ไทยต้องการทองและเหรียญทองคำ สูงเป็นอันดับ 7 ของโลก
ไทยต้องการทองและเหรียญทองคำ สูงเป็นอันดับ 7 ของโลก จำนวน 39.8 ตัน เติบโตสูงถึง 17% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
ประเทศไทยทำสถิติสูงเป็นอันดับ 7 ของโลก ด้านความต้องการทองคำแท่งและเหรียญทองคำในปี 2567 ขณะที่ความต้องการทองคำทั่วโลกพุ่งทำระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่จำนวน 4,974 ตัน ท่ามกลางราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นในปี 2567 จากรายงานแนวโน้มความต้องการทองคำประจำไตรมาสที่ 4 และการสรุปภาพรวมตลอดปี 2567 ของสภาทองคำโลก (World Gold Council: WGC)
โดยประเทศไทยได้ก้าวขึ้นเป็นตลาดทองคำที่มีความแข็งแกร่งในปี 2567 และมีปริมาณความต้องการทองคำแท่งและเหรียญทองคำสูงเป็นอันดับ 7 ของโลก

ที่จำนวน 39.8 ตัน คิดเป็นการเติบโตสูงถึง 17% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
ความต้องการทองคำทั่วโลกในปี 2567 นั้นได้รับแรงขับเคลื่อนจากการซื้อทองคำอย่างต่อเนื่องและแข็งแกร่งของธนาคารกลาง และการเติบโตของความต้องการทองคำเพื่อการลงทุน ราคาทองคำที่ทำสถิติสูงสุดใหม่หลายครั้งและปริมาณความต้องการที่พุ่งสูงในปีที่ผ่านมา ได้ร่วมกันส่งผลให้ความต้องการทองคำรวมมีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 3.82 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
ธนาคารกลางยังคงซื้อทองคำในปริมาณที่มหาศาลอย่างต่อเนื่องในปี 2567 โดยมีปริมาณการซื้อในระดับสูงกว่า 1,000 ตัน เป็นปีที่สามติดต่อกัน และการเข้าซื้อทองคำที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของธนาคารกลางในไตรมาสที่ 4 จำนวน 333 ตัน ได้ส่งผลให้ยอดรวมการซื้อทองคำของธนาคารกลางตลอดทั้งปีอยู่ที่ 1,045 ตัน
ด้านความต้องการทองคำเพื่อการลงทุนทั่วโลกนั้นได้เพิ่มขึ้นถึง 25% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า อยู่ที่ระดับ 1,180 ตัน ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดในรอบ 4 ปี โดยได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของการลงทุนในกองทุนซื้อขายแลกเปลี่ยน (ETF) ทองคำแท่งสำหรับนักลงทุนในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2567 ซึ่งกองทุน ETF ทองคำทั่วโลกได้เพิ่มปริมาณทองคำจำนวน 19 ตันในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 นับว่าเป็นกระแสการลงทุนในทิศทางไหลเข้าต่อเนื่องกันเป็นไตรมาสที่สองสำหรับสินทรัพย์ประเภทนี้
ขณะที่ความต้องการในทองคำแท่งและเหรียญทองคำทั่วโลกยังคงระดับใกล้เคียงกับปี 2566 อยู่ที่ปริมาณ 1,186 ตันสำหรับปี 2567 โดยประเทศไทยมีระดับความต้องการทองคำแท่งและเหรียญทองคำในไตรมาสที่ 4 จำนวน 14.6 ตัน เพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า ทำให้ปริมาณความต้องการของประเทศไทยรวมตลอดทั้งปี 2567 อยู่ที่จำนวน 39.8 ตัน
ความต้องการทองคำเครื่องประดับลดลง
แต่ในส่วนของความต้องการทองคำเครื่องประดับลดลง แม้ของไทยยังคงแข็งแกร่งและปรับลดลงเพียง 2% และมีความต้องการรายปีรวมเป็น 9.0 ตัน แต่การลดลงของความต้องการทองคำเครื่องประดับทั่วโลกส่วนใหญ่นั้นมีที่มาจากประเทศจีน ซึ่งปรับลดลง 24% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ขณะที่อินเดียยังมีปริมาณความต้องการที่แข็งแกร่งและลดลงเพียง 2% เท่านั้น ภายใต้สภาวะของราคาทองคำที่ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งสภาทองคำโลกมองว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อความต้องการทองคำเครื่องประดับนั้นเป็นแนวโน้มที่ไม่น่าแปลกใจ โดยปริมาณการบริโภคทองคำเครื่องประดับทั่วโลกสำหรับปี 2567 ได้ลดลง 11% อยู่ที่ระดับ 1,877 ตัน
เซาไก ฟาน (Shaokai Fan) หัวหน้าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมประเทศจีน) และหัวหน้าฝ่ายธนาคารกลางระดับโลก ของสภาทองคำโลก กล่าวว่า ราคาทองคำที่สูงต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2567 นั้นถือว่าเป็นความท้าทายที่สำคัญสำหรับผู้บริโภคในตลาดกลุ่มประเทศอาเซียน อย่างไรก็ตามประเทศไทยนับว่ามีความแข็งแกร่งกว่าตลาดอื่น ๆ เชื่อว่าส่วนหนึ่งมาจากเศรษฐกิจภายในประเทศที่ได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งช่วยจำกัดระดับการปรับตัวลดลงของปริมาณความต้องการทองคำเครื่องประดับได้
ด้านหลุยส์ สตรีท (Louise Street) นักวิเคราะห์การตลาดอาวุโส ของสภาทองคำโลก กล่าวว่า ในปี 2568 นี้ คาดว่าธนาคารกลางจะยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ผลักดันตลาดทองคำต่อไป สนับสนุนด้วยนักลงทุนในกองทุน ETF ทองคำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากอัตราดอกเบี้ยปรับลดลง แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะยังมีความผันผวนก็ตาม ในทางกลับกันทองคำเครื่องประดับอาจยังคงชะลอตัวต่อไป เนื่องจากราคาทองคำที่สูงและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงตามไปด้วย ความไม่แน่นอนด้านภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจมหภาคนั้นน่าจะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญของปี ซึ่งสภาวะนี้จะช่วยเสริมความต้องการทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ช่วยรักษามูลค่าและเป็นเครื่องมือลดผลกระทบจากความเสี่ยง