บทเรียนจากเมืองนอก ทำไมเบี้ยประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้าแพง? จะแก้ไขอย่างไร?
ปัญหาเรื่อง “เบี้ยประกันยานยนต์ไฟฟ้าแพง” ไม่ได้มีแค่ในประเทศไทย แต่หลายประเทศทั่วโลกต่างก็เจอ แล้วมันเกิดจากอะไร? จะแก้ไขอย่างไร?
ปัจจัยหนึ่งเกี่ยวกับ “ยานยนต์ไฟฟ้า” หรือ “อีวี (EV)” ที่เชื่อว่าทำให้หลายคนยังลังเลว่าจะเปลี่ยนใจจากรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปมาดีหรือไม่ คือเรื่องของ “เบี้ยประกัน” ที่ราคาแรงกว่า
สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าจำนวนมาก การจะซ่อมแซมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์หรือชุดแบตเตอรี่ที่เสียหายจากอุบัติเหตุต่าง ๆ แม้เพียงเล็กน้อย ก็ถือเป็นเรื่องยากที่มีค่าใช้จ่ายสูง หรืออาจซ่อมไม่ได้เลยต้องเปลี่ยนใหม่ ทำให้บริษัทประกันภัยเสี่ยงต่อการต้องยกเครื่องใหม่ให้ลูกค้า นำไปสู่เบี้ยประกันที่สูง
ตัวอย่างเช่นที่สหรัฐฯ ชุดแบตเตอรี่อาจมีราคาหลายหมื่นดอลลาร์สหรัฐ หรือมากกว่า 3 แสนบาทขึ้นไป และคิดเป็นราคาสูงถึง 50% ของราคารถอีวี จึงเป็นการไม่คุ้มที่จะเปลี่ยนแบตเตอรี่
ข้อมูลจากบริษัทนายหน้าออนไลน์ Policygenius ระบุว่า ค่าประกันรถอีวีเฉลี่ยต่อเดือนของสหรัฐฯ ในปี 2023 อยู่ที่ 206 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 7,000 บาท) ซึ่งมากกว่ารุ่นเครื่องยนต์สันดาปถึง 27%
ขณะที่ข้อมูลของ Bankrate ผู้เผยแพร่เนื้อหาทางการเงินออนไลน์ บอกว่า “บริษัทประกันในสหรัฐฯ ทราบดีว่า แม้เกิดอุบัติเหตุเล็กน้อยที่ส่งผลให้แบตเตอรี่เสียหาย ... ค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนส่วนประกอบหลักนี้อาจสูงกว่า 15,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 5.1 แสนบาท)”
ในขณะที่ผู้ผลิตรถยนต์บางราย เช่น ฟอร์ด หรือเจเนอรัล มอเตอร์ส กล่าวว่า พวกเขาได้พัฒนาชุดแบตเตอรี่ที่ง่ายต่อการซ่อมแซม แต่ยานยนต์ไฟฟ้าบางยี่ห้อ เช่น เทสลา กลับใช้แนวทางตรงกันข้าม โดยรุ่น Model Y ในเทกซัส ชุดแบตเตอรี่นั้นเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างยานยนต์ ทำให้ “ไม่สามารถซ่อมแซมได้”
การตัดสินใจดังกล่าวของเทสลาที่ทำให้ชุดแบตเตอรี่เป็นส่วนหนึ่งของตัวรถ ทำให้สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นหารผลักต้นทุนเหล่านั้นกลับไปสู่ผู้บริโภคและบริษัทประกัน
ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมประกันภัยกล่าวว่า ตราบใดที่เทสลาและผู้ผลิตรถยนต์รายอื่นไม่ผลิตชุดแบตเตอรี่ที่ซ่อมแซมได้ง่ายขึ้น และให้บุคคลที่สามเข้าถึงข้อมูลเซลล์แบตเตอรี่ได้ เบี้ยประกันภัยที่สูงอยู่แล้วก็จะยังคงเพิ่มขึ้นตามยอดขายรถอีวีที่เพิ่มขึ้น
บรรดาบริษัทประกันกล่าวว่า วิธีแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด คือการทำแบตเตอรี่หรือโมดูลที่สำคัญให้เล็กลงหรือซ่อมแซมได้ง่ายขึ้น และเปิดข้อมูลให้บุคคลที่สามทราบเพื่อตรวจสอบสุขภาพของเซลล์แบตเตอรี่
โทนี คอตโต ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายการรับประกันรถยนต์และการรับประกันภัยของสมาคมบริษัทประกันภัยแห่งชาติสหรัฐฯ กล่าวว่า “การเข้าถึงข้อมูลของรถที่สร้างขึ้นจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ขับขี่และความพึงพอใจของผู้ถือกรมธรรม์ ... โดยการอำนวยความสะดวกในกระบวนการซ่อมแซมทั้งหมด”
ด้าน คริสตอฟ เลาเทอร์วาสเซอร์ กรรมการผู้จัดการของ Allianz Center for Technology ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยของ Allianz กล่าวว่า “จำนวนยานยนต์ไฟฟ้าที่เสียหายจะเพิ่มขึ้น ดังนั้นการจัดการแบตเตอรี่จึงเป็นจุดสำคัญ”
ผู้ผลิตรถยนต์ส่วนใหญ่กล่าวว่าชุดแบตเตอรี่ของพวกเขาสามารถซ่อมแซมได้ แม้ว่าจะมีเพียงไม่กี่รายที่เต็มใจแบ่งปันการเข้าถึงข้อมูลแบตเตอรี่ ทำให้บริษัทประกัน บริษัทลีสซิ่ง และร้านซ่อมรถ กำลังต่อสู้กับผู้ผลิตรถยนต์หลายเจ้าเกี่ยวกับการเข้าถึงข้อมูลยานยนต์ไฟฟ้า
อย่างไรก็ตาม บริษัทประกันและผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมยังมองว่า เนื่องจากยานยนต์ไฟฟ้าเต็มไปด้วยคุณสมบัติด้านความปลอดภัยล่าสุดทั้งหมด จนถึงปัจจุบันจึงเกิดอุบัติเหตุน้อยกว่ารถยนต์ทั่วไป ทำให้ยังไม่ค่อยมีปัญหาเกิดขึ้นมากนัก แต่ในอนาคตก็เป็นเรื่องไม่แน่นอน
เรียบเรียงจาก Reuters
ภาพจาก AFP