เช็กอาการ 6 โรคต่อมไทรอยด์ อย่ามองข้ามก้อนที่คอ อาจเป็นพิษลุกลามรุนแรง
รู้หรือไม่ ? มีคนจำนวนมากป่วยเป็นโรคไทรอยด์โดยที่ไม่รู้ตัว จึงไม่ได้เข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที ชวนไขความลับโรคของต่อมไทรอยด์ที่อาจมีเพียงสัญญาณเตือนเล็กน้อยแต่เป็นพิษ ลุกลามรุนแรงได้ หรือ โรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ที่อาจเสียชีวิตได้ภายในระยะเวลาสั้น เช็กชนิดโรคต่อมไทรอยด์อาการและวิธีรักษา
ไทรอยด์ มาจากคำว่า thyrose แปลว่า shield หรือโล่ วางอยู่ด้านหน้าคอ เป็นรูปตัว H หรือรูปผีเสื้อ ขนาด 3 มิติ ยาว × กว้าง × หนา = 5 × 3 × 2 เซนติเมตร มีน้ำหนักประมาณ 20 gm
ไทรอยด์ทำหน้าที่ สร้างไทรอยด์ฮอร์โมน ที่ทำหน้าที่ควบคุมระบบการเผาผลาญและเมตาบอริซึมของร่างกาย
- วัยทารกจะเกี่ยวข้องกับพัฒนาการเจริญเติบโตของสมอง
- ผู้ใหญ่จะเกี่ยวข้องโดยตรงกับกระบวนการเผาผลาญหรือเมตาบอริซึม
เช็ก 10 อาการเตือน “ไทรอยด์” รู้ทันรักษาได้ ก่อนเสี่ยงหัวใจล้มเหลว
ข่าวปลอม! “ไทรอยด์เป็นพิษ”ไม่เกี่ยวกับเส้นลมปราณ-กระเพาะอาหาร
ซึ่งช่วยเปลี่ยนสารอาหารที่กินเข้าไปเป็นพลังงานให้กับเซลล์ของร่างกาย ตัวไทรอยด์ฮอร์โมนจะมีรูปแบบอยู่สองแบบได้แก่ thyroxine (T4) และ triiodothyronine (T3) ซึ่งมักเรียกรวมว่าไทรอยด์ฮอร์โมน โดยฮอร์โมน T4 หรือ thyroxineนั้นจะสร้างเฉพาะที่ต่อมไทรอยด์เท่านั้น แต่ฮอร์โมน T3หรือ triiodothyronine นั้นจะสร้างที่ไทรอยด์แค่ 20% ส่วนอีก 80% สร้างที่สร้างนอกไทรอยด์โดยเปลี่ยนมาจาก T4 ในตับ , กล้ามเนื้อ , ไต และต่อมใต้สมอง
หากต่อมไร้ท่อทำงานผิดปกติ ผลิตฮอร์โมนมากเกินไปหรือต่ำเกินไป ก็จะส่งผลกระทบต่อระบบของร่างกายได้ รวมถึงส่งผลต่อการกระตุ้นการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ โดยเฉพาะหัวใจและสมอง รวมถึงส่งผลต่อความแข็งแรงของผิวหนัง เล็บ และเส้นผมได้เช่นกัน โดยอาการของโรคไทรอยด์ในแต่ละรายจะมีอาการแสดงออกได้หลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับชนิดความผิดปกติของต่อมไทรอยด์
6 โรคของต่อมไทรอยด์
1. Hyperthyroidism หรือภาวะไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติ
สาเหตุนอกจากไทรอยด์อักเสบหรือthyroiditisแล้ว โรคที่เป็นสาเหตุหลักๆ มีดังนี้
Increased thyroid hormone synthesis มีการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์มากผิดปกติ
- Graves' disease ต่อมไทรอยด์มีขนาดโตทั่ว ๆ และผู้ป่วยจะมีลักษณะเฉพาะร่วมคือ
- ตาโปน
- ผิวหนังที่หน้าแข้ง และที่หลังเท้าจะหนา
- กล้ามเนื้อต้นแขนต้นขาอ่อนแรง
- ภาวะซึมเศร้า
- ปวดข้อ
- ภาวะเต้านมโตในเพศชาย
- Toxic multinodular goiter คอพอกที่มีลักษณะเนื้อไทรอยด์เป็นก้อนตะปุ่มตะป่ำและมีการทำงานของฮอร์โมนไทรอยด์สูงมีอาการไทรอยด์เป็นพิษ
- Toxic adenoma พบในผู้ป่วยอายุน้อย และก้อนไม่ใหญ่เหมือนในโรคคอพอก ส่วนใหญ่ก้อนมีขนาดไม่เกิน 3เซนติเมตรและก้อนมักไม่มีความเสี่ยงเป็นมะเร็ง
Increased hormonal release สร้างฮอร์โมนปกติ แต่ปล่อยฮอร์โมนมากผิดปกติ
- สาเหตุมักเกิดจากการ อักเสบของไทรอยด์เช่น ในช่วงต้นของการอักเสบของไทรอยด์อักเสบเรื้อรังเช่น Hashimoto's thyroiditis
- อาการ เมื่อมีไทรอยด์มากเกินได้แก่เหนื่อย ใจสั่น ขี้ร้อน น้ำหนักลด เหงื่อออกเยอะ ประจำเดือนน้อยลง ผิวหนังเป็นปื้นหน้าขรุขระ บางรายตาโปน บางรายมีอาการแขนขาอ่อนแรง
การรักษาไทรอยด์
- การกินยาต้านไทรอยด์ ยามี 2 ประเภทคือ โพรพิลไทโอยูราซิล (PTU : propylthiouracil), เมทิมาโซล(MMI: methimazole) ซึ่งออกฤทธิ์กดการสร้างไทรอยด์ฮอร์โมน การรักษาด้วยยานี้ต้องระวังผลข้างเคียงของยาได้แก่ ไข้ เม็ดเลือดขาวต่ำ ผื่น ตับอักเสบได้ ดังนั้นควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
- การกลืนน้ำแร่ไอโอดีน แร่ไอโอดีนจะไปทำลายเซลล์ของต่อมไทรอยด์ ทำให้ต่อมมีขนาดเล็กลงและสร้างฮอร์โมนได้น้อยลง ปัจจุบันเป็นวิธีที่นิยมเพราะผลข้างเคียงน้อยและไม่ยุ่งยาก และได้ผลเร็ว
- การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ นิยมผ่าตัดในผู้ป่วยที่คอโตมากๆ หรือมีอาการกลืนลำบากหรือหายใจลำบากร่วมด้วย เป็นวิธีที่ได้ผลเร็วที่สุด ผลข้างเคียงที่อาจเกิดได้คือเสียงแหบ หรือระดับแคลเซียมต่ำจากการที่ต่อมพาราไทรอยด์ถูกตัดออกด้วย ซึ่งหากศัลยแพทย์มีความชำนาญ ภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ก็จะไม่เกิดขึ้น
2. โรคต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไป (Hypothyroidism)
ภาวะที่ต่อมไทรอยด์สร้างไทรอยด์ฮอร์โมนน้อยกว่าปกติ ทำให้ระดับฮอร์โมนในเลือดมีค่าต่ำกว่าปกติ สาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดหลังจากได้รับการรักษาด้วยการกลืนแร่ไอโอดีนหรือการผ่าตัดที่ต่อมไทรอยด์มาก่อน ส่วนสาเหตุส่วนน้อยเกิดจากความผิดปกติของต่อมใต้สมอง
อาการต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไป
- ความคิดช้า
- เฉื่อยชา ง่วงนอน
- น้ำหนักขึ้น
- ขี้หนาว
- ผมร่วง
- ผิวแห้งหยาบ ตั
- ตัวบวม หน้าบวม
- เป็นตะคริวบ่อย
- ท้องผูก
อาการเหล่านี้มักค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ได้รับการวินิจฉัยล่าช้า หากไม่ได้รับการรักษาอาจมีผลเสียต่อระบบหัวใจและระบบไขมันในเลือดได้การรักษาโดยการรับประทานยาที่เป็นไทรอยด์ฮอร์โมน ซึ่งมักต้องรับประทานตลอดชีวิต
“ไทรอยด์เป็นพิษ” ส่งผลต่อร่างกายทั้งระบบ เสี่ยงหัวใจวาย-สูญเสียการมองเห็น
3.โรคต่อมไทรอยด์อักเสบ (Thyroiditis)
แบ่งออกเป็น 3 ชนิด
- ต่อมไทรอยด์อักเสบเฉียบพลัน มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย และพบได้บ่อยในผู้ป่วยอายุประมาณ 20 ปี อาการจะมีไข้หนาวสั่นเจ็บบริเวณไทรอยด์อาจจะมีอาการบวมแดงบริเวณไทรอยด์ได้อาการรุนแรงจนอาจมีฝีหนองของต่อมไทรอยด์ได้ การรักษาให้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำในกรณีที่เป็นฝีของตัวต่อมไทรอยด์จะพิจารณาผ่าตัดระบายหนอง
- ไทรอยด์อักเสบกึ่งเฉียบพลัน สาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส เช่น หวัด ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ต่อมไทรอยด์โต คลำที่ต่อมไทรอยด์จะรู้สึกเจ็บ โรคนี้สามารถรักษาด้วยการรับประทานยาสเตียรอยด์ ต่อมไทรอยด์จะยุบลงภายในเวลา 1-2 สัปดาห์ สามารถหายขาดได้ภายใน 3-6 เดือน โดยต้องติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง
- ต่อมไทรอยด์อักเสบเรื้อรัง เกิดจากความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งผู้ป่วยอาจมาพบแพทย์ด้วยอาการคอโต กดไม่เจ็บ หรือมีประวัติคอโตแล้วยุบไปแล้วโดยไม่เคยรับการรักษามาก่อน การวินิจฉัยทำโดยการตรวจแอนติบอดีในเลือด การรักษาด้วยการรับประทานไทรอยด์ฮอร์โมนและติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง
4.โรคต่อมไทรอยด์โตแบบไม่เป็นพิษ
คือการที่ต่อมไทรอยด์มีขนาดโตขึ้น แต่การสร้างฮอร์โมนยังปกติ มีทั้งชนิด ต่อมไทรอยด์โตก้อนเดียวและ ต่อมไทรอยด์โตหลายก้อนโดยทั้งสองชนิดมีโอกาสเป็นมะเร็งได้ จึงมีความจำเป็นที่ต้องตรวจด้วยวิธีการดูดเซลล์จากก้อนเนื้อไปตรวจหาเซลล์มะเร็ง หลังจากนั้นจึงพิจารณาการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
5.โรคมะเร็งต่อมไทรอยด์
มีทั้งชนิดที่มีความรุนแรงน้อยซึ่งรักษาหายขาดได้และชนิดรุนแรงมากจนถึงแก่ชีวิตได้ภายในระยะเวลาสั้น นอกจากนี้ยังมีชนิดที่มีการถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ ซึ่งชนิดหลังนี้มักมีประวัติคนในครอบครัว และเกิดในคนอายุน้อย ให้สงสัยก้อนที่คอนั้นอาจเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ เมื่ออายุน้อยกว่า 20ปี หรือมากกว่า 60 ปี ก้อนมีลักษณะแข็ง โตเร็ว มีต่อมน้ำเหลืองที่คอโตร่วมด้วย
- มีอาการกลืนลำบาก หรือหายใจลำบาก หรือเสียงแหบ
- ประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งไทรอยด์
- ประวัติคนในครอบครัวเป็นเนื้องอกของต่อมหมวกไต
การวินิจฉัย โดยการดูดเซลล์ที่ก้อนนั้นมาตรวจ ส่วนการรักษานั้นขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็งโดยแพทย์จะพิจารณาตามความเหมาะสม
6.โรคของต่อมไทรอยด์ไม่ปรากฏอาการ
มี 2 ชนิด คือ ชนิดที่ทำงานน้อยเกินไป และชนิดที่ทำงานมากเกินไป (Subclinical โดยที่ผู้ป่วยจะไม่มีอาการผิดปกติให้เห็น การวินิจฉัยด้วยวิธีการตรวจเลือดเท่านั้น ซึ่งมักพบเมื่อตรวจสุขภาพประจำปี
วิธีการตรวจคัดกรองโรคกลุ่มไทรอยด์
- การตรวจอัลตราซาวด์ไทรอยด์
- เจาะเลือดเพื่อดูระดับฮอร์โมนไทรอยด์ หลังจากนั้นหากตรวจพบว่ามีก้อนเนื้อที่ต่อมไทรอยด์จะมีการใช้วิธี FNA (Fine Needle Aspiration) โดยการใช้เข็มเจาะดูดเนื้อเยื่อในต่อมไทรอยด์เพื่อตรวจดูว่าเซลล์ผิดปกติที่มีความเสี่ยงจะเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์หรือไม่
ทั้งนี้การรักษาโรคกลุ่มไทรอยด์ จะขึ้นอยู่กับเซลล์ที่เจาะออกมาว่าเป็นเซลล์ปกติหรือเซลล์มะเร็ง หากเป็นเซลล์ปกติและก้อนมีขนาดเล็ก ก็อาจไม่จำเป็นที่จะต้องผ่าตัด แต่ต้องติดตามผลเป็นระยะ หรือผ่าตัดออกได้หากเป็นความต้องการของผู้ป่วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่ที่ดุลยพินิขจของแพทย์ อย่างไรก็ตามหากมีอาการให้รีบพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและอย่ามองข้ามการตรวจสุขภาพประจำปีเพราะนั้นคือการเฝ้าระวังโรคต่างๆ และหากพบรอยโรคที่แฝงอยู่ก็มีโอกาสป้องกันและตัดโอกาสการลุมลามรุนแรงได้!
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลเปาโล
ขอบคุณภาพจาก : freepik และโรงพยาบาลเปาโล
โรคไทรอยด์ 4 เรื่องควรรู้ อัตราเกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายหลายเท่า