คนเจ็บป่วยเพิ่ม ดัน อุตสาหกรรมยามีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง 7% ต่อปี
ยามีแนวโน้มเติบโตได้ต่อเนื่อง เพราะคนป่วยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งจากโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังและโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง คาดขยายตัวเฉลี่ย 6.0-7.0% ต่อปี
อัตราการเจ็บป่วยของคนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งจากโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังและโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) การเกิดโรคติดต่ออุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ ไปจนถึงสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ล้วนมีผลต่ออุตสาหกรรมยาทั้งสิ้น
นอกจากนี้ยังมีตัวหนุนจากการเข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (โดยเฉพาะสิทธิบัตรทอง) ทำให้ผู้เจ็บป่วยสามารถเข้าถึงยาและเวชภัณฑ์ได้สะดวกขึ้น โดยวิจัยกรุงศรี มองว่า มูลค่าจำหน่ายยาในประเทศมีแนวโน้มขยายตัวเฉลี่ย 6.0-7.0% ต่อปี

ซึ่งมีผลมาถึงผู้ผลิตยาแผนปัจจุบัน มีรายได้เติบโตต่อเนื่อง และการเข้าถึงระบบประกันสุขภาพของภาครัฐ ส่งผลดีต่อผู้ผลิตที่จำหน่ายยาผ่านโรงพยาบาลโดยเฉพาะยาจดสิทธิบัตรและวัคซีน ขณะที่ร้านขายยามีบทบาทในการกระจายยาเพิ่มขึ้นตามมาตรการรัฐ
รวมถึงกระแสการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่เติบโตทั่วโลก จากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในหลายประเทศทั่วโลก และการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ความสนใจด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมีมากขึ้น มีการคาดการณ์ว่าตลาดท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทยจะแตะระดับ 7.6 แสนล้านบาทในปี 2570 จาก 3.1 แสนล้านบาทปี 2566
เช่นเดียวกับ ความต้องการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน (Self-care) ยังเป็นกระแสที่มาแรงทั่วโลก หนุนความต้องการยาประเภทเสริมภูมิคุ้มกันหรือป้องกันโรค เช่น วิตามิน ยาสมุนไพร ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม และเครื่องดื่มเสริมโภชนาการ นอกจากนี้ ยังมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดูแลสุขภาพมากขึ้นโดยเฉพาะการแพทย์แม่นยำเฉพาะบุคคล (Personalized Precision Medicine)
ความท้าทายของอุตสาหกรรม
แต่ก็มีความท้าทายของอุตสาหกรรม มาจากการที่ผู้ผลิตยาของไทยขาดศักยภาพในการผลิตยาที่ซับซ้อนหรือยาที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีระดับสูง รวมถึงภาระต้นทุนที่จะเพิ่มขึ้นจากการปรับปรุงโรงงานตามมาตรฐานโลก และการลงทุนพัฒนานวัตกรรมหรือการนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการผลิตยาเพื่อบริหารจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามแนวทางของผู้ประกอบการทั่วโลกจึงเป็นข้อจำกัดในการทำกำไรของผู้ประกอบการ
ซึ่งากไปดูธุรกิจร้านค้าปลีก/ร้านขายยาทั่วไป (Stand-alone) รายได้จะถูกกดดันจาก
1. การขยายสาขา (Chain store) ของผู้ประกอบการรายใหญ่ อาทิ ร้านฟาสซิโน ร้าน Save drug (เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ) และร้าน Pure (เครือบิ๊กซี) ซึ่งมีแผนเปิดร้านขายยาสิริฟาร์มาเพิ่มขึ้น
2. การขยายพื้นที่จำหน่ายยาของร้านค้าปลีกสมัยใหม่ อาทิ ดิสเคาน์สโตร์ ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อโดยเฉพาะร้าน 7-Eleven
3. คู่แข่งจากร้านขายยาออนไลน์
4. ต้นทุนการลงทุนสูงขึ้น จากการปรับปรุงร้านให้ได้มาตรฐานร้านยา กระทบผลประกอบการอาจไม่สูงเท่าในอดีต
ขณะที่ ร้านค้าส่งผลิตภัณฑ์เภสัชภัณฑ์ ปัจจุบันหันมาทำตลาดร้านค้าปลีกมากขึ้น และเพิ่มช่องทางการขายและโฆษณาสินค้าผ่านสื่อออนไลน์ ทำให้สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้มากขึ้น จึงค่อนข้างได้เปรียบด้านต้นทุนการจัดซื้อยาเมื่อเทียบกับธุรกิจร้านค้าปลีก/ร้านขายยาทั่วไป (Stand-alone)