"ปัญหาเหงือกดำ" แก้ได้! ไขต้นตอปัญหาเหงือกดำพร้อมวิธีรักษา
โดยปกติแล้ว เหงือกของเราจะมีสีชมพู แต่หากมีเหงือกสีดำคล้ำ ไม่ว่าเกิดจากปัจจัยใด ก็สามารถรักษาได้
โดยธรรมชาติแล้วเหงือกสุขภาพดีจะมีสีชมพูซีด มีลักษณะแน่นแข็ง แต่ภาวะเหงือกดำคือการมีสีของเหงือกที่เข้มหรือคล้ำขึ้นมากกว่าปกติ การที่เหงือกมีสีที่เข้มขึ้นเกิดได้จากหลายสาเหตุซึ่งโดยส่วนใหญ่เกิดจากสภาวะตามธรรมชาติ เช่น การมีเม็ดสีเมลานินที่มากกว่าปกติ เช่นเดียวกับที่สีผิวของแต่ละบุคคลที่มีความแตกต่างกันตามเชื้อชาติจะเข้มอ่อนแตกต่างกัน ลักษณะเช่นนี้ไม่ได้จัดว่าเป็นโรค แต่หากเป็นเพียงแค่ความหลากหลายทางพันธุกรรมและชาติพันธุ์เท่านั้น
อย่างไรก็ดี อาจมีปัจจัยอื่นที่ทำให้สีของเหงือกคล้ำกว่าปกติซึ่งไม่ใช่ลักษณะตามธรรมชาติ
ปัจจัยที่อาจทำให้เหงือกมีสีดำคล้ำ
- การสูบบุหรี่ (Smoker’s melanosis)
- โรคต่อมไร้ท่อบางประเภท เช่น Addison’s disease, Acromegaly
- ยาบางกลุ่ม และโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว บิสมัท ปรอท เงิน
- รอยโรคเนื้อเยื่ออ่อนในช่องปาก มะเร็งในช่องปาก
- การสักในช่องปากโดยตัวผู้ป่วยเอง
การมีสีเหงือกที่เข้มขึ้นนี้เป็นไปตามเชื้อชาติของมนุษย์แต่ละคน รวมถึงอายุที่เพิ่มขึ้นมักพบสีที่เข้มขึ้นตามไปด้วย และยังพบได้อีกว่าเพศไม่มีผลต่อความเข้มสีของเหงือกแต่อย่างใด
ปัญหาเหงือกดำแก้ไขได้หรือไม่?
“แก้ไขได้” การแก้ไขเหงือกดำคล้ำสามารถทำได้หลากหลายวิธี ในสมัยก่อนมักใช้การผ่าตัดเหงือกเพื่อกำจัดสีที่เข้มออกไป หรืออาจเป็นการใช้สารเคมีเพื่อมากัดเยื่อบุผิวเหงือกออกบางส่วน เช่น การใช้แอลกอฮอล์ หรือกรดแอสคอบิก เป็นต้น แต่วิธีดังกล่าวพบว่า หลังการรักษาผู้ป่วยอาจะเกิดความเจ็บปวด เลือดออกหลังผ่าตัดค่อนข้างมากและไม่สบายบริเวณแผลเท่าใดนัก และมักเกิดสีเหงือกที่เข้มกลับคืนมาได้อีก รวมถึงสารเคมีที่ใช้อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการแพ้ หรือมีผลข้างเคียงหลังการรักษาที่ค่อนข้างมาก จึงทำให้เกิดการพัฒนาวิธีการรักษาใหม่ เช่น การใช้เข็มกรอฟันกรอที่ผิวเหงือก (Gingival abrasion) การใช้ความร้อนจี้ (Electrocautery) การใช้ความเย็นจี้ (Cryosurgery) หรือการใช้เลเซอร์ (Laser) เป็นต้น
ปัจจุบันการใช้เลเซอร์เพื่อรักษาภาวะเหงือกดำเป็นวิธีการรักษาที่ได้รับความนิยมและได้รับการยอมรับมากที่สุด เลเซอร์ที่ใช้มีทั้งแบบ Carbon dioxide laser, Diode laser, Nd:YAG, Er:YAG and Er,Cr:YSGG lasers ข้อดีที่เด่นชัดของเลเซอร์ คือ คุณสมบัติของการห้ามเลือดไปในตัว ระหว่างทำทันแพทย์เองสามารถมองเห็นได้ง่ายและชัดเจนว่าได้ทำการกำจัดเม็ดสีเมลานินหมดแล้วหรือไม่ รวมถึงอาการข้างเคียงหลังการรักษา เช่น ความเจ็บปวด เลือดออก การบวม หรือการติดเชื้ออยู่ในระดับที่ต่ำมาก
กระบวนการกำจัดเม็ดสีเมลานินด้วยเลเซอร์โดยทั่วไปนั้นมีความเจ็บระหว่างการทำน้อยมาก โดยอาจเป็นเพียงแค่ความรู้สึกคันหรือไม่สบายเหงือกเท่านั้น ทั้งนี้ผู้ป่วยอาจจะได้รับการทายาชาเฉพาะที่บริเวณเหงือกตำแหน่งที่มีสีเข้ม หรือ อาจใช้การฉีดยาชาเฉพาะที่ ณ ตำแหน่งนั้นก่อนทำเลเซอร์ ในกระบวนการรักษาจะใช้เวลาสั้น ไม่เกินประมาณ 10-15 นาที หลังทำทันตแพทย์อาจจ่ายยาบรรเทาอาการปวดให้เนื่องจากอาจเกิดความไม่สบายบริเวณแผลบ้าง หลีกเลี่ยงการทานอาหารที่มีรสจัดหรือร้อนจัด งดการแปรงฟันในตำแหน่งที่ทำประมาณ 5 วันซึ่งระหว่างนั้นจะใช้น้ำยาบ้วนปากเพื่อฆ่าเชื้อโรค ส่วนในตำแหน่งอื่นสามารถแปรงและใช้อุปกรณ์ทำความสะอาดซอกฟันได้ตามปกติ หลังการรักษาจะพบเนื้อเยื่อสีขาวฝ้าปกคลุมเหงือกซึ่งเป็นลักษณะที่ปกติ ผู้ป่วยไม่ควรไปรบกวนแผลหรือพยายามกำจัดเนื้อเยื่อขาวออก หลังการรักษาจะเริ่มเห็นผลการรักษาหลัง 7 วันหรือ 1 สัปดาห์ไปแล้ว
ผลแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นได้
หากใช้ชนิดของเลเซอร์ที่ไม่เหมาะสม รวมถึงมีการตั้งค่าเครื่องไม่ถูกต้อง อาจทำให้เกิดการทำลายของเนื้อเยื่อเหงือกมากเกินไป อาจะเกิดเหงือกร่น และอาจเกิดภาวะกระดูกโผล่ ซึ่งทำให้ผู้ป่วยเกิดความเจ็บปวดมากกว่าความจำเป็น
หลังการกำจัดเม็ดสีเมลานินด้วยเลเซอร์ไปแล้ว อาจะเกิดสีเหงือกที่เข้มขึ้นมาใหม่ได้ง่ายในบางเชื้อชาติที่มีสีผิวเข้มหรือโดยเฉพาะในเคสที่มีเหงือกที่สีเข้มมากก่อนรักษา รวมถึงพฤติกรรมที่ทำให้สีเหงือกเข้มขึ้นไว เช่น การสูบบุหรี่ การมีสีเหงือกเข้มซ้ำอาจะพบได้ 6 เดือนหลังการรักษา แต่ความเข้มจะลดน้อยลงกว่าก่อนการรักษาครั้งแรกมาก
โดย ทันตแพทย์ปภาตพงศ์ ศิริคุรุรัฒน์
ทันตแพทย์เฉพาะทางด้านปริทันตวิทยา
BDMS Wellness Clinic