"พาร์กินสัน" สังเกตได้ อาการแบบไหนควรพบแพทย์
โรคพาร์กินสัน มักพบในผู้สูงอายุ เมื่อใดที่ญาติผู้ใหญ่มีการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ จงอย่าชะล่าใจสังเกตอาการแล้วรีบพบแพทย์
โรคพาร์กินสันจัดอยู่ในกลุ่มความผิดปกติของระบบการเคลื่อนไหว (Movement Disorders) เกิดจากความเสื่อมของเซลล์สมองส่วนที่ผลิตสารโดพามีน ทำให้เกิดการขาดสารโดพามีนในสมองซึ่งพบบ่อยเป็นอันดับ 2 รองจากโรคอัลไซเมอร์ จากสถิติพบว่า ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันทั่วโลกมีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน คือ มีอัตราป่วย 3 ใน 1,000 คน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปี ขณะที่ 10% ของผู้ป่วยพาร์กินสันเป็นคนในวัย 30 – 40 ปีที่มีประวัติทางพันธุกรรมมาก่อน ในประเทศไทยมีผู้ป่วยพาร์กินสันราว 1 แสนราย
ญี่ปุ่นเตรียมทดลองรักษาพาร์กินสันด้วยสเต็มเซลล์ในมนุษย์
รู้หรือไม่ "โควิด" เป็นแล้วติดเชื้อซ้ำได้ เปิด 3 ปัจจัย เหตุใด โควิด ถึง "ติดเชื้อซ้ำ"
ปัจจัยเสี่ยงของโรคพาร์กินสัน
- ผู้สูงอายุ
- ผู้ที่ใช้ยาทางจิตเวชบางประเภท
- ผู้ที่มีประวัติอุบัติเหตุทางศีรษะ
- อาชีพที่เสี่ยงต่อการกระทบกระเทือนศีรษะ เช่น นักมวย นักฟุตบอล
- พันธุกรรม พบเป็นส่วนน้อย
สังเกตอาการแล้วบันทึกไว้...เพื่อประโยชน์ของคนไข้
เมื่อพบลักษณะการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ เราควรสังเกตและจดบันทึก เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้บอกแก่แพทย์เมื่อเข้ารับการตรวจหาความผิดปกติ
ดูความสามารถในการควบคุมการเคลื่อนไหวว่าเป็นอย่างไร
หากผู้ป่วยมีอาการร่างกายเคลื่อนไหวผิดปกติ ผู้ป่วยจะไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวได้ และไม่สามารถตั้งใจทำให้การเคลื่อนไหวเกิดขึ้นหรือหยุดลงได้ตามต้องการ ในบางครั้งอาจจะสามารถควบคุมอาการได้แค่ชั่วคราวเท่านั้น
อาการพาร์กินสัน
อาการหลักของโรคพาร์กินสันที่สังเกตได้ชัดเจน คือ
- สั่นที่มือ แขน ขา คาง และริมฝีปาก
- กล้ามเนื้อเกร็ง แขนขาหรือลำตัวแข็งเกร็ง ทำให้ไม่สามารถขยับได้
- เคลื่อนไหวช้า
- เสียสมดุลในการทรงตัว
- กล้ามเนื้อทำงานไม่ประสานกัน
- เมื่ออาการเหล่านี้หนักขึ้น ผู้ป่วยจะเดิน พูด หรือทำกิจวัตรประจำวันลำบาก และมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ผู้ป่วยต้องเผชิญปัญหากับการเคลื่อนไหว
นอกจากนี้สุขภาวะการนอนตอนกลางคืนไม่ดี เช่น นอนละเมอ นอนกรน ร่วมกับปัญหาด้านการดมกลิ่น ท้องผูก รวมทั้งมีอาการซึมเศร้า หดหู่ หากมีอาการเหล่านี้ร่วมกับอาการเกร็ง ร่างกายขยับลำบาก ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยพาร์กินสัน
รู้เร็ว รักษาไว...ทำคุณภาพชีวิตให้ดีได้
แม้ว่าเราจะสังเกตอาการของคนใกล้ชิดอย่างดีแล้ว แต่การจะวินิจฉัยว่าเป็นโรคพาร์กินสันหรือไม่นั้นต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น
แพทย์จะซักประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียด โดยใช้วิธีการสังเกตและบันทึกลักษณะการเคลื่อนไหว โดยการถ่ายภาพวิดีโอ แล้วนำภาพแต่ละครั้งมาเปรียบเทียบว่าแตกต่างกันอย่างไรบ้าง รวมถึงการตรวจอื่นๆ ประกอบ
การวินิจฉัยพาร์กินสัน
การวินิจฉัยผู้ป่วยที่เป็นโรคพาร์กินสันต้องอาศัยการซักถามประวัติและการตรวจร่างกาย เริ่มจากการวินิจฉัยแยกโรคว่าเป็นพาร์กินสันแท้หรือพาร์กินสันเทียม เนื่องจากมีกลุ่มอาการที่คล้ายโรคพาร์กินสัน ซึ่งเป็นผลมาจากการรับประทานยารักษาโรคเวียนศีรษะ ยานอนหลับ โรคเส้นเลือดในสมองตีบ โรคพร่องน้ำในสมองที่มีปริมาณมากเกินไป หรือภาวะไทรอยด์ต่ำส่งผลให้เกิดอาการพาร์กินโซนิซึ่ม เป็นต้น
ปัจจุบันแพทย์สามารถเจาะเลือดและสแกนสมอง CT หรือ MRI เพื่อวินิจฉัยแยกโรค รวมทั้งใช้เทคโนโลยี PET Scan มาช่วยยืนยันโรคพาร์กินสันได้อีกวิธีหนึ่ง โดยการฉีดสารโดพามีนให้จับกับรังสีหรือเอฟโดป้า (F-DOPA) เพื่อดูว่ามีสารดังกล่าวอยู่ในปริมาณมากน้อยแค่ไหน เข้าข่ายเป็นโรคพาร์กินสันแท้หรือพาร์กินสันเทียม หรือเป็นพาร์กินสันในระยะใด เพื่อเป็นประโยชน์ในการวางแผนการรักษาได้ถูกต้อง
การรักษาพาร์กินสัน
- การรักษาด้วยยา
เป็นการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ เป็นยาที่ทดแทนหรือปรับสมดุลย์ของสารโดปามีนในสมอง แต่ไม่สามารถทำให้เซลล์สมองที่เสื่อมฟื้นตัวมาได้ ต้องมาพบแพทย์สม่ำเสมอ เพื่อปรับยาให้สอดคล้องกับอาการและกิจวัตรประจำวัน
- การทำกายภาพบำบัด และการออกกำลังกาย
เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพของร่างกาย เช่น การฝึกเดิน การฝึกพูด การฝึกกลืน วิ่ง ปั่นจักรยาน
- การผ่าตัด
เมื่อการรักษาด้วยยาไปนานๆ อาจเกิดการดื้อยา หากแพทย์ปรับการให้ยาแล้วทำให้อาการดีขึ้น ก็จะรักษาด้วยยาต่อไป แต่หากรักษาด้วยยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น จะพิจารณาการผ่าตัด ด้วยการฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าในสมองส่วนลึก (Deep Brain Stimulation, DBS)
การดูแลผู้ป่วยพาร์กินสัน
นอกจากการรักษาของแพทย์โดยการใช้ยา การทำกายภาพบำบัด การฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย หรือการผ่าตัด ก็ตามแต่ส่วนสำคัญที่จะขาดไม่ได้ คือการดูแลเมื่อกลับบ้านและบุคคลสำคัญที่มีส่วนช่วยดูแลนั้นก็คือคนในครอบครัวเนื่องจาก อาการของโรคที่ทำให้มีปัญหาในการเคลื่อนไหวร่างกายแล้ว ยังมีอาการซึมเศร้าซึ่งเป็นภาวะทางจิตใจ อีกด้วยทำให้มีปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน และการเข้าสังคม การดูแลมีดังนี้
- การป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ เนื่องจาก เคลื่อนไหวลำบากและสูญเสียการทรงตัว เช่น
- การเลือกรองเท้า ที่พื้นรองเท้าไม่ลื่น
- ไม่ควรมีสิ่งกีดขวางทางเดิน
- ในห้องน้ำ ควรมีราวจับ และพื้นห้องน้ำไม่ลื่น
- ผู้ป่วยเดินตามคำแนะนำของแพทย์หรือนักกายภาพบำบัด เช่น การยกเท้าสูงๆก้าวยาวๆ ให้เดินช้าลง
- การบริหารร่างกายตามคำแนะนำของแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดสม่ำเสมอ
- หากเป็นมากอาจมีปัญหาการกลืน ควรเลือกอาหารที่เคี้ยวง่าย ตักพอดีคำ รอให้กลืนหมดก่อนจึงป้อนคำต่อไป
- การดูแลให้ผู้ป่วยรับประทานยา และพบแพทย์สม่ำเสมอเพื่อประเมินอาการและปรับขนาดยา หรือการปรับ เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า ที่ฝังไว้ในร่างกาย ให้สอดคล้องกับอาการของผู้ป่วย
- ญาติควรให้กำลังใจผู้ป่วย ช่วยอำนวยความสะดวก ในการพาไปพบแพทย์ การฟื้นฟูร่างกาย การจัดอาหารให้เหมาะสม การจัดสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัย
ขอบคุณข้อมูลสุขภาพจาก โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล, โรงพยาบาลพญาไท