กระแสรถยนต์ไฟฟ้ามาแรง ! NIA ตั้งงบทุนวิจัยให้เปล่าวงเงิน 100 ล้านบาท
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ชี้ยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าปี'65 ปีเดียวสูงกว่ายอดจดทะเบียนสะสม 10 ปี ย้อนหลัง
นายวิเชียร สุขสร้อย รองผู้อำนวยการด้านเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เปิดเผยว่า ตัวเลขการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าจากกรมการขนส่งทางบกในช่วง 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.) ของปี 2565 มียอดจดทะเบียนรวมอยู่ที่ราว 15,000 คัน ซึ่งสูงกว่ายอดจะทะเบียนสะสม 10 ปี (2555-2564) ของประเทศไทย ที่มีการจดทะเบียนอยู่ที่ราว 11,000 คัน โดยสถิติดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย
ส่อง 'รถใหม่ปี 2566' แบรนด์ ญี่ปุ่น-จีน-ยุโรป เปิดตัวรุ่นใหม่ลุยตลาด
ธุรกิจสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในไทย แนวโน้มเติบโตไวแต่ 'ไม่ง่าย'
ลองรถยนต์ไฟฟ้า Weltmeister W5 ใน สปป.ลาว รถดี ... ที่อยากให้มีขายในไทย
ทั้งนี้ ในปี 2566 NIA จึงได้เลือกให้เป็นสาขาที่อยู่ภายใต้โครงการนวัตกรรมแบบมุ่งเป้า (Thematic Innovation) จากทั้งหมด 6 สาขา ได้แก่
- อาหารมูลค่าสูงสำหรับส่งออก
- ความมั่นคงทางอาหาร
- เศรษฐกิจการหมุนเวียนและเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ
- พลังงานสะอาด
- ธุรกิจดิจิทัลที่ใช้เทคโนโลยีด้านปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ และเทคโนโลยีโลกเสมือน หรือ ARI Tech
- กลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีที่เกี่ยวเนื่อง
โดยจะสนับสนุน “เงินทุนให้เปล่า” วงเงินสูงสุดไม่เกินโครงการละ 5 ล้านบาท ครอบคลุมทั้งการพัฒนาต้นแบบนวัตกรรมและทดสอบประสิทธิภาพการใช้งานนวัตกรรมในสภาพแวดล้อมจริง โดยต้องมีความเป็นนวัตกรรมระดับประเทศ และสามารถสร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจได้ ซึ่งจากการเปิดรับข้อเสนอโครงการในปีที่ผ่านมาพบว่ามีผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมให้ความสนใจขอรับการสนับสนุนกว่า 236 ราย จาก 6 สาขา แต่แบ่งเป็นสาขาพลังงานสะอาด 18 ราย สาขากลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีที่เกี่ยวเนื่อง 49 ราย
ปีนี้เราได้เตรียมงบประมานมูลค่ารวม 100 ล้านบาท ในการให้ทุนสนับสนุน กลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสและสร้างศักยภาพให้แก่ผู้ประกอบการรายใหม่และรายเล็ก โดยคาดว่าจะมีผู้ผ่านการคัดเลือกราว 10-12 ราย
อย่างไรก็ตาม NIA คาดว่าในปี 2566 การเติบโตส่วนใหญ่จะมุ่งไปที่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคล เนื่องจากนโยบายการส่งเสริมของภาครัฐ มาตรการภาษี ราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น เศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัว รวมถึงในภาคธุรกิจ เช่น การท่องเที่ยว บริการเดลิเวอรี่อาหาร บริการสาธารณะ ฯลฯ ที่จะนำยานยนต์ไฟฟ้าเข้ามาอำนวยความสะดวกมากขึ้น ซึ่งช่วยให้นวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้ามีราคาที่เข้าถึงได้ หรือค่าบริการที่ถูกลง การพัฒนารูปแบบยานพาหนะไฟฟ้าที่ไม่จำกัดแค่เพียงรถยนต์นั่ง เช่น ตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า รถบรรทุกพลังงานไฟฟ้า เรือ - รถโดยสารสาธารณะ ตลอดจนกลุ่มเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง เช่น สถานีชาร์จแบตเตอรี่ไฟฟ้า โฮมชาร์จเจอร์ การบริหารจัดการการจ่ายกระแสไฟฟ้าของแบตเตอรี่ แอปพลิเคชันบริการรถรับส่งที่ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเป็นตัวขับเคลื่อน