหญ่ของบริษัท ในปี 2003 Dr. Martens ทำยอดขายได้เพียง 5 ล้านคู่ ซึ่งคิดเป็นครึ่งหนึ่งของยอดขายในช่วงทศวรรษ 1990
แต่ขณะที่สถานการณ์กำลังย่ำแย่ ในปี 2003 แบรนด์เริ่มฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง หลังนักออกแบบจากอุตสาหกรรมแฟชั่นชั้นนำจากทั่วโลกได้นำรองเท้าบู๊ตรุ่น 1460 ไปตีความและออกแบบใหม่ให้เข้ากับยุคสมัย และกลายมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง
ในปี 2004 Dr. Martens ได้เปิดตัวรองเท้ารุ่นใหม่เพื่อเจาะตลาดที่กว้างขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนหนุ่มสาว รองเท้าและรองเท้าบู๊ตได้รับการออกแบบมาให้สวมใส่สบายและสวมใส่ได้ง่ายขึ้น รวมถึงมีองค์ประกอบการออกแบบใหม่ ๆ เข้ามาด้วย
ในปี 2007 การฟื้นคืนชีพยังคงดำเนินต่อไป เมื่อโรงงานเดิมที่ Cobbs Lane ในเมืองนอร์ธแธมป์ตันได้เริ่มผลิตรองเท้า Dr. Martens กลุ่มออริจินัลด้วยมืออีกครั้ง ซึ่งนำมาสู่การเป็นเสาหลักของแบรนด์ด้วยการทำยอดขายให้แบรนด์ได้เกือบครึ่งหนึ่งของรายได้ทั้งหมดตามที่ระบุไว้ก่อนหน้านี้
ยอดขายรองเท้า Dr. Martens ทั่วโลกเติบโตอย่างมากในช่วงต้นทศวรรษ 2010 และในปี 2012 บริษัทกลายเป็นบริษัทในอังกฤษที่เติบโตเร็วเป็นอันดับ 8
รองเท้า Dr. Martens มียอดขายมากกว่า 100 ล้านคู่ตั้งแต่ปี 1960-2010 และในปี 2010 บริษัทมีรองเท้าให้เลือกถึง 250 รุ่น และยังได้เปิดตัวไลน์ผลิตภัณฑ์กลุ่มเสื้อผ้าในปี 2011 อีกด้วย
ความเปลี่ยนแปลงสำคัญเกิดขึ้นในเดือนมกราคม 2021 เมื่อ Dr. Martens ได้เสนอขายหุ้นต่อสาธารณะ (IPO) ในตลาดหลักทรัพย์ลอนดอนสำเร็จ ด้วยมูลค่า 3.7 พันล้านปอนด์ ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในประวัติศาสตร์ของแบรนด์
ณ ปี 2023 Dr. Martens มีร้านค้าอยู่มากกว่า 200 สาขาทั่วโลก ทำรายได้อยู่ที่ 1 พันล้านปอนด์ (ราว 4.4 หมื่นล้านบาท) เพิ่มขึ้นเกือบ 11% จากปีก่อนหน้า สามารถขายรองเท้าได้ถึง 13.8 ล้านคู่
รายได้มากที่สุดมาจากภูมิภาคยุโรป 443 ล้านปอนด์ (ราว 1.95 หมื่นล้านบาท) รองลงมาคือภูมิภาคอเมริกา 428.2 ล้านปอนด์ (ราว 1.88 หมื่นล้านบาท) และภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 129.1 ล้านปอนด์ (ราว 5.7 พันล้านบาท)
นี่คือเรื่องราวความสำเร็จของ Dr. Martens รองเท้าบู๊ตสัญชาติอังกฤษที่จุดเริ่มต้นมาจากเยอรมัน ซึ่งพิลกผันจากการเป็นรองเท้าเพื่อชนชั้นแรงงานสู่รองเท้าไลฟ์สไตล์และแฟชั่นในดวงใจของใครหลายคน
เรียบเรียงจาก (1) (2) (3) (4) (5) (6)