อย่าชะล่าใจ ! โรคหลอดเลือดสมองไม่ว่าวัยใดก็เป็นได้
ไม่เพียงแต่ผู้สูงวัย แม้แต่วัยรุ่นก็อาจมีความเสี่ยงเกิดโรคหลอดเลือดสมองด้วยสาเหตุที่ต่างกัน
โรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke เกิดขึ้นเมื่อหลอดเลือดในสมองมีการตีบตันหรือแตกอย่างเฉียบพลัน ทำให้การไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงสมองในส่วนนั้นหยุดชะงักลง ส่งผลให้เนื้อสมองถูกทำลาย เนื่องจากการขาดออกซิเจนและสารอาหาร โดยปกติสมองของคนเราแต่ละส่วนจะควบคุมการทำงานของร่างกายแตกต่างกันออกไป เมื่อส่วนใดส่วนหนึ่งถูกทำลายจะส่งผลต่อการทำหน้าที่ในส่วนนั้นๆ
และหากเป็นโรคหลอดเลือดสมองจะส่งผลให้สมองเกิดความเสียหายดังต่อไปนี้
เช็กสัญญาณเตือนโรคร้าย "อัมพฤกษ์ อัมพาต" ก่อนสายเกินแก้
“แอลกอฮอล์ “สาเหตุหลักที่ทำให้ตับและตับอ่อนเกิดภาวะอักเสบ
-อัมพาตครึ่งตัวด้านขวา อัมพาตครึ่งตัวด้านซ้าย
-ปัญหาการพูด การเข้าใจ ภาษา และการกลืน สูญเสียความสามารถในการประเมินขนาดและประมาณระยะทาง
-สูญเสียการจัดการ การระวังตัว ปฏิกิริยาตอบสนองช้าลง สูญเสียการตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ โดยไม่วางแผน
-เสียการมองเห็นภาพซีกขวาของตาทั้งสองข้าง เสียการมองเห็นภาพซีกซ้ายของตาทั้งสองข้าง
ในกรณีที่เกิดความเสียหายต่อสมองน้อย (Cerebellum) จะทำให้สูญเสียการทรงตัว เวียนศีรษะ เคลื่อนไหวไม่ประสานงานกัน เกิดความเสียหายต่อก้านสมอง ทำให้การหายใจหรือการเต้นของหัวใจผิดปกติหรือหมดสติ ซึ่งสามารถประเมินความรุนแรงของโรคหลอดเลือดสมองได้จากระดับการสูญเสียหน้าที่การทำงานของร่างกาย
โรคหลอดเลือดสมองเกิดได้จาก 3 สาเหตุหลักๆ โดย 80% เกิดจาก
หลอดเลือดในสมองตีบ (Atherosclerosis) เป็นสาเหตุที่เกิดได้ถึง 80% เกิดจากลิ่มเลือดก่อตัวขึ้นจากผนังหลอดเลือดสมองที่มีคราบไขมันเกาะจนแข็ง ทำให้หลอดเลือดสมองตีบแคบลงจนอุดตัน ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่ อายุ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง สูบบุหรี่ แอลกอฮอล์ โรคที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงภายในหลอดเลือด โรคอ้วน เพราะคนอ้วนจะสัมพันธ์กับการนอนกรนหรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ทำให้มีโอกาสเกิดภาวะเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ
หลอดเลือดในสมองอุดตัน (Embolic) เกิดจากลิ่มเลือดที่ก่อตัวในเส้นเลือดนอกสมอง เช่น ที่หัวใจ ลอยตามกระแสเลือดไปอุดตันที่หลอดเลือดเล็กๆ ในสมอง ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคของลิ้นหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือภาวะหัวใจโต สาเหตุอื่นๆ ที่พบในวัยรุ่น เช่น กีฬาหรืออุบัติเหตุที่มีการบิดหรือสะบัดคอแรงๆ อาจทำให้หลอดเลือดที่คอฉีกขาดได้ อาทิ บันจี้จัมป์ หรือกีฬาเอ็กซ์ตรีม ซึ่งพบได้มากขึ้นในคนไข้กลุ่มวัยรุ่น มักมีอาการปวดคอมาก อ่อนแรงครึ่งซีก หรือช่วงน้ำท่วมมีอาสาสมัครช่วยแบกกระสอบที่คอแล้วอ่อนแรงไปซีกหนึ่ง เป็นต้น นอกจากนี้อาการของหลอดเลือดสมองยังมีหลอดเลือดดำอุดตันด้วย เช่น กลุ่มที่รับประทานยาคุมกำเนิดหลังคลอด ซึ่งจะมาด้วยอาการชักคล้ายหลอดเลือดแดงอุดตัน
เลือดออกในสมอง (Hemorrhagic) เป็นสาเหตุที่เกิดได้ 20% เกิดจากเลือดออกภายในสมอง ซึ่งเลือดที่ไหลออกมาทำให้เกิดแรงกดเบียดต่อเนื้อสมอง และทำลายเนื้อสมอง ปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ได้แก่ ภาวะความดันโลหิตสูง
ปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงโรค
หลอดเลือดแดงแข็งจากคราบไขมัน เลือดข้น มีระดับเม็ดเลือดแดงสูง
อ้วน ภาวะไขมันในเลือดสูง
โรคหัวใจ หัวใจเต้นผิดจังหวะ
สูบบุหรี่
ความดันโลหิตสูงม, เบาหวาน
อายุมาก
การใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจน
เชื้อชาติ (แอฟริกัน-อเมริกัน มีความเสี่ยงสูง)
เพศ (เพศชายมีความเสี่ยงสูงกว่า)
ประวัติครอบครัวมีโรคหัวใจและหลอดเลือด
ทำกิจกรรมที่มีการบิดหรือสะบัดคอแรงๆ ซึ่งอาจทำให้หลอดเลือดที่คอฉีกขาด เช่น บันจี้จัมป์
MAGIC NUMBER 4.5
มาตรฐานเวลาหรือ Magic Number คือ ตัวเลขสำคัญในการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่จะช่วยเพิ่มโอกาสรอดและลดความเสี่ยงเป็นอัมพฤกษ์อัมพาต
ไม่เกิน 4.5 ชั่วโมงหลังจากพบอาการ ถ้าผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลภายในช่วงเวลานี้นับตั้งแต่สังเกตเห็นอาการ เบื้องต้นแพทย์จะทำ MRI เอกซเรย์สนามแม่เหล็กตรวจดูความเสียหายของเนื้อสมองและหลอดเลือดที่อุดตันว่ามีขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ แพทย์จะให้ยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ ในคนไข้รายที่มีภาวะสมองขาดเลือดและไม่พบภาวะเลือดออกในสมองจะช่วยให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้ทัน
สำหรับรายที่มาช้าเกิน 4.5 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 24 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ และวินิจฉัยว่าเซลล์สมองยังไม่ตายจากการอุดตันของลิ่มเลือดขนาดใหญ่ การให้ยาละลายลิ่มเลือดอาจไม่ทำให้อาการดีขึ้น ต้องอาศัยการใส่สายสวนหลอดเลือดสมอง แพทย์รังสีร่วมรักษาจะเข้ามาช่วยดูแลเพื่อพิจารณาว่าคนไข้เหมาะสมที่จะรักษาด้วยการลากลิ่มเลือดออกจากหลอดเลือดสมองหรือไม่
เพราะโรคหลอดเลือดสมองส่งผลกระทบกับร่างกายและการใช้ชีวิต นอกจากการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง การใส่ใจตรวจเช็กสุขภาพและหมั่นสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นคือสิ่งสำคัญ เราควรเลือกโรงพยาบาลที่คัดสรรเทคโนโลยีที่ทันสมัย พร้อมด้วยทีมแพทย์เฉพาะทางที่มุ่งมั่นสร้างรูปแบบการรักษาที่เชื่อมั่นให้กับผู้ป่วยได้
ขอขอบคุณข้อมูลสุขภาพจาก : โรงพยาบาลกรุงเทพ