เตือนรถอีวีแบรนด์ใหม่ ! ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานข้อกำหนดของไทย
นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ชี้การขอ "ใบรับรองแบบวิศวกรรม" ของรถยนต์จะต้องมีการรับรองก่อนการจำหน่าย ห่วงรถแบรนด์ใหม่เข้าสู่ตลาดประเทศไทยต้องเข้าใจกติกา
นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย เปิดเผยกับ PPTV Online ถึงกรณีการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าจีนบางแบรนด์ในประเทศไทย ว่า ปกติแล้วการจำหน่ายรถยนต์ทุกประเภทสิ่งที่บริษัทผู้ผลิตหรือผู้นำเข้ารถยนต์จะต้องมีการขอ "ใบรับรองแบบวิศวกรรม" กับกรมการขนส่งทางบก ซึ่งเป็นการตรวจเช็กอุปกรณ์เกี่ยวเนื่องกับตัวรถ, อุปกรณ์ความปลอดภัย, ระบบขับเคลื่อนและส่งกำลัง ว่าถูกต้องและสามารถใช้งานได้จริง ตามการสำแดงในผลิตหรือการนำเข้าที่แจ้งขออนุญาตต่อกรมขนส่งทางบกหรือไม่
นักธุรกิจสาวร้องซื้อรถไฟฟ้าแล้วจดทะเบียนไม่ได้กว่า 1 ปีเร่งหาทางออก
เจออีกแบรนด์! ซื้อรถยนต์ไฟฟ้ากว่า 6 เดือนแล้วจดทะเบียนไม่ได้
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีแบรนด์ใหม่เข้าสู่ตลาดรถยนต์ในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก อาจเกิดความคลาดเคลื่อนต่อความเข้าใจในขั้นตอนทางกฎหมายในประเทศไทย ด้วยการนำเอาเอกสารที่ได้รับรองจากต่างประเทศมาแสดงต่อกรมการขนส่งทางบก
สำหรับ กรณีที่มีลูกค้ารถยนต์ไฟฟ้าบางแบรนด์ออกมาร้องเรียนผ่านโซเชียลมีเดียและต่อสื่อมวลชนนั้น สมาคมฯ ได้มีการประสานงานไปยังกรมการขนส่งทางบกโดยได้รับข้อมูลว่ารถยนต์แบรนด์ดังกล่าวได้มีการประสานงานมายังกรมขนส่งทางบก แต่หลังจากนั้นยังไม่มีการส่งเอกสารชี้แจงเรื่องมาตรฐานของตัวรถตามมาตรฐานของประเทศไทย
ขณะที่ การขอใบรับรองแบบวิศวกรรมของรถยนต์จะต้องมีการรับรองก่อนการจำหน่ายหรือการให้รถยนต์นั้น ๆ วิ่งบนถนน อาทิ พิกัดน้ำหนักตัวรถ, อุปกรณ์ของตัวรถ, โครงสร้างตัวถัง และระบบความปลอดภัย เป็นต้น
'อีวี ไพรมัส' แจง VOLT EV ได้รับอนุมัติจดทะเบียนจากขนส่งปลาย พ.ค.
นายกฤษฎา กล่าวว่า ตนได้สอบถามไปยังกรมการขนส่งทางบกถึงการป้องกันปัญหาและการตรวจสอบข้อมูลสำหรับผู้บริโภคได้รับการชี้แจงว่า หากผู้บริโภคมีข้อสงสัยถึงรถยนต์ที่ท่านจะซื้อว่าได้รับใบรับรองแบบวิศวกรรมแล้วหรือยังสามารถติดต่อได้ที่ กรมการขนส่งทางบก สายด่วน 1584 หรือ ช่องทาง Line @dltnews
ประเด็นดังกล่าวตนมองว่าเป็นภาระของผู้บริโภคที่ไม่สามารถทราบได้เลยว่ารถยนต์ที่ท่านซื้อผ่านการรับรองแล้วหรือยัง และจะมีปัญหาในการจดทะเบียนตามมาหรือไม่
นอกจากนี้ ในฐานะนายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ยังได้มีการตั้งข้อสังเกตุว่าบริษัทผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายรถยนต์รุ่นดังกล่าวที่ผ่านมาประกอบธุรกิจรถยนต์นำเข้าอิสระมาโดยตลอด ซึ่งน่าจะรับทราบถึงขั้นตอนด้านกฎหมายในประเทศไทยและการจัดจำหน่ายแต่ทำไมถึงเกิดปัญหาดังกล่าวได้
กรณีดังกล่าวถือเป็นกรณีแรกในวงการรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยหากย้อนกลับไปตั้งแต่ราว 10 ปีที่ผ่านมา บริษัทหลายบริษัทสัญชาติจีนที่เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยแบรนด์ใหญ่ต่าง ๆ อาทิ เอ็มจี, เกรท วอลล์ มอเตอร์ หรือ เนต้า ไม่มีปัญหาในการจดทะเบียน เมื่อเทียบกับกรณีที่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม หากบริษัททุกบริษัทปฏิบัติตามเงื่อนไขกติกาที่ภาครัฐกำหนดไว้ จะไม่เกิดปัญหาตามมาอย่างแน่นอน ซึ่งแบรนด์ใหม่ที่เข้ามาทำตลาดจึงจำเป็นต้องเข้าใจกติกาและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดโดยไม่สามารถข้ามขั้นตอนใด ๆ ได้ทั้งสิ้น