“โรคร่าเริง”ชีวิตผิดเพี้ยนของคนไม่ยอมนอน เกลียดการตื่นเช้า จนสุขภาพพัง
กลางคืนคึก เช้าไม่ยอมตื่น แบตร่างกายหมดระหว่างวัน สัญญาณโรคร่าเริง หรือ โรคนอนผิดเวลา เสี่ยงโรคเรื้อรังรุมเร้าไม่รู้ตัว
‘โรคร่าเริง’ หรือที่รู้จักกันในชื่อ โรคนอนผิดเวลา (Delayed Sleep Phase Disorder : DSPD) หลายคนคงงงว่า มีด้วยหรือ โรคนี้ ทำไมชื่อโรคดูแปลกๆ แต่จริงๆแล้ว โรคร่าเริงเกิดจากพฤติกรรมของคนที่ทำเป็นประจำจนนำไปสู่โรคบางอย่างได้ โดยเฉพาะคนที่ชอบใช้ชีวิตตอนกลางคืน จนล่วงเลยเวลาเข้านอน ส่งผลให้มีอาการง่วงเหงาหาวนอนตลอดทั้งวัน ถือเป็นการใช้วงจรชีวิตผิดเวลาอย่างยิ่ง เพราะร่างกายของคนเรามีการหลั่งฮอร์โมนตามนาฬิกาชีวิต
นอนไม่หลับ มากกว่า 1 สัปดาห์ เสี่ยงภูมิลด แก่ก่อนวัยความจำแย่ลง!
3 ปัญหาสุขภาพคนทำงานกะดึกต้องระวัง เผยข้อแนะนำจากแพทย์ก่อนทรุดโทรม!
เมื่อถึงเวลานอนอวัยวะบางส่วนยังคงทำงานเพื่อหลั่งฮอร์โมนฟื้นฟูร่างกายและชาร์จพลังเตรียมพร้อมรับมือกับวันต่อไป แต่หากเราใช้ช่วงเวลาวงจรชีวิตผิดปกติ ก็จะทำให้ฮอร์โมนผิดเพี้ยนไปด้วย พฤติกรรมการดำเนินชีวิตแบบกลางวันไม่อยากตื่น กลางคืนไม่อยากหลับ กลายเป็นภัยใกล้ตัวอย่างคาดไม่ถึง ส่งให้สุขภาพเสื่อมโทรมโดยไม่รู้ตัว
ชีวิตผิดเพี้ยนของมนุษย์ร่าเริง
- เกลียดการตื่นเช้า ง่วงเหงาหาวนอนตลอดวัน เมื่อกลางคืนไม่ได้นอน หรือนอนไม่เพียงพอ ก็จะตื่นเช้าไม่ค่อยไหว รวมถึงฮอร์โมนที่ควรจะหลั่งในช่วงหลับก็หลั่งได้ไม่เต็มที่ ทำให้เกิดอาการนอนหลับไม่สนิท เมื่อตื่นจึงรู้สึกง่วงเหงาหาวนอนตลอดวัน จนกระทบต่อประสิทธิภาพในการทำงาน
- กลายเป็นคนติดกาแฟ เมื่อรู้สึกง่วงในตอนกลางวัน มนุษย์ร่าเริงก็จะหันไปพึ่งกาแฟ เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายตื่นตัว ในที่สุดก็กลายเป็นคนเสพติดกาแฟอย่างมาก
- การทำงานของลำไส้ผิดเพี้ยน นาฬิกาชีวิตช่วงเช้าคือการทำงานของลำไส้ แต่หากเราใช้เวลาผิดเพี้ยนไป ไม่มีการตื่นขึ้นมาขับถ่ายและรับประทานอาหารในเวลาที่เหมาะสม ส่งผลให้เกิดอาการท้องผูก และมีปัญหาการขับถ่ายได้ในที่สุด
- โกรทฮอร์โมนหดหาย ช่วง 4 ทุ่ม –ตี 2 เป็นเวลาที่โกรทฮอร์โมนหลั่งออกมาในขณะที่เราหลับ เพื่อฟื้นฟูร่างกายและช่วยซ่อมแซมเซลล์ ทำให้ร่างกายแข็งแรง และช่วยควบคุมความเครียด แต่มนุษย์ร่าเริงกลับอดหลับอดนอนในช่วงเวลาที่โกรทฮอร์โมนจะต้องทำงาน ทำให้ผิวพรรณไม่สดใส การเผาผลาญน้อยลง ส่งผลให้อยากรับประทานของหวานเพิ่มมากขึ้น ทำให้อ้วนง่ายขึ้นตามไปด้วย
อาการ โรคร่าเริง
- รู้สึกง่วงนอนและอ่อนเพลียในตอนกลางวัน
- มีสมาธิสั้น หงุดหงิดง่าย
- ทำงานหรือเรียนหนังสือได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ
- รู้สึกตื่นตัวและกระปรี้กระเปร่าในช่วงกลางคืน
- นอนหลับยากในตอนกลางคืน ตื่นนอนตอนเช้าได้ยาก
วิจัยพบนอนน้อยไปเสี่ยงหัวใจโต นอนมากไปก็ไม่ดีแนะตรวจเช็กสุขภาพ!
เปลี่ยนพฤติกรรม
- ปรับเวลานอนให้เป็นปกติ ควรเข้านอนตั้งแต่ไม่เกิน 4 ทุ่มหรืออย่างช้าสุด ไม่ควรเกินเที่ยงคืน เพื่อให้โกรทฮอร์โมนหลั่งได้เต็มที่ในช่วงเวลา 22.00-02.00 น.
- ออกกำลังกายเพิ่มการตื่นตัว การออกกำลังกายเป็นการกระตุ้นการทำงานของโกรทฮอร์โมนและสร้างสมดุลให้กับฮอร์โมนตัวอื่นๆ การออกกำลังกายช่วงเช้า ช่วยให้ร่างกายสดชื่นและมีพลังตลอดทั้งวัน
- ปรับการกิน เพิ่มโปรตีนและลดแป้ง การได้รับคาร์โบรไฮเดรตในปริมาณที่มากเกินไป นอกจากจะทำให้น้ำหนักขึ้นแล้วยังมีผลให้เกิดการง่วงนอนในช่วงกลางวันได้ ลองหันมาเพิ่มปริมาณเนื้อสัตว์ เต้าหู้ และธัญพืชให้มากขึ้น เนื่องจากโปรตีนส่งผลให้ร่างกายกระฉับกระเฉงไม่อ่อนเพลีย
- เติมวิตามินปรับสมดุลฮอร์โมน หากใช้ชีวิตแบบมนุษย์ร่าเริงมานาน การปรับตารางชีวิตใหม่ทันทีคงเป็นเรื่องยาก ดังนั้นควรลองปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจดูสมดุลฮอร์โมนและภาวะขาดวิตามิน เมื่อได้รับคำปรึกษาและวิตามินจากแพทย์ ก็จะสามารถกลับมามีวงจรชีวิตตามปกติได้
แน่นอนว่าหากยังมีพฤติกรรมของโรคร่าเริง สะสมเรื้อรัง อาจส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว เนื่องจากความสมดุลของฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้เกิดปัญหาประจำเดือนผิดปกติ การเผาผลาญอาหารลดลง ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่ม รวมไปถึงเกิดโรคกลุ่มการเผาผลาญอาหาร (Metabolic Disorders) เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิต
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ และ สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ