"พยาธิปอดหนู" วายร้ายทำลายสุขภาพของคนชอบกินของดิบ
ชวนคนชอบกินของดิบ ทำความรู้จัก "พยาธิปอดหนู" หากป่วยโรคนี้อันตรายถึงขั้นสูญเสียดวงตาถาวร
กลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างมากสำหรับสาวกของดอง ของดิบ หลังพบ หญิงข้าราชการ ชาวจังหวัด พิษณุโลก ตาบอด เพราะ ป่วยโรคพยาธิปอดหนูขึ้นตา แม้ว่าทีมแพทย์จะพยายามผ่าตัดรักษา แต่ พยาธิได้ชอนไชไปยังจอประสาทตา ทำให้จอประสาทตาอักเสบเป็นหนอง ได้รับความเสียหายจนไปถึงขั้นบอดสนิท
ข้อมูลจาก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร พบว่าสาเหตุที่พยาธิชนิดนี้ได้ชื่อว่าพยาธิปอดหนูเพราะ พยาธิตัวเต็มวัยทั้งสองเพศ จะอาศัยอยู่ในหลอดเลือดแดงของปอดหนู พยาธิตัวเมียจะออกไข่ในหลอดเลือดแดงและฟักตัวเป็นตัวอ่อน
หญิงวัย 40 ชอบกินอาหารดิบ “พยาธิปอดหนูขึ้นตา” จนบอดสนิท
กรมควบคุมโรค เผยไทยยังไม่มีผู้ป่วยติดโรคพยาธิจาก “หนอนตัวแบนนิวกินี”
ระยะที่ 1 ปนออกมากับมูลหนู เมื่อตัวอ่อนไชเข้าหอยทาก หรือ หอยน้ำจืด เช่น หอยโข่ง (หอยปัง) หอยขม หอยเชอรี่ กุ้งน้ำจืด ปลาน้ำจืดแล้วจะเจริญเป็นตัวอ่อนระยะติดต่อ ในระยะนี้หากคนรับประทานอาหารปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ พยาธิจะเข้าสู่ระบบ ประสาท เช่น สมอง ไขสันหลังหรือตา ฯลฯ อาการเจ็บป่วยจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งของอวัยวะที่พยาธิอยู่
ในกรณีขึ้นตาทำให้เกิดอาการที่พบบ่อยคือตามัวลงแบบเฉียบพลันมักไม่ปวดหรือเคืองตา ขณะที่ ผศ.พญ.สิรินันท์ ตรียะเวชกุล จักษุแพทย์ เผยว่า มีรายงานพบผู้ป่วยพยาธิปอดหนูขึ้นตาครั้งแรกของโลกจาก ประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ.2505 โดยทั่วโลกมีการรายงานไว้ไม่เกิน 50 ราย และพบมากที่สุดในโลกเป็นผู้ป่วยจากภาคอีสาน รายงานโดย มหาวิทยาลัยขอนแก่น จำนวน 18 ราย เนื่องจากอาการเบื้องต้นมักไม่เจ็บหรือปวด จะมีแค่อาการตาพร่ามัวข้างเดียวเท่านั้น การวินิจฉัยจึงจำเป็นต้องตรวจโดยจักษุแพทย์ ด้วยการตรวจความคมชัดของสายตา วัดความดันตา ตรวจตาอย่างละเอียด ด้วยกล้องสำหรับตรวจตา รวมถึงตรวจโดยการขยายม่านตาและมีการใช้เครื่องมือพิเศษต่าง ๆ ร่วมด้วยโรคนี้สามารถรักษาได้ด้วยการกินยาฆ่าพยาธิและการผ่าตัดนำพยาธิออกจากดวงตา แต่มักมีการสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร
ขณะที่ อับดุลฮากัม ดูมีแดและอภิชาติ วิทย์ตะ ภาควิชาจุลชีววิทยาและปรสิตวิทยา คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เผยแพร่บทความวิชาการเรื่อง พยาธิปอดหนูและโฮสต์ตัวกลางในธรรมชาติ
ระบุ พยาธิปอดหนูทําให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ระยะฟักตัวของการแสดงอาการกินเวลาประมาณ 7 – 30 วัน หลังจากที่ได้รับระยะติดต่อ อาการเริ่มแรกจะมีไข้เป็น ๆ หาย ๆ , ปวดท้อง, คลื่นไส้, อาเจียน, ปวดศีรษะบริเวณหน้าผาก, คอแข็ง บางรายมีอาการตาพร่ามัว เนื่องจากพยาธิมีการเดินทางเข้าตา นอกจากนี้ ยังมีอาการเกร็งตามกล้ามเนื้อ สูญเสียการทรงตัว บางรายรุนแรงถึงเป็นอัมพาตและเสียชีวิตได้
อย่างไรก็ตามการวินิจฉัยโรคนี้ จำเป็นต้องตรวจโดยจักษุแพทย์ โรคนี้สามารถรักษาได้ด้วยการกินยาฆ่าพยาธิและการผ่าตัดนำพยาธิออกจากดวงตา แต่มักมีการสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร การป้องกันจึงเป็นสิ่งสำคัญ ทำได้ด้วยการรับประทานอาหารที่ปรุงสุก สะอาด ถูกสุขลักษณะเสมอ
ข้อมูล
: คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร
: บทความวิชาการ พยาธิปอดหนูและโฮสต/ตัวกลางในธรรมชาติ