“Tesla” จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในไทย เรื่องดีของยานยนต์ไฟฟ้า
สมาคมยานยนต์ไฟฟ้า มอง “Tesla” มาจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในไทย เป็นสัญญาณที่ดีของอุตสาหกรรมEV
หลังจากที่มีข้อมูลจากเว็บไซต์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า ปัจจุบัน บริษัท เทสลา (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิต-จำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าชื่อดังระดับโลกของมหาเศรษฐี อีลอน มัสก์ ได้เข้ามาจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในไทยแล้ว ตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน 2565 ด้วยทุนจดทะเบียน 3 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์จดทะเบียนตั้งบริษัทในไทย คือ ประกอบกิจการขายรถยนต์ไฟฟ้า ระบบเก็บพลังงานแบบติดตั้งและอุปกรณ์ที่ใช้กับระบบเก็บพลังงานแบบติดตั้ง ระบบผลิตพลังงานและอุปกรณ์ที่ใช้กับระบบพลังงาน
Tesla ส่ง 3 ผู้บริหารระดับสูงจากสหรัฐ จดทะเบียนตั้งบริษัทในไทย
"เทสลา" เริ่มส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้าราคาประหยัดให้ลูกค้า
นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ ไฟฟ้าแห่งประเทศไทย บอกว่า ก่อนหน้านี้เราได้ข่าวกันมาตลอดว่าเทสลาเริ่มเข้ามาหารือกับรัฐบาลบ้างแล้ว แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เราเห็นความชัดเจนในการเข้ามาประเทศไทย ซึ่งบริษัทเทสลาเองได้ลงทุนที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีนอยู่แล้วเพื่อส่งออกในประเทศเอเชีย เป็นศักยภาพโรงงานขนาดใหญ่มาก หรือ Giga Factory สามารถผลิตได้ครอบคลุม 50% ของยอดขายทั่วโลก รวมถึงสินค้าอื่นๆ เช่น แหล่งบรรจุพลังงาน แบตเตอรี่ โซลาร์แพแนล ก็อาจนำเข้ามาทำตลาดในทวีปเอเชียได้หมด
ดังนั้นการเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย อาจเป็นเพียงการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้ามาจำหน่าย หรือวางระบบชาร์จให้แก่รถ อีวี เท่านั้น อย่างไรก็ตามเชื่อว่าสถานการณ์ตอนนี้เป็นเรื่องดีทั้งกับผู้บริโภคที่จะมีตัวเลือกมากขึ้น และประเทศไทยที่กำลังเห็นการเปลี่ยนแปลงสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า
นายกฤษฎา กล่าวว่าสิ่งที่รัฐบาลต้องผลักดันต่อ คือ สถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะ ที่ภาครัฐควรให้การสนับสนุนต่อ เนื่องจากนับจากนี้ไป 3 ปี เป้าหมายของรัฐบาลตั้งไว้ว่าการจดทะเบียนรถยนต์ EV จะไม่ต่ำกว่า 30% ของการจดทะเบียนรถยนต์ทั้งหมด หรือประมาณ 225,000 คัน และไม่ใช่ทุกคนที่จะชาร์จที่บ้านได้ บางคนอาศัยอยู่ในคอนโด อยู่ในหอพัก ดังนั้นสถานีชาร์จต้องครอบคลุมด้วย
ขณะที่นายณัฐกร อุเทนสุต โฆษกกรมสรรพสามิต ได้เปิดเผยว่า เทสลา ยังไม่ได้มีการเข้ามาหารือกับกรมสรรพสามิต เพื่อขอเข้าร่วมมาตรการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ของรัฐบาล เพื่อรับเงินอุดหนุนสูงสุด 150,000 บาท และสิทธิพิเศษทางภาษี ทั้งการลดภาษีสรรพสามิตจาก 8% เหลือ 2% รวมถึงการลดอากรนำเข้าจากศุลกากร 20-40% ทำให้การตั้งบริษัทตัวแทนจำหน่าย หรือดีลเลอร์ เชื่อว่าจะเป็นการเข้ามาทดลองทำตลาดในไทยก่อน แต่ยังไม่ได้มีแผนเข้ามาจัดโรงงานการผลิตในประเทศไทย แต่หากทางเทสลามีความสนใจที่จะเข้าร่วมมาตรการอีวี กรมสรรพสามิต ก็พร้อมเจรจา
ปัจจุบันมีค่ายรถยนต์ ที่เข้าร่วมมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเรียบร้อยแล้วจำนวน 5 ราย ประกอบด้วย บริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) ,บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ประเทศไทย จำกัด ,บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด ,บริษัทเอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด และอีกหนึ่งบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า บริษัท เดโก กรีน เอนเนอร์จี จำกัด
ทั้งนี้ โรงงานเทสลาที่ตั้งอยู่ในประเทศจีน หากมีการนำเข้ารถเทสลารุ่นที่ผลิตจากประเทศจีนเข้ามาจำหน่ายในไทย จะได้รับสิทธิประโยชน์ ภาษีนำเข้า 0% ด้วยภายใต้ข้อตกลงเอฟทีเอระหว่างจีน-อาเซียน
EGCO มั่นใจปี 65 รายได้โต จ่อเดินเครื่องโรงไฟฟ้าน้ำเทิน 1 - โรงไฟฟ้าหยุนหลิน
ที่ปรึกษาอนามัยโลกคาด “ฝีดาษลิง” อาจระบาดหนักเพราะ “เพศสัมพันธ์”