ฝึกหายใจฟื้นฟู "ปอด" หลังหายป่วยจากโควิด-19
โควิด-19 ทำร้ายร่างกายทั่วทุกระบบโดยเฉพาะปอด เมื่อหายจากโรคนี้แล้วจึงควรฟื้นฟูสมรรถภาพให้กลับมาสมบุรณ์ที่สุด
เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า เชื้อโควิด-19 เป็นเชื้อไวรัสที่ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจเป็นสำคัญ และในผู้ป่วยบางรายก็จะมีอาการปอดอักเสบ จนทำให้ “ปอด” ไม่สามารถกลับมาทำงานได้เต็มศักยภาพเหมือนเดิม เพราะแม้หายจากโรคแล้วการอักเสบอาจทิ้งร่องรอยไว้ในปอดที่เป็นพังผืดหรือแผล ทำให้สมรรถภาพของปอดลดลง
โควิด-19 ทำลาย “ปอด” อย่างไร???
เชื้อโควิด-19 นั้นเข้าสู่ร่างกายของเราผ่านทางจมูกหรือปากเข้าสู่ปอด ซึ่งส่งผลกระทบกับระบบทางเดินหายใจโดยตรง
อาการลองโควิด (Long Covid) มีวิธีรักษาอย่างไร? แล้วรักษาหายหรือไม่?
เปิดแนวทางการรับวัคซีนโควิด-19 หลังติดเชื้อแล้วควรฉีดเมื่อไหร่
ในระยะแรกของการติดเชื้อ ผู้ป่วยจะมีอาการเหมือนติดเชื้อไวรัสทั่วไป เช่น มีไข้ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยเนื้อตัว แต่อาการทางระบบทางเดินหายใจยังไม่ค่อยเด่นชัดนัก ต่อเมื่อผ่านไปสักระยะหนึ่ง คือราววันที่ 3-4 ของการติดเชื้อ ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการไอ เหนื่อยหอบ แบบค่อยเป็นค่อยไป หากผู้ป่วยได้รับการเอกซเรย์ปอดจะเริ่มเห็นความผิดปกติ พบฝ้าขาวเกิดขึ้นในปอดจากฟิล์มเอกซเรย์ ตรงนี้เป็นสิ่งที่ต้องกังวลเนื่องจากหากปล่อยทิ้งไว้ ผู้ป่วยจะเริ่มมีภาวะพร่องออกซิเจน ซึ่งเกิดจากการอักเสบของปอด
โควิด-19 กระทบ “ปอด” ได้หนักแค่ไหน?
โดยทั่วไปแล้วลักษณะเฉพาะของคนที่เป็นโรคโควิด-19 นั้น ปอดอักเสบที่เกิดขึ้นมักเป็นมากกว่า 1 ตำแหน่ง และเป็นที่ปอดทั้ง 2 ข้าง หากในระยะนี้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที มีการให้ยาที่เหมาะสม ทั้งยาต้านไวรัส ยาสเตียรอยด์ และยาอื่นๆ ปอดจะค่อยๆ ฟื้นตัวกลับมา แต่มีผู้ป่วยอยู่ประมาณ 10% ที่จะกลายเป็นปอดอักเสบรุนแรง และมีเพียงแค่ 1% เท่านั้นที่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต
สภาพ “ปอด” หลังได้รับการรักษา
เมื่อหายจากโรคโควิด-19 แล้ว การอักเสบของร่างกายอย่างรุนแรงจากเชื้อโควิด-19 จะมีผลทำให้เกิดเป็นรอยโรคพวกแผลเป็นหรือพังผืดต่างๆ ในเนื้อปอด ทำให้เนื้อปอดขาดความยืดหยุ่น และแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้ไม่ค่อยดีนัก หากตรวจวัดสมรรถภาพปอดจะพบว่า “สมรรถภาพปอด” ต่ำกว่าปกติ ซึ่งหากอยู่เฉยๆ อาจไม่ค่อยรู้สึก แต่หากต้องไปออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่หนักๆ จะรู้สึกเหนื่อยง่ายกว่าปกติมาก
2 ช่วงของการฟื้นฟูปอด
ในส่วนของการฟื้นตัวของปอดหลังหายจากโรคโควิด-19 จะแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ
- ช่วงแรก เป็นช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังหายจากโรค สิ่งที่จะพบคือ ยังพบฝ้าขาวที่ปอดในฟิล์มเอกซเรย์ แต่มีปริมาณน้อยลงเมื่อเทียบกับช่วงที่ติดเชื้อ และ
- ช่วงหลัง คือช่วงสัปดาห์ที่ 3-4 หลังจากที่หายจากโรค ร่างกายมีการฟื้นฟูกลับมาบ้างแล้ว แต่จะยังรู้สึกอ่อนเพลีย ไม่สดชื่น ไม่แข็งแรง ไม่กระปรี้กระเปร่าเท่าเดิม
การฟื้นฟู “สมรรถภาพปอด” ต้องทำได้อย่างไร?
ผู้ป่วยที่เพิ่งฟื้นตัวจากโรคโควิด-19 ระบบการหายใจและสมรรถภาพของปอดนั้นจะยังไม่เป็นปกติ ทั้งนี้สามารถ “ฟื้นฟูสมรรถภาพปอด” ได้ โดยให้มีการเคลื่อนไหวหรือขยับช่วงปอด เพื่อให้เนื้อปอดและถุงลมต่างๆ ค่อยๆ ฟื้นฟูตัวเองกลับมามีความยืดหยุ่นมากขึ้น รวมถึงการออกกำลังกายเบาๆ เพื่อที่จะสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้เหมือนเดิม ดังนี้
- การฝึกการหายใจ (Breathing Exercise)
การฝึกการหายใจมีความจำอย่างมากเป็นในช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังการฟื้นตัว ทำได้โดยการออกแรงในการหายใจเข้าทางจมูกจนสุด แล้วควบคุมลมที่หายใจออกมาทางปากช้าๆ หรือพูดคำว่า “อู” ยาวๆ ช้าๆ จนกระทั่งลมหมดปอด แล้วหายใจเข้าใหม่ให้เต็มปอด แล้วหายใจออกช้าๆ เช่นเดิม เนื่องจากพังผืดจะทำให้เนื้อปอดมีความแข็ง พังผืดที่แข็งเมื่อได้ขยับบ่อยๆ ก็จะมีการยืดหยุ่นมากขึ้น ทำให้ elasticity หรือความยืดหยุ่นของเนื้อปอดค่อยๆ ฟื้นตัวกลับมา
- การบริหารปอด
มีความจำเป็นในช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังการฟื้นตัวเช่นกัน เรียกว่าเป็นกลยุทธ์การฟื้นฟูสมรรถภาพปอดอย่างหนึ่งที่ได้ผลดี ทำได้โดยการใช้เครื่องมือทางการแพทย์ ที่เรียกว่า Triflow โดยให้คนไข้ดูดลูกปิงปองที่มีทั้งหมด 3 ลูก ใน 3 ช่อง ซึ่งจะลอยขึ้นกี่ลูกก็ขึ้นอยู่กับปริมาณลมที่สูดเข้าไป ยิ่งสูดลมเข้าไปมาก ลูกปิงปองก็จะลอยขึ้นเยอะ การดูดลมเข้าปอดโดยใช้เครื่อง Triflow นั้นจึงถือเป็นเทคนิคการบริหารปอดรูปแบบหนึ่ง ที่ทำให้ปอดขยายเต็มที่ ช่วยให้ปอดมีความยืดหยุ่นมากขึ้น และค่อยๆ ฟื้นตัวได้
- การออกกำลังกายเบาๆ
สามารถทำได้ในสัปดาห์ที่ 3-4 เป็นต้นไป ในช่วงนี้ร่างกายอาจจะยังมีอาการอ่อนเพลีย แต่ปอดอาจจะเริ่มฟื้นตัวบ้างแล้ว ดังนั้น จึงต้องมีการออกกำลังกาย มีการเคลื่อนไหวร่างกายมากขึ้น โดยอาจเริ่มจากการออกกำลังกายเบาๆ เช่น การลุกเดินบ่อยๆ ไม่อยู่เฉย พอร่างกายเริ่มชินแล้วค่อยขยับความหนักขึ้นไป อาจจะเดินให้ไวขึ้น หรือวิ่ง jogging เบาๆ ได้เช่นกัน
“การฟื้นฟูสมรรถภาพปอด” นั้น นอกจากการฝึกหายใจ การบริหารปอด หรือการออกกำลังกายตามความเหมาะสมแล้ว สิ่งสำคัญเลยก็คือต้อง “หมั่นใส่ใจดูแลตัวเอง” ให้มากกว่าที่เคย โดยเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ และพยายามหลีกเลี่ยงมลพิษทางอากาศต่างๆ ... เพื่อดูแล “ปอดของเรา” ให้กลับมาทำงานได้เต็มศักยภาพ...โดยเร็วที่สุด
ทองวันนี้ (22 เม.ย.) ขึ้น 100 บาท เฟดส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย 0.5%
เคาะแล้ว! บัตรเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.สีน้ำตาล-บัตรลงคะแนน ส.ก.สีชมพู
ขอบคุณข้อมูลสุขภาพจาก โรงพยาบาลพญาไท