มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ เช็กอาการ รู้พฤติกรรมเสี่ยง เลี่ยงโรคร้าย
มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ผู้ชายมีโอกาสป่วยมากกว่าประมาณ 2-3 เท่า สามารถตรวจเบื้องต้นทำได้ด้วยอัลตร้าซาวด์
มะเร็งกระเพาะปัสสาวะเป็นอีกหนึ่งมะเร็งร้ายที่สามารถตรวจพบได้ตั้งแต่ระยะแรกโดยการตรวจเบื้องต้น ซึ่งในรายที่พบได้ตั้งแต่ระยะแรกๆ มักมาด้วยอาการปัสสาวะปนเลือด ปัสสาวะลำบาก กระเพาะปัสสาวะอักเสบ เป็นต้น
สาเหตุของมะเร็งกระเพาะปัสสาวะเกิดจากการที่เซลล์เยื่อบุผนังด้านในของกระเพาะปัสสาวะแบ่งตัวเพิ่มมากขึ้นอย่างผิดปกติจนกลายเป็นเนื้องอก และมะเร็งในที่สุด ซึ่งหากรักษาล่าช้า เซลล์มะเร็งอาจลุกลามและแพร่กระจายลึกเข้าไปยังผนังกระเพาะปัสสาวะชั้นอื่น รวมถึงอวัยวะส่วนอื่นๆ ได้ด้วย เช่น ต่อมน้ำเหลือง กระดูก ปอด
"ปวดฉี่บ่อย" โรคกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน รีบรักษาก่อนส่งผลระยะยาว
สีปัสสาวะบอกสุขภาพ รู้ทันสัญญาณเตือนโรค ไม่ตื่นตระหนก รักษาได้ทัน
กลุ่มเสี่ยงกระเพาะปัสสาวะ
- ผู้ชายมีโอกาสเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะมากกว่าผู้หญิง ประมาณ 2-3 เท่า
- การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยที่เพิ่มโอกาสในการเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะได้มากกว่าปกติ 3-4 เท่า เนื่องจากสารพิษจากการสูบบุหรี่จะถูกขับออกมาทางปัสสาวะ จึงสร้างความระคายเคืองทำให้เซลล์ในทางเดินปัสสาวะเติบโตผิดปกติ
- ผู้ที่เคยมีประวัติการฉายแสงบริเวณช่องท้องส่วนล่าง เช่น คนไข้มะเร็งรังไข่ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำไส้ มะเร็งต่อมลูกหมาก ที่รักษาด้วยการฉายแสงจะมีโอกาสเสี่ยงเพิ่มขึ้นประมาณ 8-9 เท่าที่จะกลายเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะได้
- กลุ่มคนที่ทำงานสัมผัสกับโลหะหนัก เช่น ทำงานโรงงานทอผ้า โรงงานน้ำมัน โรงงานทำพลาสติก ก็มีโอกาสเสี่ยงมากกว่า เพราะร่างกายจะดูดซับสารพิษ และขับออกมาทางปัสสาวะ จึงอาจเกิดการระคายเคืองต่อเซลล์ จนทำให้เซลล์เติบโตผิดปกติกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้
“มะเร็งกระเพาะอาหาร” โรคร้ายแฝงตัวเงียบ แนะเลี่ยง 5 พฤติกรรมเสี่ยง
อาการเสี่ยงมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ?
อาการของมะเร็งกระเพาะปัสสาวะส่วนใหญ่จะขึ้นกับว่าอยู่ในระยะไหนของโรค โดยหากเป็นระยะแรก อาการจะมาด้วยปัสสาวะปนเลือด ซึ่งก็ไม่ได้เป็นอาการจำเพาะเจาะจงว่าจะหมายถึงมะเร็งกระเพาะปัสสาวะแน่นอน แต่เป็นเพียงสัญญาณเตือนเดียวที่พอให้ตั้งข้อสงสัยได้
ในกรณีเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะระยะลุกลาม หรือระยะแพร่กระจาย คนไข้จะมาด้วยอาการ คลำพบก้อนบริเวณหัวหน่าวหรือท้องน้อย และปวดบริเวณอื่นๆ ที่มะเร็งกระจายไป ซึ่งจะมีอาการหลากหลายมากตามความรุนแรงของโรคที่ลุกลาม ดังนั้น การสังเกตอาการปัสสาวะเป็นเลือด จึงเป็นสัญญาณเตือนภัยสำคัญที่เราต้องใส่ใจ โดย “ปัสสาวะเป็นเลือด” ที่อาจเสี่ยงเป็นอาการมะเร็งกระเพาะปัสสาวะนั้น มักจะไม่มีอาการปวด แสบ ขัด หรืออาการเจ็บอื่นๆ ร่วมด้วยเลย
ไอ จาม หัวเราะแล้ว "ปัสสาวะเล็ด" โรคนี้รักษาได้ ทวงคืนคุณภาพชีวิตดี
มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มีระยะการลุกลามรุนแรงอย่างไร?
ความรุนแรงของมะเร็งกระเพาะปัสสาวะนั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะใหญ่ๆ ได้แก่
- มะเร็งกระเพาะปัสสาวะระยะเยื่อบุผิว จัดเป็นมะเร็งระยะแรกที่ยังไม่ลุกลามเข้าชั้นกล้ามเนื้อ ตัวมะเร็งอยู่เพียงแค่ชั้นเยื่อบุผิวภายใน สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัดแบบส่องกล้องทางเดินปัสสาวะ โดยที่ยังเก็บกระเพาะปัสสาวะไว้ได้
- มะเร็งกระเพาะปัสสาวะระยะชั้นกล้ามเนื้อ เป็นระยะที่มะเร็งมีการกระจาย เข้าไปยังชั้นกล้ามเนื้อแล้ว แต่ยังไม่ทะลุออกไปยังอวัยวะอื่นๆ การรักษาในระยะนี้แพทย์จะไม่แนะนำให้เก็บกระเพาะปัสสาวะไว้ ควรตัดก้อนเนื้อออกทั้งหมดพร้อมกับกระเพาะปัสสาวะออกทั้งหมด แล้วทำทางเดินปัสสาวะเทียมให้กับคนไข้
- มะเร็งกระเพาะปัสสาวะระยะแพร่กระจาย เป็นระยะที่มะเร็งแพร่ทะลุชั้นกล้ามเนื้อไปยังบริเวณอื่นๆ อวัยวะอื่นๆ ของร่างกายแล้ว เทียบได้กับระยะสุดท้ายในโรคมะเร็งชนิดอื่นๆ การรักษาก็จะเป็นไปตามอาการและแนวทางที่ดีที่สุดสำหรับคนไข้แต่ละบุคคล
อาการ "ปวดท้อง" อย่าปล่อยไว้ รีบตรวจเช็ก บางโรคอาจต้องผ่าตัด
ตรวจเบื้องต้นทำได้ด้วยอัลตร้าซาวด์ระบบทางเดินปัสสาวะ (KUB)
การตรวจอัลตร้าซาวด์ระบบทางเดินปัสสาวะ เป็นการตรวจดูระบบปัสสาวะ ซึ่งประกอบด้วย ไต ท่อไต และกระเพาะปัสสาวะ เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไตวาย สงสัยมีก้อนที่ไต สงสัยมีนิ่วที่ไต หรือทางเดินปัสสาวะ สงสัยมีการฉีกขาดเนื่องจากได้รับอุบัติเหตุ ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะลำบาก กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ซึ่งการตรวจต้องตรวจขณะที่ปวดปัสสาวะมากพอสมควร เพื่อจะได้เห็นกระเพาะปัสสาวะอย่างชัดเจน
ปิดโอกาสโรคร้าย แนะ 5 ทำ 5 ไม่ ป้องกันมะเร็ง
ใครบ้างที่เข้ารับการตรวจ อัลตร้าซาวด์ระบบทางเดินปัสสาวะ(KUB)
- มีอาการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะเป็นๆ หายๆ
- มีสีปัสาวะผิดปกติ เช่น ขุ่น มีตะก่อน เพื่อตรวจติดตามโรคนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ
- ปัสสาวะปนเลือด หรือเป็นสีเลือด อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งไตและท่อไต มะเร็งต่อมลูกหมาก
- อาการปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะไม่สุด เพื่อประเมินโรคต่อมลูกหมากโต หรือโรคทางกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
- ผู้ที่มีอาการปวดหลัง หรือ ปวดเอวเรื้อรัง เพื่อตรวจหาโรคนิ่วในไต โรคไตวายเรื้อรัง โรคซีสต์ถุงน้ำในไต โรคไตบวมน้ำ
การตรวจและวินิจฉัยมะเร็งกระเพาะปัสสาวะวิธีอื่นๆ
ในการตรวจวิฉัยโรคแพทย์อาจเลือกหลายวิธีการตรวจเพื่อยื่นยันผลให้แน่ชัด ก่อนว่างแผนการรักษา เช่น
1. การตรวจปัสสาวะ เพื่อหาว่ามีเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะมากผิดปกติหรือไม่ รวมทั้งหาเซลล์มะเร็งที่อาจปนออกมากับปัสสาวะ (urine cytology)
2. การส่องกล้องตรวจกระเพาะปัสสาวะ (cystoscopy) โดยแพทย์จะส่องกล้องผ่านท่อปัสสาวะเข้าไปยังกระเพาะปัสสาวะ เพื่อตรวจหาตำแหน่ง ขนาด จำนวนและรูปร่างของเนื้องอก และตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจทางพยาธิวิทยาเพื่อยืนยันว่าเป็นเซลล์มะเร็งหรือไม่
3. การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) บริเวณช่องท้องทั้งหมดเพื่อตรวจหาความผิดปกติของอวัยวะในระบบทางเดินปัสสาวะ
รักษาอย่างไร หายขาดหรือไม่ เมื่อเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ?
แนวทางในการรักษามะเร็งกระเพาะปัสสาวะนั้น ขึ้นอยู่กับระยะของโรคเป็นสำคัญ โดยหากตรวจพบในระยะแรก ก็สามารถรักษาหายได้ ด้วยการส่องกล้องเข้าไปตัดชิ้นเนื้อมะเร็งเฉพาะที่ และเฝ้าติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง
ส่วนในคนไข้ที่เป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะในระยะลุกลาม ระยะแพร่กระจาย วิธีการรักษาก็คือต้องตัดเนื้อมะเร็งออกไป โดยอาจจำเป็นต้องตัดกระเพาะปัสสาวะทิ้งไปด้วยขึ้นอยู่กับความรุนแรง และหลังจากนั้นก็ต้องมีการฉายแสงซ้ำ หรือให้เคมีบำบัด รักษาและเฝ้าติดตามอาการไปเรื่อยๆ ซึ่งหากเป็นในระยะท้ายๆ โอกาสในการรักษาหายขาดก็จะยิ่งน้อยลง
อั้นปัสสาวะบ่อย เสี่ยงมะเร็งต่อมลูกหมาก จริงหรือ? | Health Me Please EP.16
ขึ้นชื่อว่ามะเร็ง ไม่ว่าจะเป็นที่อวัยวะใดก็ถือว่าอันตรายด้วยกันทั้งสิ้น ดังนั้น การดูแลตัวเองให้ดี ให้ปลอดภัย และลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งให้ได้มากที่สุด จึงเป็นสิ่งที่เราไม่ควรละเลย
ขอบคุณข้อมูลสุขภาพจาก โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน, โรงพยาบาลพญาไท