พบสตรีไทยเสียชีวิตจาก “มะเร็งปากมดลูก” วันละ 8-10 ราย
มะเร็งปากมดลูกเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย โดยพบเป็นอันดับ 2 ของมะเร็งในสตรีไทย รองจากมะเร็งเต้านม
มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในเพศหญิง พบได้ในสตรีตั้งแต่วัยสาวถึงวัยชรา พบมากในช่วงอายุ 30-50 ปี ในแต่ละปีผู้หญิงทั่วโลกป่วยด้วยโรคมะเร็งปากมดลูกเพิ่มขึ้นปีละ 466,000 คน เสียชีวิตปีละ 231,000 คน ซึ่งประมาณร้อยละ 80 ของผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา
สำหรับประเทศไทย กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยสถิติผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปากมดลูกในประเทศไทยประมาณ 4,500 รายต่อปี และพบผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 8,000 คน ต่อปี นั่นคือจะมีสตรีไทยที่เสียชีวิตจากโรคมะเร็งปากมดลูกวันละ 8-10 ราย
"SUPERFOOD" ป้องกันมะเร็ง กินได้กินดีกินได้ทุกวัน
สัญญาณเตือน “มะเร็งกระเพาะอาหาร” โรคร้ายใกล้ตัวกว่าที่คิด
ปัจจุบันมีการศึกษายืนยันชัดเจนแล้วว่ามะเร็งปากมดลูก เกิดจากเชื้อ HPV และเป็น HPV ชนิดที่ก่อให้เกิดมะเร็ง HPV เป็นเชื้อที่ติดง่าย ติดต่อทางเพศสัมพันธ์และ ทางการสัมผัสจากพาหะที่นำพาเชื้อไปสู่ช่องคลอด ดังนั้น ผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์ทุกคนมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HPV ซึ่งก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูกได้
จากสถิติพบว่าคนที่มีเคยเพศสัมพันธ์มาแล้ว มีโอกาสติดเชื้อ HPV ครั้งหนึ่งในชีวิต 80-90% (อาจจะเป็นเชื้อที่ก่อมะเร็งและไม่ก่อมะเร็งก็ได้) และครึ่งหนึ่งของผู้หญิงจะเคยสัมผัสเชื้อ HPV ภายในช่วง 2 ปี หลังมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก ผู้หญิงแต่ละคนอาจจะเคยสัมผัส และเคยหายจากเชื้อ HPV มาแล้วหลายรอบโดยไม่เคยรู้ตัวมาก่อนก็ได้ เพราะการติดเชื้อ HPV จะไม่มีอาการ ในผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์มีโอกาสพบเชื้อ หรือเสี่ยงเป็นมะเร็งปากมดลูก ถึง 15% จากผู้ที่มาตรวจทั้งหมด
ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปากมดลูก
สตรีที่มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย (ต่ำกว่า 18 ปี)
มีคู่นอนหลายคน
มีประวัติเป็นโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์
มีโรคเรื้อรัง หรือโรคที่ทำให้ภูมิต้านทานต่ำ เช่น โรคเอดส์
เคยมีความผิดปกติของปากมดลูก จากการตรวจภายใน และทำ Pap smear
ได้รับควันบุหรี่ทั้งทางตรงและทางอ้อม
แม้เป็นโรคมะเร็งที่พบได้อันดับต้น ๆ และมีอัตราการเสียชีวิตที่สูง แต่มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งในไม่กี่ชนิดที่สามารถป้องกันได้ ด้วยการ
ฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันเชื้อ HPV สายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดมะเร็ง
การตรวจภายในและคัดกรองเซลล์ผิดปกติของปากมดลูก
อายุ 21 ปีขึ้นไป หรือ 3 ปีหลังจากมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก ควรเริ่มทำการตรวจ และตรวจทุก ๆ 1-2 ปี
อายุ 30 ปีขึ้นไป ควรตรวจทุกปี หากผลตรวจเป็นปกติติดต่อกัน 3 ปี สามารถเว้นระยะห่างออกไปตรวจทุก ๆ 3 ปี ได้
อายุ 70 ปีขึ้นไป ไม่มีผลการตรวจที่ผิดปกติในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา และไม่มีปัจจัยเสี่ยง อาจยกเลิกการตรวจได้
กลุ่มอายุมากกว่า 30 ปี ควรตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีการต่อไปนี้
1.การตรวจทางเซลล์วิทยา (Pap Test) เพียงอย่างเดียว ถ้าได้รับผลการตรวจคัดกรองทุกปี เป็นปกติ ติดต่อกัน 3 ปี หรือมากกว่าสามารถเว้นระยะการตรวจคัดกรอง เป็นทุกๆ 2-3 ปีได้
2.การตรวจทางเซลล์วิทยา (Pap Test) ร่วมกับการตรวจหาเซลล์ผิดปกติ ตรวจหาไวรัสเอชพีวี (HPV DNA Test) ถ้าผลการตรวจคัดกรองปกติทั้งสองอย่างสามารถรับการตรวจทุกๆ 3 ปีได้ แต่หากพบความผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่งจำเป็นต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติมตามคำแนะนำของแพทย์เพื่อวางแผนการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
3.ลิควิ-เพร็พ เป็นเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งเป็นการปรับปรุงในการทำ PAP Smear จากวิธีการเดิมในการตรวจคัดกรองหาเซลล์มะเร็งปากมดลูก
4.การส่องกล้องตรวจความผิดปกติของปากมดลูก เรียกว่า โคลโปสโคปี้ (colposcopy) เมื่อมีผลตรวจแปปสเมียร์ผิดปกติ
อย่างไรก็ตามเป็นที่แน่ชัดและยอมรับกันทั่วโลกแล้วว่าการได้รับวัคซีนป้องกันเชื้อ HPV สายพันธุ์ 16/18 ที่มีความเสี่ยงสูงสุดในการเกิดมะเร็งปากมดลูกทั่วโลกนั้นมีประสิทธิภาพลดการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกได้จริงโดยหลักการมีดังนี้
-ถ้าฉีดวัคซีนป้องกันตั้งแต่ยังไม่มีการสัมผัสเชื้อสองตัวนี้ได้ก็จะดีที่สุด
-สามารถฉีดได้ตั้งแต่เด็ก อายุ 9-10 ขวบ สำหรับเด็ก อายุน้อยกว่า 15 ปี สามารถฉีดวัคซีน แค่ 2 เข็มก็มีภูมิคุ้มกันต่อ 2 สายพันธุ์หลัก ประสิทธิภาพเทียบกับ 3 เข็มในผู้ใหญ่
-วัคซีนอาจประสิทธิภาพน้อยลงในคนอายุมากกว่า 26 ปีหรือเคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน แต่จากงานวิจัยพบว่ายังมีประโยชน์ในภาพรวมของการป้องกันการเกิดรอยโรคขั้นสูงและมะเร็งปากมดลูก
-แม้เคยมีความผิดปกติขั้นสูงของเยื่อบุผิวปากมดลูกการฉีดวัคซีนหลังการรักษายังป้องกันการเป็นกลับซ้ำได้ถึง 70%
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการรักษาในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็น การตัดปากมดลูกด้วยห่วงไฟฟ้า, การจี้ปากมดลูกด้วยความเย็น, การจี้ด้วยเลเซอร์, การตัดปากมดลูกออกเป็นรูปกรวยด้วยมีด จะสามารถรักษาให้หายขาดได้หากมะเร็งอยู่ในระยะก่อนลุกลาม แต่หากเมื่อมะเร็งได้ลุกลามแล้ว คุณจำเป็นต้องตัดมดลูก หรือ ทำการฉายแสง หรือ เคมีบำบัด ซึ่งเป็นวิธีการรักษาที่ทราบกันดีถึงความทรมานของผลกระทบข้างเคียง อย่ามัวแต่อาย หรือ กลัวเจ็บ การระมัดระวังและรู้ทันโรคจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการช่วยรักษาชีวิตของคุณให้อยู่ยืนยาว
ขอขอบคุณข้อมูลสุขภาพจาก : โรงพยาบาลกรุงเทพ , กระทรวงสาธารณสุข