'ซีพี โฟตอน' ทุ่ม 1,000 ล้าน ตั้งโรงงานประกอบรถบรรทุกในไทย
CP FOTON กางแผนธุรกิจปี 2566 ลั่นขึ้น Top 3 ตลาดรถบรรทุกและรถเพื่อการพาณิชย์ของไทย พร้อมตั้งโรงงานประกอบรถบรรทุกพวงมาลัยขวาเป็นฮับส่งออกอาเซียน
นายกฤษณะ เศรษฐธรางกูร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี โฟตอน เซลส์ จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายรถบรรทุกและรถบัสแบรนด์ CP FOTON เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมใช้งบประมานการลงทุนมูลค่า 1,000 ล้านบาท ในการตั้งโรงงานประกอบรถบรรทุกพวงมาลัยขวาในประเทศไทย โดยมีเป้าหมายการส่งออก 70% และจำหน่ายในประเทศ 30%
ส่งมอบ 'CP FOTON มิกเซอร์' ล็อตแรก รับจีนเปิดประเทศ
'ซีพี โฟตอน' ประกาศเปิดตัวรถบรรทุกไฟฟ้า 100% ไตรมาส 3 ปีนี้
CP Foton Aumark Flex รถบรรทุก 4 ล้อ คุ้ม ครบ ธุรกิจไม่มีสะดุด
ทั้งนี้ ยังได้มีการจดทะเบียนก่อตั้ง บริษัท โฟตอน ซีพี มอเตอร์ จำกัด เพื่อดำเนินงานการผลิตในโรงงานผลิตรถบรรทุกดังกล่าวในประเทศไทย ด้วยสัดส่วนการถือหุ้นของ โฟตอน 51% และ ซีพี 49%
โรงงานดังกล่าวคาดว่าจะก่อสร้างเสร็จภายในช่วงสิ้นปี 2566 และจะเริ่มเดินการได้ในช่วงต้นปี 2567 โดยโรงงานแห่งนี้มีกำลังการผลิตรวม 3,000 คัน/ปี
บริษัทแม่ของ โฟตอน ในประเทศจีน กำหนดให้โรงงานดังกล่าวเป็นเป็นฐานการประกอบเพื่อส่งออกรถบรรทุกพวงมาลัยขวาไปยังภูมิภาคอาเซียนและตลาดเกิดใหม่ แต่ทั้งนี้โรงงานดังกล่าวยังไม่สามารถผลิตรถบรรทุกไฟฟ้าได้ขณะที่ ผลการดำเนินงานในปี 2565 บริษัทมียอดขายรวมอยู่ที่ 445 คัน เติบโตขึ้นจากปีก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับราว 300 คัน และในปี 2566 บริษัทตั้งเป้าหมายยอดขายอยู่ที่ 1,000 คัน แบ่งเป็นรถบรรทุกและรถเพื่อการพาณิชย์ไฟฟ้า (EV Truck) ราว 300 คัน และ รถบรรทุกและรถเพื่อการพาณิชย์เครื่องสันดาปภายใน 700 คัน
สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจในปี 2566 จะมีการเปิดตัวรถรุ่นใหม่จำนวน 5 รุ่น แบ่งเป็นรถบรรทุกและรถเพื่อการพาณิชย์ไฟฟ้าจำนวน 3 รุ่น และ รถบรรทุกและรถเพื่อการพาณิชย์เครื่องยนต์สันดาปภายในจำนวน 2 รุ่น รวมถึงแผนการขยายเครือข่ายผู้แทนจำหน่ายและศูนย์บริการในปีนี้คาดว่าจะขยายเพิ่ม 3-5 แห่ง จากปัจจุบันมีจำนวนรวม 28 แห่งทั่วประเทศ
นอกจากนี้ ภาพรวมตลาดรถบรรทุกและรถเพื่อการพาณิชย์ปี 2565 มียอดขายรวมอยู่ที่ 30,064 คัน เติบโตขึ้น 8% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งถือว่าเป็นอัตราเติบโตมากกว่าค่าเฉลี่ยการเติบโตต่อปีของตลาดที่ปกติอยู่ที่เฉลี่ยราว 3-5% ต่อปี โดยการเติบโตดังกล่าวเป็นผลมาจากความต้องการของผู้ประกอบการที่เชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจและการลงทุนของภาครัฐในโครงการต่าง ๆ ฟื้นตัว ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมการก่อสร้างรวมถึงการขนส่งในประเทศไทย
จากเป้าหมายดังกล่าวเชื่อว่าในปี 2566 เราจะสามารถขึ้นเป็นผู้นำในตลาดรถบรรทุกไฟฟ้า และเรายังตั้งเป้าหมายติดอันดับ 1 ใน 3 ผู้นำของตลาดรถบรรทุกเพื่อการพาณิชย์รวมในประเทศไทย จากปัจจุบันเราอยู่ที่อันดับ 4 ของตลาด