ยิ่งแก่ยิ่งนอนน้อย เป็นระยะยาวอาจเสี่ยงต่อโรคสมองเสื่อม
ทำไมอายุมากขึ้นต้องนอนน้อยลง? นั้นไม่ใช่เรื่องปกติแต่เป็นสัญญาณเสี่ยงโรคบางอย่าง หรือ พฤติกรรมเสี่ยงบางชนิด
ทำไมเมื่ออายุมากขึ้นถึงนอนหลับยากขึ้นหรือน้อยลง สังเหตุได้จากคนใกล้ตัวโดยเฉพาะพ่อแม่ญาติผู้ใหญ่ที่มักเข้านอนดึกและตื่นมาในช่วงเช้ามืดเสมอ บางคนนอนยังไม่ถึง 3-4 ชั่วโมง แต่ผลการวิจัยพบว่า เมื่อคนเราอายุมากขึ้น ยังคงต้องการหลับพักผ่อนเท่าเดิม เพียงแต่ทำไม่ได้อย่างที่ต้องการเพราะมีปัจจัยภายในและภายนอกมาเกี่ยวข้อง ทำให้คนที่นอนน้อย ในระยะยาวมีผลกระทบต่อความทรงจำและเสี่ยงต่อการเกิดโรคสมองเสื่อมมากกว่าคนปกติ
อดนอน-นอนน้อย เสี่ยง12 โรคร้ายละเลยการนอนไม่รีบรักษาอัตรายถึงชีวิต
นอนน้อยกว่า 4 ชั่วโมงบ่อยเสี่ยงสุขภาพพังสารพัดโรครุมเร้า!
การนอนหลับที่สำคัญ
- ช่วงหลับลึก จะเป็นช่วงที่ร่างกายฟื้นฟูพลังงานที่ใช้ไปทั้งวัน กลไกต่างๆ ในร่างกายจะช้าลง โกรทฮอร์โมนจะถูกหลั่งออกมาซ่อมแซมร่างกาย ระบบภูมิต้านทานในร่างกายจะเข้ามาดูแลความเสียหายและปรับสมดุล
- ช่วงหลับฝัน จะเป็นช่วงที่ร่างกายปรับสมดุลความคิด อารมณ์ ความเครียด ที่สะสมในระหว่างวัน
ปัจจัยที่ส่งผลต่อการนอนหลับน้อยลงหรือหลับไม่สนิท
ปัจจัยภายใน
- ความเครียดสะสม เพราะจะกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล รบกวนวงจรการนอนหลับ
- ฮอร์โมนในร่างกาย โดยเฉพาะฮอร์โมนเพศ ฮอร์โมนเมลาโทนินที่ลดลงตามวัยที่เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อการวงจรการนอน
- มีปัญหาทางจิตและระบบประสาทที่ตอบสนองต่อสัญญาณการนอนหลับลดลง
ปัจจัยภายนอก
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้หลับไม่สนิทเพราะวงจรการนอนแปรปรวน
- การบริโภคเครื่องดื่มผสมคาเฟอีน 4-6 ชั่วโมงก่อนเวลาเข้านอน
- สารนิโคตินในบุหรี่หรือยาสูบ
- อาหารที่มีรสเผ็ดหรือปริมาณมากเกินไปก่อนเข้านอน 1-2 ชั่วโมง จะรบกวนการนอนหลับ เพราะร่างกายต้องนำพลังงานไปย่อยอาหาร อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกรดไหลย้อนตามมา
- ความหิวหรืออาการท้องว่าง โดยเฉพาะคนที่กำลังเริ่มอดอาหารหรือคุมอาหารช่วงเย็น
- ดื่มน้ำมากไป จนต้องตื่นมาปัสสาวะในตอนกลางคืน
- คู่นอนนอนกรน ข้างบ้านเสียงดัง ห้องนอนเปิดแอร์หนาวไป อากาศร้อนไป
- การทำงานเป็นกะ ไม่สม่ำเสมอ หรือมีอาการ Jet Lag เพราะเดินทางข้ามทวีปบ่อย
- ยาหลายชนิดที่ทำให้นอนไม่หลับหรือหลับไม่สนิท และบางชนิดทำให้ระยะเวลาหลับลดลง เช่น ยาในกลุ่มโรคหอบหืด ยาโรคหัวใจบางชนิด ยาต้านไวรัสบางชนิด หากมียาที่เพิ่งได้มาใหม่จากแพทย์ แล้วสังเกตว่านอนหลับได้ไม่สนิทให้รีบปรึกษาแพทย์
- มีโรคประจำตัว เช่น ปวดเรื้อรังตามจุดต่างๆ กรดไหลย้อน ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
- แสงสว่างในห้องนอน จะขัดขวางการทำงานของฮอร์โมนเมลาโทนิน ส่งผลต่อคุณภาพการนอนหลับได้ จึงควรปิดไฟให้หมดทั้งห้อง
“นอนไม่พอ” ทำหลงๆลืมๆ ลดทอนความจำ ไม่ต่างจากอัลไซเมอร์
ข้อปฏิบัติที่ช่วยบรรเทาอาการนอนไม่หลับในผู้สูง
- พยายามหลีกเลี่ยงการนอนกลางวัน หรือจำกัดเวลาการนอนกลางวัน ไม่ควรเกินครึ่งชั่วโมงในช่วงบ่าย
- หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ โดยเฉพาะการทานในเวลาเย็น เป็นต้น
- ไม่ควรดื่มน้ำในช่วง 4-5 ชั่วโมงก่อนที่จะถึงเวลาเข้านอน ถ้ามีปัญหาปัสสาวะกลางคืนบ่อยๆ
- เพิ่มกิจกรรม หรือการออกกำลังกาย ในช่วงเวลากลางวันให้มากขึ้น
- ถ้าผู้สูงอายุไม่มีอาการง่วงนอนเมื่อถึงเวลาเข้านอน และไม่สามารถนอนหลับได้ ก็ควรลุกขึ้นมาหาอะไรทำ ดีกว่าที่จะนอนกลิ้งไปมาบนเตียง
- กำหนดเวลาอาหารมื้อเย็นให้คงที่ สม่ำเสมอ และควรจะเป็นอาหารที่มีโปรตีนสูงเมื่อเทียบกับมื้ออื่นๆ
- พยายามจัดสิ่งแวดล้อมภายในห้องนอนให้เงียบ และมืดพอสมควร ไม่ร้อน หรือหนาวเกินไป
- ฝึกการทำสมาธิ เพื่อให้จิตใจสงบ
ทั้งนี้หากมีปัญหาเรื่องการนอนในระยะยาวควรปรึกษาแพทย์ เพื่อแก้ไขให้ตรงจุด เพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้สูงอายุ อีกทั้งขอแนะนำว่าให้ตรวจสุขภาพเป็นประจำอย่างน้อย1-2 ครั้งต่อปีด้วยนะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลสมิติเวช และ โรงพยาบาลเปาโล
ภาพจาก : Freepik และ shutterstock
อดนอนบ่อยเสี่ยงหลอดเลือดสมองตีบ-โรคจิตเวช ส่งผลความจำ
วิธีหลับง่าย สำหรับคนมีปัญหาด้านการนอนต้องรู้! เคล็ดลับหัวถึงหมอนปุ๊บหลับปั๊บ!