“โรคพาร์กินสัน” โรคร้ายทางระบบประสาทของผู้สูงอายุ
“พาร์กินสัน” เป็นโรคของระบบประสาทที่พบบ่อยที่สุดโรคหนึ่งในผู้สูงอายุ อาการหลักๆคือสั่นที่มือ แขน ขา ทำให้ผู้ป่วยต้องเผชิญปัญหากับการเคลื่อนไหว
จากสถิติพบว่าผู้ป่วยโรคพาร์กินสันทั่วโลกมีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน คือ มีอัตราป่วย 3 ใน 1,000 คน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปี ขณะที่ 10% ของผู้ป่วยพาร์กินสันเป็นคนในวัย 30 – 40 ปีที่มีประวัติทางพันธุกรรมมาก่อน ในประเทศไทยมีผู้ป่วยพาร์กินสันราว 1 แสนราย
โรคพาร์กินสันจัดอยู่ในกลุ่มความผิดปกติของระบบการเคลื่อนไหว (Movement Disorders) เกิดจากความเสื่อมของเซลล์สมองส่วนที่ผลิตสารโดพามีน ทำให้เกิดการขาดสารโดพามีนในสมองซึ่งพบบ่อยเป็นอันดับ 2 รองจากโรคอัลไซเมอร์
“วุ้นตาเสื่อม” ภัยเงียบสังคมก้มหน้าวัยทำงาน
เช็กสัญญาณเตือนโรคร้าย "อัมพฤกษ์ อัมพาต" ก่อนสายเกินแก้
อาการหลักของโรคพาร์กินสันที่สังเกตได้ชัดเจน คือ
-สั่นที่มือ แขน ขา คาง และริมฝีปาก
-กล้ามเนื้อเกร็ง แขนขาหรือลำตัวแข็งเกร็ง ทำให้ไม่สามารถขยับได้
-เคลื่อนไหวช้า
-เสียสมดุลในการทรงตัว
-กล้ามเนื้อทำงานไม่ประสานกัน
เมื่ออาการเหล่านี้หนักขึ้น ผู้ป่วยจะเดิน พูด หรือทำกิจวัตรประจำวันลำบาก และมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ผู้ป่วยต้องเผชิญปัญหากับการเคลื่อนไหว
นอกจากนี้สุขภาวะการนอนตอนกลางคืนไม่ดี เช่น นอนละเมอ นอนกรน ร่วมกับปัญหาด้านการดมกลิ่น ท้องผูก รวมทั้งมีอาการซึมเศร้า หดหู่ หากมีอาการเหล่านี้ร่วมกับอาการเกร็ง ร่างกายขยับลำบาก ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยพาร์กินสัน
การวินิจฉัยผู้ป่วยที่เป็นโรคพาร์กินสันต้องอาศัยการซักถามประวัติและการตรวจร่างกาย เริ่มจากการวินิจฉัยแยกโรคว่าเป็นพาร์กินสันแท้หรือพาร์กินสันเทียม เนื่องจากมีกลุ่มอาการที่คล้ายโรคพาร์กินสัน ซึ่งเป็นผลมาจากการรับประทานยารักษาโรคเวียนศีรษะ ยานอนหลับ โรคเส้นเลือดในสมองตีบ โรคพร่องน้ำในสมองที่มีปริมาณมากเกินไป หรือภาวะไทรอยด์ต่ำส่งผลให้เกิดอาการพาร์กินโซนิซึ่ม เป็นต้น
ปัจจุบันแพทย์สามารถเจาะเลือดและสแกนสมอง CT หรือ MRI เพื่อวินิจฉัยแยกโรค รวมทั้งใช้เทคโนโลยี PET Scan มาช่วยยืนยันโรคพาร์กินสันได้อีกวิธีหนึ่ง โดยการฉีดสารโดพามีนให้จับกับรังสีหรือเอฟโดป้า (F-DOPA) เพื่อดูว่ามีสารดังกล่าวอยู่ในปริมาณมากน้อยแค่ไหน เข้าข่ายเป็นโรคพาร์กินสันแท้หรือพาร์กินสันเทียม หรือเป็นพาร์กินสันในระยะใด เพื่อเป็นประโยชน์ในการวางแผนการรักษาได้ถูกต้อง
ขณะที่ แนวทางการรักษาหลัก คือ การรับประทานยาระงับอาการสั่น แต่เมื่อรับประทานยามาเป็นเวลานาน อาการของโรคไม่ตอบสนองต่อยา ไม่สามารถคุมอาการสั่นได้ จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดใส่ชุดอุปกรณ์กระตุ้นประสาทส่วนลึก (Deep Brain Simulation: DBS Therapy) ซึ่งเป็นการรักษาที่ได้รับการรับรองจากองค์กรอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาและได้รับการพิสูจน์แล้วว่า สามารถช่วยบรรเทาอาการของโรคพาร์กินสันได้ โดยตลอดระยะเวลา 25 ปีที่ผ่านมา มีผู้เข้ารับการรักษาด้วยวิธีนี้มากกว่า 100,000 รายทั่วโลก
การรักษาโรคพาร์กินสันด้วยยาในผู้ป่วยบางรายพบการดื้อยา ซึ่งทำให้อาการแสดงออกภายนอกเปลี่ยนไป มีอาการขึ้นลง ๆ จากการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ ในบางรายอาจพบว่า การยุกยิกหรือเคลื่อนไหวเร็ว บางรายอาจมีอาการเหวี่ยงตัว เนื่องจากควบคุมตัวเองไม่ได้ ระบบ DBS Therapy จะต้องทำโดยแพทย์ศัลยกรรมทางประสาทที่มีความชำนาญในการผ่าตัดเพื่อใส่อุปกรณ์เข้าไปในร่างกาย โดยแพทย์จะฝังอิเล็กโทรดเข้าไปในสมองและเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ไฟฟ้าขนาดเล็กที่เรียกว่า เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า ที่มีลักษณะคล้ายกับเครื่องกระตุ้นการเต้นของหัวใจเข้าไปในร่างกายของผู้ป่วย อุปกรณ์ตัวนี้จะส่งสัญญาณไฟฟ้าอ่อน ๆ เข้าไปยังสมองส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหว และป้องกันไม่ให้สมองส่งคำสั่งบางอย่างที่เป็นสาเหตุของการเคลื่อนไหวผิดปกติ ทำให้สามารถกลับมาทำกิจวัตรประจำวันและสามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายได้ดีขึ้น
การรักษาด้วยวิธีผ่าตัดใส่ชุดอุปกรณ์กระตุ้นประสาทส่วนลึกนี้ (DBS) จะเหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการดื้อยารักษาโรคพาร์กินสันและไม่มีภาวะเสี่ยงของโรคแทรกซ้อนหากต้องเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัด โดยจะช่วยลดปริมาณการใช้ยา ลดภาวะข้างเคียงของยา ในขณะเดียวกันก็เพิ่มประสิทธิภาพการรักษา และเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้ผู้ป่วยอีกด้วย อุปกรณ์ไฟฟ้าอันนี้จะเข้าไปยับยั้งการทำงานของสมองที่มากเกินไปให้กลับมาทำงานตามปกติ ซึ่งในแต่ละรายจะปรับกระแสไฟฟ้าเพื่อควบคุมอาการแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับอาการผู้ป่วย ส่วนแบตเตอรี่มีอายุการใช้งานเฉลี่ย 5 ปี แต่ถ้าเป็นแบบชาร์ตได้จะมีอายุการใช้งานยาวนานขึ้นถึง 9 ปี
ขณะที่การฟื้นฟูผู้ป่วยพาร์กินสันเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการรักษาเพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เนื่องจากพาร์กินสันเป็นโรคที่ทำให้ผู้ป่วยสูญเสียสมรรถภาพทางร่างกายจากอาการสั่นเกร็ง เคลื่อนไหวช้า เสียการทรงตัว ระบบประสาทอัตโนมัติผิดปกติ ซึ่งจะมีผลต่อการพูด การกลืน ตลอดจนมีความผันผวนของอารมณ์จิตใจ ซึ่งส่งผลต่อตัวผู้ป่วย ครอบครัว และสังคมด้วย การฟื้นฟูจึงมุ่งเน้นไปที่วิธีการทางเวชศาสตร์ฟื้นฟูต่าง ๆ ที่จะช่วยเพิ่มความสามารถของผู้ป่วยในการช่วยเหลือตนเอง ได้แก่ การทำกายภาพบำบัด เพื่อฝึกการใช้มือและการทำกิจวัตรประจำวันให้ดีขึ้น การฝึกกลืน การฝึกพูดให้ดีขึ้น และการดูแลทางด้านจิตใจร่วมไปด้วยในระหว่างฟื้นฟู การฟื้นฟูยังช่วยฝึกให้มีการชดเชยหรือทดแทนในส่วนที่เสียการทำงานไป ป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากโรคและเพิ่มคุณภาพชีวิต ช่วยให้ผู้ป่วยและครอบครัวสามารถรับมือกับปัญหาและอยู่กับโรคได้ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสังคมไทยเริ่มก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว โรคพาร์กินสันเป็นอีกโรคหนึ่งที่เราควรต้องสังเกตอาการ การพาผู้ป่วยไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็คตั้งแต่แรกเริ่ม จะช่วยประคับประคองให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีและยาวนาน
ขอขอบคุณข้อมูลสุขภาพจาก : โรงพยาบาลกรุงเทพ