เช็กอาการ "ลงแดง" หลังหยุดดื่มแอลกอฮอล์
กลุ่มคนที่ต้องดื่มสุราเป็นประจำทุกวัน เมื่อถูกงดดื่ม มักมีอาการที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่า "ลงแดง" ซึ่งอาการนี้สามารถนำไปสู่อันตรายได้
ในคนที่ดื่มสุรามาเป็นระยะเวลานาน ระยะ 5-15 ปีเป็นต้นไป อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้เกิดปัญหาตามมา เช่น มือสั่น มีอาการหงุดหงิด อารมณ์รุนแรง คลื่นไส้อาเจียน ในกลุ่มคนที่ "ลงแดง" จะพบว่ามีการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติสูงกว่าปกติ ถ้าหากวัดความดัน อาจจะมีความดันโลหิตสูง มีปัญหาชีพจรเต้นเร็ว เหงื่อออกเยอะ แต่อาการเหล่านี้ถือเป็นอาการที่ไม่ซับซ้อน แต่จะเริ่มซับซ้อนเมื่อเป็นมากขึ้น คือเริ่มมีอาการชักร่วมด้วย
อาการ "ลงแดง" จากการขาดสุราแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ตามความรุนแรงและช่วงเวลาที่เกิดอาการ ดังนี้
1. ภาวะขาดสุราไม่ซับซ้อน อาการที่พบแรกสุด และบ่อยที่สุดได้แก่ อาการตัวสั่น มือสั่น ร่วมกับ มีอารมณ์หงุดหงิด คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งอาการเหล่านี้มักเกิดหลังจากหยุดดื่มได้ไม่กี่ชั่วโมง พบบ่อย ๆ ว่า จะเป็น ในตอนเช้าวันรุ่งขึ้น อาการสั่นเป็นอาการที่เห็นได้ชัด สั่นเร็ว 5-7 ครั้งต่อวินาที การสั่นจะมากขึ้น เมื่อมีการเคลื่อนไหว หรือมีความเครียด ถ้าให้เหยียดแขนหรือแลบลิ้น จะยิ่งเห็นชัด
อาการอื่น ๆ ที่พบในระยะนี้ได้แก่ อ่อนเพลีย ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดศีรษะ วิตกกังวล อารมณ์ซึมหดหู่ หรือหงุดหงิด นอนหลับ ๆ ตื่น ๆ มี ระบบประสาทอัตโมนัติตื่นตัว (autonomic hyperactivity) เช่น ชีพจรเร็ว เหงื่อออกมาก ความดันโลหิตขึ้นสูง บางคนอาจมีประสาทหลอน ซึ่งจะมีลักษณะไม่ชัดเจน และเป็นอยู่ไม่นาน
อาการเหล่านี้จะรุนแรงมากสุดในช่วง 24-48 ชั่วโมง แล้วค่อย ๆ ลดลงจนปกติภายใน 5-7 วัน แต่อาจมี อารมณ์หงุดหงิดง่าย นอนไม่ค่อยหลับได้ถึง 10 วันหรือนานกว่านั้น
2. ภาวะชักที่เกิดจากการกระตุ้นของสมองที่มากเกินปกติจากการขาดสุรา (Alcohol withdrawal seizure) พบว่าร้อยละ 90 เกิดอาการชักในช่วง 7-48 ชั่วโมงหลังจากหยุดดื่มสุรา
ลักษณะการชัก โดยมากจะเป็นการชักที่มีผลต่อทุกส่วนของสมอง เกิด 2-6 ครั้ง ส่วนอาการชักต่อเนื่อง พบได้น้อย ประมาณหนึ่งในสามของผู้ที่มีการชักจะเกิดภาวะสับสนจากการถอนสุราอย่างรุนแรง (alcohal withdrawal delirium) ต่อไป และเมื่อเกิดอาการสับสนเฉียบพลันแล้ว พบน้อยมากว่าจะเกิดการชักขึ้นอีก อาการชักหลังหยุดดื่มสุรานี้ไม่ได้เป็นตัวบ่งถึง ความรุนแรงของการเป็น "โรคพิษสุรา"
3. โรคจิตซึ่งเกิดร่วมกับการดื่มสุราจัดเป็นเวลานาน (Alcohol hallucinosis) โดยมากเริ่มมีอาการภายใน 48 ชั่วโมงหลังจากหยุดดื่ม
ลักษณะอาการเด่น จะเป็นประสาทหลอน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเสียงแว่ว เช่น เสียงนาฬิกา เสียงรถยนต์ เสียงระฆัง เสียงคนพูดกัน หรือพูดข่มขู่ผู้ป่วย ผู้ป่วยจะหวาดกลัว ตื่นตระหนก กระสับกระส่าย อาการประสาทหลอนชนิดอื่น เช่น ภาพหลอน พบได้น้อย แยกจากอาการสับสนเฉียบพลัน โดยที่ผู้ป่วยไม่มีอาการเพ้อ งุนงง สับสน หรือหลงลืม
โดยทั่วไป จะมีอาการอยู่ไม่นาน เป็นเพียงชั่วโมงถึงหลายวัน ซึ่งผู้ป่วยจะค่อย ๆ รู้ตัวว่าเสียงที่ได้ยินนั้นไม่มีจริง มีอยู่ส่วนน้อยที่อาการไม่หายเป็นปกติ ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีอาการนานเกินกว่า 6 เดือน
4. ภาวะถอนพิษสุรา (เกิดภาวะสมองสับสน) อาการมักเกิดขึ้นหลังจากหยุดสุราได้ 2-3 วัน และจะรุนแรงมากที่สุดในวันที่ 4-5 เกิดในผู้ที่ดื่มสุราหนักมา 5-15 ปี และมีความเจ็บป่วยทางร่างกายร่วม เช่น อุบัติเหตุ โรคตับ โรคติดเชื้อ เป็นต้น
ลักษณะอาการสำคัญ คืออาการ delirium โดยมักเริ่มเป็นตอนเย็นหรือกลางคืน ผู้ป่วยจะมีอาการสับสน ประสาทหลอนเห็นคนจะมาทำร้าย เห็นตำรวจจะมาจับ หรืออาจเห็นเป็นสัตว์ต่าง ๆ รู้สึกว่ามีอะไรมาไต่ตามตัว บางครั้งหูแว่ว เสียงคนพูด เสียงคนข่มขู่ มีท่าทางหวาดกลัว บางครั้งพูดฟังไม่เข้าใจ ร้องตะโกน หรือหลบซ่อนตัว อาการเป็นตลอดทั้งคืน ช่วงเช้าส่วนใหญ่อาการจะทุเลาลง ตอนบ่ายอาการปกติดี ซึ่งเป็นการแกว่งไกวของอาการ (fluctuation) ญาติมักจะคิดว่าหายดีแล้ว แต่พอตกเย็น ผู้ป่วยก็เริ่มกลับมามีอาการอีก
ความรุนแรงและระยะเวลาที่เป็นในแต่ละกลุ่มอาการแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน พบว่าร้อยละ 75-80 อาการเป็นน้อย ร้อยละ 15-20 มีอาการปานกลาง และมีเพียงร้อยละ 5-6 เท่านั้นที่อาการรุนแรงจนถึงขั้น delirium tremens ซึ่งโดยทั่วไปจะเกิดอาการหลังจากอยู่โรงพยาบาลได้ 3 วัน อาการ delirium นี้เป็นไม่นาน ส่วนใหญ่จะมีอาการมากอยู่ ประมาณ 3 วันแล้วค่อย ๆ ทุเลาลง รายที่มีอาการอยู่นานพบว่าเป็นจากปัจจัยเสริมจากภาวะความผิดปกติทางร่างกายอื่น ๆ ในสมัยก่อน อัตราการตายประมาณร้อยละ 15 ปัจจุบันประมาณร้อยละ 1-2
อาการขาดสุรา ร่วมกับอาการทางจิต
1.) หูแว่ว
2.) มีความรู้สึกหวาดกลัว
3.) อาการภาพหลอน
4.) อาการเพ้อหรือมึนงง
5.) มีอาการประสาทหลอน
*แต่โดยส่วนใหญ่ พวกขาจะรู้ตัวว่า สิ่งที่เขาได้ยิน มันไม่ได้มีเกิดขึ้นจริง
ในกลุ่มที่มีอาการรุนแรง ก็จะมีผลต่อความรุนแรงมากขึ้นต่อจิตประสาท เห็นภาพหลอนเหมือนกับมีคนจะมาทำร้าย หูแว่ว มีเสียงแว่วที่มันมากกว่าเดิม และมีอาการอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น อาจจะร้องตะโกน หลบซ่อนตัว คือ อาการคล้ายคนบ้า และอาการมักเป็นหนักในเวลากลางคืน เช่น กลางวันก็เหมือนปกติ แต่กลางคืนก็จะเหมือนคนบ้า
อาการติดเหล้า สามารถรักษาได้ โดยอันดับแรกต้องให้กลุ่มวิตามิน เนื่องในกลุ่มคนไข้ที่มีปัญหาพิษสุราเรื้อรัง ระบบการดูดซึมสารอาหารต่าง ๆ จะไม่ดี และมีการขาดสารอาหารบางอย่าง ซึ่งสารอาหารเหล่านี้มันเป็นสารที่สำคัญต่อการทำงานของร่างกายโดยเฉพาะส่วนของสมอง สารอาหารที่จำเป็นจะต้องให้ก่อน จะมี วิตามินบี 1 วิตามินบี 12 และก็กลุ่มโฟลิก ซึ่งคุณหมออาจให้แบบรับประทาน หรือในกรณีที่อาการเป็นมาก ๆ ต้องฉีดเข้าสู่ร่างกาย และอาจจะต้องให้ยาอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น การให้ยาเพื่อควบคุมอาการชัก ยาขับปัสสาวะ เพราะกลุ่มคนเหล่านี้จะมีปัญหาในเรื่องของการขับน้ำออกจากร่างกายอย่างไรก็ตาม "สภาพแวดล้อม" ก็เป็นส่วนสำคัญ ควรจะอยู่ในที่มีแสงสว่าง และไม่มีเสียงรบกวนมาก ควรที่จะมีคนดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะช่วยลดปัญหาอาการแบบประสาทหลอนหรืออาการหวาดกลัวได้
ขอบคุณที่มา : คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, รายการคุยกับหมออัจจิมา