เปิดตำนาน “Dior” ผู้ปฏิวัติวงการแฟชั่น กับชีวิตสุดพลิกผันกว่าจะถึงฝัน
ย้อนดูเส้นทางความสำเร็จของ “Dior” แบรนด์แฟชั่นหรูระดับโลกอายุเกือบ 80 ปี จากลูกคุณหนูที่ครอบครัวล้มละลาย กลายมาเป็นผู้ปฏิวัติวงการแฟชั่นได้อย่างไร?
“ไม่มีใครแก่เกินจะทำตามความฝัน” อาจเป็นประโยคที่ได้ยินกันจนเกร่อ บางคนอาจศรัทธาในคำพูดนี้ บางคนอาจมองว่าเป็นแค่คำพูดสวยหรูของคนที่ประสบความสำเร็จ แต่คน ๆ หนึ่งที่ดูเหมือนว่าชีวิตของเขาจะตรงกับประโยคนี้อย่างมากคือ “คริสเตียน ดิออร์” ผู้ก่อตั้งแบรนด์แฟชั่นหรูระดับโลก “Dior” (ดิออร์)
นั่นเพราะคริสเตียนก่อตั้งดิออร์ขึ้นมาขณะอายุมากกว่า 40 ปี ซึ่งหลายคนถือว่าเกินครึ่งชีวิตไปแล้ว และเขาได้ทำตามความฝันเพียง 10 ปีเท่านั้นก่อนจะเสียชีวิตลงอย่างน่าเสียดาย
แม้ความฝันของเขาจะสิ้นสุดในเวลาอันรวดเร็ว แต่ผลงานและความคิดสร้างสรรค์ที่เขาได้ออกแบบเอาไว้ กลับกลายเป็นมรดกตกทอดชิ้นสำคัญของโลกแฟชั่น จนไม่แปลกใจเลยที่หลายคนยังคงเคารพนับถือเขาในฐานะผู้ยิ่งใหญ่ของวงการมาจนถึงทุกวันนี้ และหลายคนได้รับแรงบันดาลใจจากไอเดียของเขา
แต่ก่อนที่เขาจะได้มาเปิดแบรนด์ดิออร์เป็นของตัวเองจนชื่อกระฉ่อนไปทั่วโลก เส้นทางชีวิตของนักออกแบบรายนี้ต้องบอกว่าไม่ง่ายเลย
ศาลไม่ให้ประกันตัว! "เดือน" ภรรยาทนายตั้ม วืดประกันครั้งที่ 2
แนะทางเลี่ยงทางด่วนพระราม 2 เหตุ "คานถล่ม" ตำรวจปิดช่องหลักไม่มีกำหนด
น้ำท่วมปัตตานียังวิกฤติ เสียชีวิตแล้ว 3 ราย ล่าสุดเด็ก 1 ขวบตกน้ำดับสลด
ลูกคุณหนูผู้รักในการขีดเขียน
คริสเตียน ดิออร์ เกิดเมื่อวันที่ 21 ม.ค. 1905 ที่หมู่บ้านกรองวีล (Granville) ในแคว้นนอร์มังดี ทางตอนเหนือของฝรั่งเศส โดยเกิดในตระกูลที่มีฐานะค่อนข้างร่ำรวยจากธุรกิจในอุตสาหกรรมปุ๋ยและสารเคมี
คริสเตียนเป็นลูกคนที่ 2 โดยมีพี่ชาย 1 น้องสาว 2 คน และน้องชายอีก 1 คน โดยเมื่ออายุได้ 5 ขวบ ครอบครัวของเขาตัดสินใจย้ายไปตั้งรกรากที่มหานครปารีสแทน
ในวัยเด็กคริสเตียนใกล้ชิดกับผู้เป็นแม่ ซึ่งมีความหลงใหลในประเพณีอันประณีตของชนชั้นกลาง มักสวมชุดที่ดูหรูหราและทุ่มเทให้กับวิถีชีวิตที่สวยงาม ซึ่งสะท้อนออกมาผ่านเฟอร์นิเจอร์ การตกแต่งบ้าน และสวนดอกไม้ของเธอ
เรื่องนี้ส่งผลอย่างยิ่งต่อคริสเตียน ทำให้เขาชอบทำสวนและจัดงานปาร์ตี้แฟนซี และมีงานอดิเรกเป็นการออกแบบเครื่องแต่งกายสำหรับงานในท้องถิ่นและงานคาร์นิวัล
คริสเตียนเข้าศึกษาที่สถาบันรัฐศาสตร์ จากความหวังของพ่อแม่ที่ต้องการให้เขาทำงานในสายอาชีพนักการทูต แต่ความสนใจของคริสเตียนอยู่ที่งานศิลปะมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาปัตยกรรม ดนตรี และการวาดภาพ
จนเมื่อเรียนจบ เขาเปิดแกลเลอรีงานศิลปะกับเพื่อนที่เป็นพ่อค้าของเก่าในปี 1928 โดยที่พ่อของเขาเป็นคนออกเงินให้
การเปิดแกลลอรีทำให้คริสเตียนได้ร่วมงานกับศิลปินแนวหน้าจำนวนมาก เช่น ซัลวาดอร์ ดาลี, อัลแบร์โต จาโคเมตติ รวมไปถึง ปาโบล ปิกัสโซ ซึ่งช่วยส่งเสริมแรงบันดาลใจและความคิดสร้างสรรค์ของเขาในงานออกแบบ
สูญเสียเกือบทุกอย่าง ยกเว้นความฝัน
ขณะที่ชีวิตของเขาดูเหมือนจะกำลังไปได้ดีกับเส้นทางที่เลือก โลกเผชิญภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression) ในปี 1929 ทำให้ธุรกิจปุ๋ยและสารเคมีของครอบครัวดิออร์ล้มละลาย
ในช่วงเวลาที่ยากลำบากนั้น แม่และน้องชายของเขายังเสียชีวิตกะทันหัน และด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ทำให้เขารักษาแกลลอรีไว้ไม่ไหวและจำต้องปิดกิจการในที่สุด
เรียกได้ว่า ในเวลาเพียง 2-3 ปีนั้น คริสเตียนแทบจะสูญเสียทุกอย่างไป ทั้งความสุขสบายที่เคยได้รับ เงินทองที่เคยมีให้ใช้สอยไม่ขาด รวมถึงแม่ผู้เป็นที่รัก แต่สิ่งที่เขายังเหลืออยู่คือ “ความสามารถ“
ในปี 1935 คริสเตียนเริ่มตั้งหลักได้ เขาเริ่มวาดภาพผลงานออกแบบเสื้อผ้าและขายดีไซน์ของเขาให้กับช่างทำหมวกและแบรนด์เสื้อผ้าชั้นสูง เช่น Jean Patou, Schiaparelli, Maggy Rouff, Worth, Balenciaga, Molyneux และ Paquin
นอกจากนี้ เขายังทำงานเป็นนักวาดภาพประกอบให้กับหนังสือพิมพ์ Le Figaro และนิตยสาร Jardin des Modes อีกด้วย
จนกระทั่งปี 1938 ดีไซเนอร์ชื่อดัง โรแบร์ ปีเกต์ สนใจในฝีมือของเขา จึงชักชวนให้ไปทำงานด้วยกัน คริสเตียนเคยเล่าว่า “ปีเกต์ขอให้ผมไปทำงานเป็นนักออกแบบให้กับเขา ผมรู้สึกตื่นเต้นกับข้อเสนอนี้และตอบรับทันที ในที่สุด ผมก็ได้รู้จักวิธีลึกลับที่ใช้ในการเปลี่ยนแนวคิดให้กลายเป็นชุดเดรส ผมได้ก้าวเข้าสู่จักรวาลแห่งก้าวแรกและห้องทำงานของจริง”
อย่างไรก็ตาม เขาทำงานอยู่ได้ไม่นาน ก็ถูกเกณฑ์ทหารไปร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 2 และปลดประจำการในปี 1941 ซึ่งเขาได้ไปทำงานกับนักออกแบบอีกคนคือ ลูเซียน เลอลอง
ในช่วงเวลานั้น ดีไซเนอร์ในฝรั่งเศสส่วนใหญ่หาทางรอดในความขัดแย้งด้วยการออกแบบเครื่องแต่งกายให้ภรรยาของเจ้าหน้าที่ทหารนาซี เพื่อรักษาอุตสาหกรรมแฟชั่นให้รอดพ้นสงคราม
หลังสงครามสิ้นสุด ดิออร์ที่มีประสบการณ์การเป็นดีไซเนอร์จากการทำงานกับปิเกต์และเลอลอง ได้เจอกับนักลงทุนที่เป็นเพื่อนสมัยเด็ก คือ มาร์เซล บูส์ซัก ซึ่งเป็นผู้อำนวยการของ Philippe & Gaston เฮาส์ตัดเสื้อชื่อดังซึ่งรู้จักกันในนามราชาแห่งผ้าฝ้าย แต่กำลังอยู่ในช่วงขาลงและมองหาดีไซเนอร์ที่จะมาคืนชีพให้กับธุรกิจ
คริสเตียนมองว่า เป็นเรื่องยากที่จะฟื้นฟู Philippe & Gaston ให้กลับมารุ่งเรืองดังเดิม เขาบอกว่า “มีคนมากมายก่อนหน้าผมที่พยายามฟื้นชื่อเสียงที่ครั้งหนึ่งเคยโด่งดัง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ การดำรงอยู่ของร้านตัดเสื้อเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ... ผมตัดสินใจว่า ธรรมชาติไม่ได้สร้างผมมาเพื่อชุบชีวิตคนตาย”
ในที่สุด คริสเตียนเสนอให้บูส์ซักสร้างเฮาส์ของตัวเองใหม่ทั้งหมดและสร้างขึ้นบนหลักการของความหรูหราและงานฝีมือ ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ดึงดูดความสนใจของบูศ์ซัก
ครอสเตียนบอกว่า “หลังจากสงคราม ผมเชื่อว่าทั่วโลกยังคงต้องการสิ่งใหม่ๆ ในวงการแฟชั่น” จนสุดท้ายพวกเขาเปิดเฮาส์หรือโอต์กูตูร์ (Haute Couture) ขึ้นมาเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 1946 ในกรุงปารีส และตั้งชื่อว่า “ดิออร์” อยู่ภายใต้บริษัท Boussac Group ถือเป็นจุดเริ่มต้นความฝันอันของคริสเตียนอย่างเป็นทางการ ซึ่งขณะนั้นเขามีอายุ 40 กว่าปีแล้ว
ดิออร์เคยบอกว่า “เฮาส์แห่งนี้น่าอยู่มากและมีห้องรับรองที่หรูหราเพียงพอ มีมุมพักผ่อนกว้างขวางเพียงพอที่จะรองรับพวกเราได้ถึง 85 คน”
คอลเล็กชันพลิกโลก
แม้ดิออร์จะก่อตั้งขึ้นในปี 1946 แต่ทางแบรนด์ระบุให้ปีต้นกำเนิดคือปี 1947 โดยยึดจากการออกคอลเล็กชันแรก “New Look”
คอลเล็กชันแรกของดิออร์เป็นคอลเล็กชันฤดูใบไม้ผลิ-ฤดูร้อน เปิดตัวในวันที่ 12 ก.พ. 1947 โดยคริสเตียนตั้งชื่อว่า “Corolle” และ “En 8” รวมทั้งหมด 90 ลุค
New Look ประกอบด้วยกระโปรงพลิ้วยาวคลุมน่อง เอวเข้ารูป และทรงที่ “พอง” ขึ้นกว่าที่เคยมีมา แต่ละชุดใช้ผ้าประมาณ 20 หลา เป็นการโต้แย้งข้อจำกัดด้านผ้าหลังสงคราม ความหรูหราของดีไซน์ของเขาตัดกันกับความเป็นจริงหลังสงครามที่เลวร้ายในยุโรป และช่วยฟื้นฟูปารีสให้กลับมาเป็นเมืองหลวงแห่งแฟชั่นที่สนุกสนานเช่นเดิม
การออกแบบของคริสเตียนถือเป็นการปฏิวัติวงการแฟชั่นในช่วงเวลานั้น ประกอบกับการที่ดาราดัง เช่น ริตา เฮย์เวิร์ธ หรือมาร์โกต์ ฟอนทีน ต่างแห่มาที่เฮาส์ของดิออร์เพราะต้องการชุด New Look ที่ล้ำสมัยนี้ แบรนด์นี้จึงเติบโตอย่างรวดเร็วและกลายเป็นที่ต้องการและชื่นชอบมากที่สุด
บรรณาธิการบริหารของ Harper’s Bazaar นิตยสารชื่อดังในยุคนั้นกล่าวว่า “คริสเตียนที่รัก ชุดของคุณมีลุคใหม่ (New Look) ที่น่าทึ่งมาก!”
ชื่อ New Look ยังถูกนำไปใช้โดยผู้สื่อข่าวของรอยเตอร์ทันทีและแพร่หลายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นคำพ้องความหมายสำหรับเรียกเสื้อผ้าทรงพองที่ยังคงเป็นหนึ่งในลักษณะเฉพาะของสไตล์ของแบรนด์จนถึงทุกวันนี้
คอลเล็กชันแรกของดิออร์ยังได้นำเสนอผลงานชิ้นหนึ่งที่เป็นสัญลักษณ์มากที่สุดของแบรนด์ นั่นคือ “Bar Jacket” ซึ่งตัดเย็บจากผ้าแพรชานตุงสีครีม โดยดีไซน์ให้ออกสง่างามตามสัดส่วนของร่างกายผู้หญิง เน้นหน้าอกและสะโพกโค้งมน ซึ่งแตกต่างจากเสื้อผ้าใด ๆ ที่เคยมีมาก่อน เมื่อจับคู่กับกระโปรงบาน รองเท้าทรงเพรียวบาง และหมวกทรงกล่อง ทำให้ได้บรรยากาศที่สดชื่น ทันสมัย และแตกต่างจากสไตล์เรียบ ๆ ของยุคสงครามอย่างสิ้นเชิง
ในปี 1947 คริสเตียนยังได้เปิดตัว “น้ำหอม” ตัวแรกของแบรนด์ นั่นคือ “Miss Dior” ซึ่งเขาระบุว่าถูกทำขึ้นเพื่ออุทิศให้น้องสาวของเขา แจ็กเกอลีน ดิออร์ โดยน้ำหอมตัวแรกนี้ก็ขายดีเป็นเทน้ำเทท่าไม่ต่างจากเสื้อผ้าของดิออร์เลยทีเดียว และเป็นรากฐานสำคัญให้ดิออร์ประสบความสำเร็จในอุตสาหกรรมน้ำหอมไม่แพ้เสื้อผ้า
หลังจากนั้นคริสเตียนได้ออกแบบคอลเล็กชันที่มีชื่อเสียงอีกหลายชุด เช่น คอลเล็กชันฤดูใบไม้ผลิปี 1953 “Tulip” ที่มีลายดอกไม้พลิ้วไหวมากมาย หรือคอลเล็กชัน “A-line” ของฤดูใบไม้ผลิปี 1955 ที่มีเอวไม่ชัดเจนและรูปร่างเรียบเนียนที่ขยายกว้างขึ้นบริเวณสะโพกและขามีลักษณะคล้ายตัวอักษร “A” ตัวใหญ่
ยึด 5 ทวีปในเวลา 10 ปี
เพียงปีเดียวหลังเปิดเฮาส์ ดิออร์เติบโตอย่างรวดเร็วจนสามารถเปิดบูติกที่มหานครนิวยอร์กของสหรัฐฯ ได้ เป็นการก้าวสู่ตลาดต่างประเทศครั้งแรกของแบรนด์
ในช่วงเวลานี้เองที่คริสเตียนตระหนักได้ว่า หากต้องการคงกระแส New Look นี้ไว้ แบรนด์ของเขาจะต้องมอบประสบการณ์ด้านแฟชั่นทั้งหมดให้กับแบรนด์ ซึ่งหมายถึงการอนุญาตให้ใช้ชื่อดิออร์สำหรับเครื่องประดับ รองเท้า หมวก ถุงมือ และเครื่องแต่งกายอื่น ๆ เพื่อให้ตั้งแต่หัวจรดเท้าเป็นภาพลักษณ์ใของดิออร์เพียงหนึ่งเดียว
คริสเตียนเป็นนักออกแบบเสื้อผ้าคนแรกที่อนุญาตให้ใช้ชื่อของแบรนด์กับเครื่องประดับหรูหราหลากหลายประเภท นอกจากนี้ ขนสัตว์ ถุงน่อง เนคไท และน้ำหอมยังถูกผลิตในศูนย์ภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก ทำให้ชื่อแบรนด์ของเขาแพร่หลายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว
แม้ว่าการดำเนินการนี้จะได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากหอการค้าฝรั่งเศส ซึ่งประณามการดำเนินการดังกล่าวว่าทำให้ธุรกิจโอตกูตูร์มีราคาถูกลง แต่การอนุญาตให้ใช้ชื่อแบรนด์ก็กลายเป็นการดำเนินการที่ทำกำไรให้กับดิออร์
คริสเตียนเป็นช่างตัดเสื้อชาวปารีสเพียงคนเดียวที่ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายเสื้อผ้าในต่างประเทศจำนวนมาก โดยได้รับใบอนุญาตทั้งหมด 41 ใบ เขาดำเนินกิจการในออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ อังกฤษ และแม้แต่ซีเรีย จนมีคำกล่าวยกย่องความสำเร็จของเขาว่า “On five continents in only a decade” (ยึด 5 ทวีปในเวลาเพียง 10 ปี)
ผู้สืบทอด “คริสเตียน ดิออร์”
ในปี 1955 “อีฟส์ แซงต์ โลรองต์” (Yves Saint Laurent) วัย 19 ปี ได้เข้ามาเป็นผู้ช่วยออกแบบของครสิเตียน
ต่อมาในปี 1957 คริสเตียนได้พบกับแม่ของอีฟส์ และบอกกับเธอว่า เขาเลือกให้อีฟส์เป็นผู้สืบทอดกิจการดิออร์ต่อจากเขา ทั้งที่ตอนนั้นอีฟส์อายุเพียง 21 ปี และคริสเตียนอายุ 52 ปีซึ่งยังไม่ถึงวัยเกษียณ
แต่แล้วในปีเดียวกันนั้น ไม่นานหลังจากพบกับแม่ของอีฟส์ คริสเตียนก็หัวใจวายเฉียบพลันในวันที่ 24 ต.ค. และทางแบรนด์ได้แต่งตั้งอีฟส์ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ตามความตั้งใจของคริสเตียนผู้ล่วงลับ
อย่างไรก็ตาม อีฟส์ถูกเกณฑ์เข้ากองทัพ ในช่วงเวลาดังกล่าว เขาถูกไล่ออกจากดิออร์ และถูกแทนที่ด้วย “มาร์ก โบแฮน” ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมากในฐานะผู้สืบทอด โดยกำหนดยุคใหม่และรูปลักษณ์ใหม่ให้กับดิออร์ นั่นคือ “Slim Look” เป็นรูปลักษณ์ที่ทันสมัยและเพรียวบางกว่ารูปทรงอันเป็นเอกลักษณ์เดิมของดิออร์
ต่อมาในปี 1978 Boussac Group ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของดิออร์ได้ยื่นล้มละลาย ทำให้ทรัพย์สินของบริษัท รวมถึงแบรนด์ดิออร์ ถูกขายให้กับบริษัท Willot Group แต่ต่อมาบริษัทนี้เกิดล้มละลายเช่นกัน
ดังนั้นเมื่อปี 1984 “แบร์นาร์ด อาร์โนลต์” หนึ่งในคณะกรรมการของบริษัทจึงเข้าซื้อเฉพาะแบรนด์ดิออร์แล้วขึ้นเป็นผู้บริหาร
หลายคนคงคุ้นเคยชื่อของแบร์นาร์ดดีในฐานะมหาเศรษฐีเจ้าของอาณาจักรสินค้าแบรนด์เนมหรู LVMH แต่ ณ เวลาที่เขาซื้อแบรนด์ดิออร์นั้นเขายังไม่ได้ก่อตั้ง LVMH
จนเมื่อ LVMH ถือกำเนิดขึ้น ดิออร์จึงกลายเป็นหนึ่งในแบรนด์เนมในการดูแลของ LVMH มาจนถึงปัจจุบัน และกิจการก็เป็นไปอย่างสวยงาม ในปี 2023 รายได้ยังอยู่ในขาขึ้น โดยโตขึ้น 9% จากปีก่อนหน้า ฟันรายได้สูงถึง 8.6 หมื่นล้านยูโร (ราว 3.1 ล้านล้านบาท) ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 6.3 พันล้านยูโร (ราว 2.29 แสนล้านบาท) โตขึ้น 9% เช่นกัน
โดยสินค้ากลุ่มแฟชั่นและผลิตภัณฑ์หนังเป็นแหล่งรายได้สำคัญที่สุด คิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของรายได้ โดยทำเงินไป 4.2 หมื่นล้านยูโร (ราว 1.52 ล้านล้านบาท)
ฟังดูแล้วเป็นเรื่องเหลือเชื่อที่คริสเตียนใช้เวลาเพียง 10 ปีเท่านั้นในการสร้างรากฐานของดิออร์ให้ยืนหยัดต่อมาได้อีกหลายสิบปี จนปัจจุบันอายุแบรนด์ดิออร์กำลังจะล่วงเข้า 80 ปีแล้ว และไม่ใช่การยืนหยัดธรรมดา แต่อยู่ในสถานะยักษ์ใหญ่ของวงการแฟชั่นที่ยากจะล้มได้
นี่คือชีวิตของ คริสเตียน ดิออร์ ผู้นอกจากจะทิ้งแนวคิดการออกแบบไว้เป็นมรดกแล้ว ยังฝากประสบการณ์ชีวิตของเขาไว้ให้ทุกคนได้เรียนรู้ว่า ไม่มีใครแก่เกินทำความฝันให้เป็นจริง และไม่ว่าเวลาที่เราได้ใช้ทำความฝันจะสั้นแค่ไหน แต่สิ่งสำคัญคือเราได้ทิ้งอะไรไว้ให้กับโลกบ้าง...
เรียบเรียงจาก (1) (2) (3) (4) (5) (6) (7)