ปวดท้อง! สัญญาณมะเร็งรังไข่-เนื้องอกปากมดลูก แนะ “ตรวจภายใน” ลดเสี่ยง
“ปวดท้อง” สำหรับผู้หญิงใครว่าไม่สำคัญ อาการนี้เป็นสัญญาณเตือนโรคทางนรีเวช หากปล่อยไว้นานอาจสายเกินแก้ แนะ “ตรวจภายใน” ลดเสี่ยงได้
อีกสัญญาณหนึ่งของ “อาการปวดท้อง” ที่ผู้หญิงควรระวัง คือ “โรคทางนรีเวช” ส่วนมากแล้วโรคนี้มักจะมีอาการปวดบริเวณท้องน้อยด้านล่าง ตรงกลาง หรืออาจจะซ้ายและขวาก็ได้ เพราะนั่นเป็นเสียงของมดลูกที่แสดงออกมาว่ากำลังมีปัญหา
ดังนั้นแล้วผู้หญิงอย่างเราๆ ควรมารับการตรวจภายในหรืออัลตราซาวน์ เพื่อวินิจฉัยความผิดปกติที่เกิดขึ้น
แต่การตรวจภายในนี้จะช่วยแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ ใครบ้างที่ควรตรวจ และตรวจแล้วจะเจอโรคอะไรบ้างนั้น วันนี้เราได้มัดรวมทุกข้อมูล เพื่อมาไขทุกข้อสงสัยให้ทุกคนกัน
ปวดท้องแบบไหน? "ไส้ติ่งอักเสบ" ไม่รีบรักษาอาจ“ไส้ติ่งแตก”อันตรายถึงชีวิต
“โรคกระเพาะอาหาร”ปวดท้องแบบไหน อาการใดบอกความรุนแรง รู้ก่อนเป็นแผลทะลุ
ตรวจภายในสำคัญต่อผู้หญิง
การตรวจภายในเป็นการค้นหาความผิดปกติของระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิง ตั้งแต่ปากช่องคลอด ช่องคลอด ปากมดลูก มดลูก และรังไข่ ทั้งที่แสดงอาการและยังไม่แสดงอาการในระยะแรกๆ
ส่วนใหญ่ความผิดปกติเหล่านี้ มักจะมีสาเหตุมาจากการมีเพศสัมพันธ์ การตั้งครรภ์หรือการคลอดบุตร ปัจจัยเหล่านี้ควรรีบตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด เพราะหากปล่อยไว้นานๆ อาจเกิดความเสี่ยงเป็นโรคร้าย ที่อาจลุกลามจนยากเกินจะรักษาให้หายขาดได้
ตรวจภายในเจอโรคอะไรได้บ้าง
ส่วนใหญ่โรคที่พบบ่อยเมื่อตรวจภายใน คือ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งรังไข่ ช็อกโกแลตซีสต์ และเนื้องอกในมดลูก ซึ่งเป็นโรคที่มีความร้ายแรง หากปล่อยไว้โดยไม่มีการป้องกันตั้งแต่เนิ่นๆ ก็จะทำให้ลุกลามไประยะอื่นๆ จนยากเกินที่จะรักษาให้หายขาดได้
เช็กสัญญาณเตือนควรตรวจภายใน
อาการที่บ่งบอกว่าควรจะตรวจภายในแล้ว มีดังนี้
- มีเลือดออกจากช่องคลอด ทั้งที่ไม่ใช่ประจำเดือน เช่น หลังจากมีเพศสัมพันธ์
- มีตกขาวผิดปกติ ส่งกลิ่นเหม็น และมีสีเปลี่ยนไปคล้ายมูกสีขาว
- ประจำเดือนมาผิดปกติ เช่น ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ หรือไม่มีประจำเดือน
- ปวดท้องน้อยเรื้อรัง
- คลำเจอก้อนเนื้อบริเวณท้อง
ใครบ้างที่ควรตรวจภายใน
นอกจากผู้หญิงที่มีอาการข้างต้นแล้ว เพราะโรคในระยะแรกๆ มักไม่แสดงอาการ อีกกลุ่มหนึ่งที่ควรตรวจด้วย มีดังนี้
- ผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปี หรือหลังจากมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 3 ปี
- ผู้หญิงที่เคยผ่าตัดถุงน้ำรังไข่มาก่อน
- ผู้หญิงที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็ง หรือป่วยเกี่ยวกับมดลูก รังไข่ และช่องคลอด
ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ก็ต้องตรวจภายใน
ผู้หญิงที่ไม่เคยผ่านการมีเพศสัมพันธ์มาก่อน ก็จำเป็นต้องตรวจภายในด้วยเช่นกัน แต่แพทย์จะเลือกวิธีการที่เหมาะสม เพราะการตรวจภายในไม่ใช่แค่การตรวจปากมดลูกอย่างเดียว แต่จะตรวจรังไข่ร่วมด้วย ซึ่งอาจบ่งชี้ถึงความผิดปกติของผู้หญิง
วิธีการตรวจภายใน
เมื่อพูดถึง “การตรวจภายใน” หลายคนมักจะคิดว่าต้องเจ็บปวดมากแน่ๆ แต่จริงแล้วการตรวจภายในไม่ได้เจ็บอย่างที่คิดเลย เพราะในปัจจุบันได้มีการพัฒนาเทคนิคการตรวจที่ก้าวหน้ามากขึ้นแล้ว
ก่อนเข้ารับการตรวจเจ้าหน้าที่พยาบาลจะให้เปลี่ยนเครื่องแต่งกาย ซึ่งแพทย์จะให้ขึ้นขาหยั่ง นอนลง ขาทั้ง 2 ข้างวางพาดลงบนแผ่นรองรับขา ซึ่งในท่านี้อาจทำให้ไม่สบายตัวหรือรู้สึกเขินอาย แต่ให้พยายามทำจิตใจให้โล่งสบาย ไม่เกร็งกล้ามเนื้อ
จากนั้นแพทย์จะใช้เครื่องมือลักษณะคล้ายปากเป็ดที่มีขนาดแตกต่างกันตามขนาดของช่องคลอดในผู้หญิงแต่ละคน สอดเบาๆ เข้าไปในช่องคลอด เพื่อขยายออกให้เห็นปากมดลูก และเก็บเซลล์ที่ปากมดลูกไปตรวจหาความผิดปกติ
โรคทางนรีเวช ในระยะแรกๆ มักไม่แสดงอาการ ดังนั้นผู้หญิงทุกคนควรให้ความสำคัญในการดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ควบคู่ไปกับการตรวจภายในประจำปี จะช่วยให้คุณผู้หญิงทุกคนห่างไกลความเสี่ยงโรคทางนรีเวชอย่าง มะเร็งปากมดลูก มะเร็งรังไข่ ช็อกโกแลตซีสต์ และเนื้องอกในมดลูก ได้อีก
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลกรุงเทพ และ โรงพยาบาลเปาโล
"กลืนอาหารลำบาก - ปวดท้องบ่อย" ควรตรวจส่องกล้องกระเพาะอาหาร
ปวดท้องอย่าชะล่าใจ หลอดเลือดแดงใหญ่อาจ "ปริ แตก" อันตรายถึงชีวิต