“รักต้องคุย เงินต้องเคลียร์" ทีทีบี เผยทริค รีบแก้ก่อนปัญหาบานปลาย
ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี เผย! การเงิน เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาความรัก พร้อมแนะนำทริค! ที่ควรแก้ก่อนปัญหาชีวิตคู่บานปลาย
ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี จัดกิจกรรม fintalk EP.2 “รัก...ต้องคุย เงิน...ต้องเคลียร์” โดยเชิญวิทยากรอย่างดีเจพี่อ้อย นภาพร ไตรวิทย์วารีกุล และ นายทัตพล เมธีวิริยาภรณ์ เจ้าของสถาบัน MoneyStudio.co มาให้ความรู้ พร้อมเผยประสบการณ์เรื่องเงินและความรัก เพื่อเสริมสร้างให้พนักงานมีความพร้อมทางการเงินและจิตใจ
โดยภายในการจัดกิจกรรม วิทยากรได้ให้ข้อมูลว่า เงินเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความรักและความสัมพันธ์เกิดปัญหา มีคู่รักหลายคู่ที่ไปต่อไม่ได้เพราะเงิน

ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่มาจากเรื่องการสื่อสาร เช่น บางคู่ตอนคบกันไม่บอกว่ามีหนี้สิน มารู้อีกทีหลังแต่งงาน อาจถูกมองว่าโกหก ความไว้วางใจถูกทำลาย ดังนั้น แนะนำว่าต้องเปิดใจคุยกันเรื่องเงินตั้งแต่แรก
“ในช่วงคบกันนอกจากเรียนรู้ใจ เรายังต้องเรียนรู้เรื่องเงินด้วย ไม่ใช่ดูว่าจำนวนเงินในบัญชีมีมากหรือน้อย แต่ให้สังเกตการใช้ชีวิต วิธีการใช้เงินและวิธีหาเงิน รวมถึงทักษะในการหาเงินเพิ่มนอกเหนือจากอาชีพที่ทำอยู่ โดยเราไม่จำเป็นต้องสร้างโจทย์ลองใจ เพราะฟ้าจะส่งโจทย์ใหม่มาให้เราทุกวัน และความจริงใจก็ดูไม่ได้ในวันเดียว ซึ่งพฤติกรรมการใช้เงินก็เช่นกัน”
จากการสำรวจพบว่าปัญหาหลัก ๆ ของเงินกับความรักมักจะมี 7 เรื่อง ดังนี้ 1. ไม่กล้าคุยเรื่องเงินตั้งแต่แรก 2. มีความเชื่อเรื่องเงินไม่ตรงกัน 3. ไม่เคยวางแผนการเงินร่วมกัน 4. แบ่งภาระไม่เท่าเทียม 5. ปิดบังเรื่องเงิน 6. ความหวังว่าอีกฝ่ายต้องเลี้ยงดู และ 7. รักเพราะเงิน/ทะเลาะเพราะเงิน ซึ่งปัญหาไม่กล้าคุยเรื่องเงินตั้งแต่แรกมาแรงเป็นอันดับหนึ่ง ในขณะที่แนวโน้มของรักเพราะเงิน/ทะเลาะเพราะเงิน กำลังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
เมื่อต้องคุยและเคลียร์ปัญหาควรจะเรียนรู้และเข้าใจนิสัยการเงินกันก่อน เพราะแต่ละคนมีค่านิยม ทัศนคติ และนิสัยที่แตกต่างกันในเรื่องการจัดการเงิน บางคนถูกเลี้ยงดูมาในครอบครัวที่สอนเรื่องการออมเงิน ในขณะที่บางคนไม่เคยออมเงินเลย โดยนิสัยการเงินหลัก ๆ แบ่งเป็น 4 แบบ ได้แก่
•Saver “รักความมั่นคง” รู้สึกปลอดภัย เมื่อมีเงินเก็บ สังเกตได้ว่าเป็นคนที่ชอบเปรียบเทียบ ตั้งงบประมาณการใช้เงินชัดเจน อีกทั้งมีความกังวลกับเป้าหมายเรื่องเงิน
•Planner “ใช้ตามแผน มองไกล” ใช้เงินตามเป้าหมาย มองทั้งวันนี้และอนาคต พฤติกรรมเด่น เช่น ตั้งเป้าหมายทางการเงินชัดเจน ชอบจดรายรับรายจ่ายเป็นนิสัย และแบ่งเงินออม-ลงทุน-ใช้จ่าย ไว้ชัดเจน
•Spender “ใช้ก่อนคิดทีหลัง รู้สึกดีกับการได้ซื้อของ” พฤติกรรมในการใช้เงิน เช่น เห็นโปรแล้วอดใจไม่ได้ มักจ่ายด้วยอารมณ์มากกว่าเหตุผล และเก็บเงินไม่ค่อยอยู่
•Avoider “ไม่อยากยุ่งกับเงินเลย” เป็นคนที่ไม่อยากคิดเรื่องเงิน รู้สึกไม่ถนัด ไม่ชอบ ไม่กล้าสู้ นิสัย ไม่ชอบเช็กเงินตัวเอง เลี่ยงการพูดเรื่องเงินกับคนอื่น และไม่มีงบการเงินส่วนตัวที่ชัดเจน

เพราะการคุยเรื่องเงินอาจกระทบถึง “ใจ” ทำให้หลายคนเลือกที่จะเลี่ยงไปก่อนเพื่อความสบายใจ แต่การไม่คุยเรื่องเงินกันอย่างจริงใจนั้น อาจกลายเป็นปัญหาที่ทำให้ต้องเลิกรากันในอนาคต อย่างไรก็ตาม การคุยเรื่องเงินนั้นต้องมีเทคนิค ซึ่งแนะนำให้เริ่มต้นตาม 5 ขั้นตอน การสื่อสารกับคนรักเรื่องเงิน ดังนี้
1.ตั้งใจคุย : ไม่ใช่ตั้งใจเคลียร์ ต้องเข้าใจว่าหวังดีบางทีเท่ากับกดดัน การคุยอาจเริ่มด้วยการตั้งโทนให้บวกและอยากร่วมมือกัน
2.เข้าใจ : เข้าใจพฤติกรรมการใช้เงินของกันและกัน เพราะแต่ละคนเติบโตมาแตกต่างกัน และชอบไม่เหมือนกัน อีกทั้งมีไม้บรรทัดของตัวเอง จึงต้องเคารพความต่าง ห้ามประชดประชัน ใช้วิธีพูดคุยกันแบบไม่จริงจัง อย่าประชดกัน
3.ปลอดภัย : เปิดเผยสถานะทางการเงินอย่างปลอดภัย คุยแบบมีกรอบ ไม่บังคับ แต่อยากรู้ เช่น มีรายได้จากอะไรบ้าง ภาระหนี้ที่ต้องรับผิดชอบ หรือ รายจ่ายประจำที่สำคัญมีอะไร รวมถึงเป้าหมายทางการเงินของแต่ละคนคืออะไร
4.หาจุดร่วม : ถาม-ตอบ เปิดโอกาสให้พูดได้ทุกคน เพื่อหาจุดร่วมหรือปลายทางร่วมกัน
5.ตกลงแผน : สรุปและตกลงแผนร่วมกัน เช่น เราจะมีงบประมาณคู่ หรือมีเป้าหมายอะไรร่วมกันบ้าง

"เรื่องการเงินเป็นเรื่องที่ต้องมีเหตุผลและใช้การวางแผน คู่รักควรเก็บเงินเอาไว้ดี ๆ เพราะทุกสิ่งเดินหน้าด้วยเงิน เริ่มง่าย ๆ จากฝันให้ใกล้และไปให้ได้ก่อน ต้องมีเป้าหมายระยะใกล้ ระยะกลาง และระยะไกล จะได้ไม่เหนื่อยเกินไป สะสมหนี้น้อยลง เพื่อให้มีก้าวต่อไป" วิทยากรกล่าวทิ้งท้าย